
พลิกตำนานหนังประวัติศาสตร์"บทเรียนจากการสูญเสีย"
เปิดฉากไปแล้วสำหรับภาพยนตร์เรื่องยิ่งใหญ่แห่งปี "ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 3 ตอนยุทธนาวี" หลังจากปล่อยให้คนไทยรอมายาวนานกว่า 4 ปี หากได้มีโอกาสรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ อาจกล่าวได้ว่าสิ่งที่มากกว่าความยิ่งใหญ่ตระการตาจากโปรดักชั่นในการถ่ายทำ
ซึ่งเป็นแก่นของภาพยนตร์เรื่องนี้ที่คนไทยจะได้รับ คือประวัติศาสตร์ของชาติซึ่งถูกถ่ายทอดร้อยเรียงผ่านแผ่นฟิล์มให้คนไทยได้ชม ปฏิเสธไม่ได้ว่าเยาวชนรุ่นใหม่น้อยคนที่จะสนใจเรื่องราวประวัติศาสตร์ หลายคนเบือนหน้าหนีเพราะไม่สนุกเหมือนการดูคอนเสิร์ตของนักร้องเกาหลี หรือการวิ่งถือป้ายไฟตามเชียร์นักร้องคนโปรดในสถานที่ต่างๆ แต่รากเหง้าของประวัติศาสตร์ คือความเป็นชาติในปัจจุบัน หากเราปฏิเสธสิ่งสำคัญที่สุดนี้ไป สุดท้ายประเทศจะเหลืออะไรไว้ให้ลูกหลานดู
"ท่านมุ้ย" ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล กล่าวถึงภาพยนตร์เรื่องนี้เอาไว้ว่า "ต้องการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ให้คนไทยดู และไม่ได้หวังการทำกำไรจากต่างประเทศ เพราะต่างชาติไม่รู้ว่าสมเด็จพระนเรศวรฯ คือใคร จึงไม่หวังที่จะขายหนังให้ชาวต่างชาติ" ท่านมุ้ยกล่าว ทั้งนี้ท่านทุ่มเทแรงกายแรงใจค้นคว้าหาข้อมูลประวัติศาสตร์ยาวนานมากว่า 6 ปี ก่อนที่จะเดินหน้าถ่ายทำภาพยนตร์ในภาคแรก เพราะข้อมูลบางส่วนของประวัติศาสตร์ก็หาไม่ได้ในประเทศไทย ต้องใช้ประวัติศาสตร์ของพม่ามาประกอบกัน เพราะเป็นเรื่องราวเกี่ยวพันกับสองประเทศ สำหรับความโดดเด่นในภาค 3 นี้ คือการต่อสู้แบบ "ยุทธนาวี" หรือการรบทางน้ำ ที่สมเด็จพระนเรศวรฯ ต้องรบกับสายลับชาวจีนชื่อ "จีนจันตุ" ที่พระยาละแวกส่งมาเป็นไส้ศึกในกรุงศรีอยุธยา
ขณะที่ "ผู้พันเบิร์ด" พ.ท.วันชนะ สวัสดี ผู้รับบทเป็นสมเด็จพระนเรศวร ได้กล่าวถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า รู้สึกประทับใจและซาบซึ้งมาก นับตั้งแต่ภาค 1-2 เป็นต้นมา เขามีโอกาสได้รับเชิญไปบรรยายเรื่องราวของภาพยนตร์เรื่องนี้หลายต่อหลายครั้ง
"ทำให้ผมยิ่งซึมซับในตัวละคร บทบาทและประวัติศาสตร์ ผมในฐานะที่เป็นทหารก็ได้ปฏิบัติตามแนวนโยบายของกองทัพเรื่องการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งภาพยนตร์ก็ถือเป็นภารกิจหนึ่งที่ผมได้รับมอบหมายและจะทำเต็มความสามารถ ผมไม่ได้คาดหวัง ว่าผู้ชมจะได้อะไรจากการชมภาพยนตร์ “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” นอกเสียจากความรื่นรมย์ทางปัญญา" ผู้พันเบิร์ดกล่าว นี่คือความคิดเห็นของผู้กำกับและตัวแทนนักแสดงจากภาพยนตร์เรื่องนี้ ที่ต้องการจะส่งต่อความคิดให้ไปถึงผู้ชมทุกท่าน
ไม่ใช่แค่ภาพยนตร์ "ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหหาราช" เท่านั้น ที่ต้องการบอกเล่าประวัติศาสตร์ ยังมีภาพยนตร์อีกหลายเรื่อง ซึ่งแก่นแท้ ต้องการถ่ายทอดประวัติศาสตร์เพื่อกระตุ้นเตือนและปลูกฝังจิตสำนึกที่ดี อย่างภาพยนตร์ไทยอิงประวัติศาสตร์ ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดซึ่งท่านมุ้ย เคยกำกับอย่าง "สุริโยไท" หนังประวัติศาสตร์ไทยเรื่องแรกที่สร้างปรากฏการณ์ โรงฉายเต็มทุกที่นั่ง และทำรายได้สูงสุดตลอดกาลคือ 550 ล้านบาท สามารถตอบโจทย์ในการสร้าง และได้กระแสตอบรับอย่างล้นหลาม
แม้กระทั่งภาพยนตร์เรื่อง "บางระจัน" ที่สร้างโดยอิงจากประวัติศาสตร์อีก ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงเรื่องหนึ่ง ใช้งบประมาณการสร้างเพียง 30 ล้านบาท แต่กวาดรายได้สูงถึง 151 ล้านบาท จากผลงานกำกับของ ธนิตย์ จิตนุกูล เข้าฉายเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2543 ซึ่งสร้างจากเรื่องราวของวีรชนบ้านบางระจันแห่งจังหวัดสิงห์บุรี ที่คนไทยรู้จักเป็นอย่างดี และได้รับการกล่าวขานถึงวีรกรรมกล้าหาญเด็ดเดี่ยวของชาวบ้านซึ่งเป็นแค่คนธรรมดา แต่สามารถต้านทัพข้าศึกพม่าได้นานถึง 5 เดือน สู้ไม่มีถอยแม้ตายก็ไม่หวั่นเกรง จนชื่อเสียงเรื่องความกล้าหาญของวีรชนแห่งหมู่บ้านนี้ได้รับการยอมรับจวบจนถึงปัจจุบัน
ตำนานประวัติศาสตร์ยังมีอีกเยอะ แต่ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ของไทยกลับถูกสร้างขึ้นมาเพียงไม่กี่เรื่อง ต่างจากภาพยนตร์ประวัติศาตร์ของต่างประเทศทั้งในจีน ญี่ปุ่น หรือของชาติตะวันตก ที่รัฐบาลนิยมสร้างภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์เพื่อกระตุ้นเตือนคนในประเทศตลอดเวลา เช่น ภาพยนตร์เรื่อง "จิ๋นซีฮ่องเต้" ของจีน ซึ่งถูกนำมาสร้างทั้งเป็นภาพยนตร์และซีรีส์ไม่รู้กี่ครั้ง "ยิปมัน" ภาพยนตร์ซึ่งสะท้อนภาพของเกาะฮ่องกงตอนตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ รวมถึง ซูสีไทเฮา บูเช็คเทียน จักรพรรดิคังซี แม้กระทั่งหนังฮอลลีวู้ดอย่างเรื่อง 300 ขุนศึกพันธุ์สะท้านโลก และ ทรอย (TROY) หรือหนังประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสเรื่อง Days of Glory ฯลฯ ซึ่งคนไทยคงเคยได้ดูหนังประวัติศาสตร์เหล่านี้บ้าง เนื้อหาส่วนใหญ่ของภาพยนตร์เหล่านี้กล่าวถึงการปกครอง สงคราม การแตกความสามัคคีจนนำไปสู้ความสูญเสีย และการแก่งแย่งช่วงชิงอำนาจ
ประวัติศาสตร์คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขได้อีก แต่สิ่งที่หลงเหลือจากร่องรอยประวัติศาสตร์ทิ้งไว้เตือนสติแก่คนรุ่นหลัง คือ "บทเรียนจากการสูญเสีย" ครั้งสำคัญ ที่เราไม่ควรนิ่งเฉย หรือหลงระเริงไปกับอิสรภาพที่บรรพบุรุษแลกมาด้วยชีวิต จิตวิญญาณ และเลือดเนื้อ