
"น้องใหม่บันเทิงศิลป์" รำวงม่วนซื่นรับสงกรานต์
6 ดาวรุ่งโครงการน้องใหม่ไต่ดาวยกพลขอดับทุกข์นํ้าท่วมส่ง น้องใหม่บันเทิงศิลป์ เขย่าเวทีรำวงต้อนรับสงกรานต์ ดวลเพลงรำวงย้อนยุค 10 จังหวะ 17 บทเพลงทั้งเพลงเก่าและแต่งใหม่ ชูอนุรักษ์ประเพณีรุ่นปู่ย่าตายาย
ภู ศรีวิไล นักร้องเสียงดีโครงการน้องใหม่ไต่ดาว กล่าวกับทีมข่าว "คม ชัด ลึก" ถึงงานเพลงรำวงชุดพิเศษที่เป็นผลงานล่าสุดของเขากับน้องใหม่ร่วมค่ายแกรมมี่โกลด์ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึงว่า
"ทุกเพลงที่คัดมาร้องในอัลบั้มนี้ เน้นสนุกสนานแบบ "เชียร์รำวง" พวกเราอยากนำวัฒนธรรมแบบนี้ย้อนกลับมาให้คนรุ่นใหม่ได้ดู ถึงอาจจะไม่เหมือนต้นแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่คิดว่าจะทำให้คนไทยที่อยู่ในช่วงสงกรานต์ได้สนุกสนานกันเต็มที่หลังจากทำงานมาหนัก บางคนสู้กับปัญหามากมาย เมื่อมาถึงช่วงวันปีใหม่ไทยๆ ก็ได้กลับบ้านมารวมกลุ่มญาติๆ พี่น้องกันสักครั้ง บางคนนั่งรถกลับบ้านเดินทางไกลๆ ก็จะได้มีเพลงของพวกเราเป็นเพื่อนคลายเครียด ได้หวนคืนบรรยากาศเก่าๆ คงจะช่วยให้คนฟังมีความสุขมากขึ้น หรือบางพื้นที่ต้องเจอกับนํ้าท่วมอาจจะไม่มีเงินไปจ้างวงดนตรีมาบรรเลง ก็คิดว่าอัลบั้มชุดนี้จะสามารถสร้างความสนุกครื้นเครงในราคาที่ถูกได้เป็นอย่างดีครับ"
เมื่อถามถึงความต่างของอัลบั้มน้องใหม่บันเทิงศิลป์ กับอัลบั้มรำวงที่เคยมีคนทำออกมามากมายก่อนหน้านี้ว่าต่างกันหรือไม่ ภู ศรีวิไล บอกด้วยนํ้าเสียงอ่อนน้อมและเอื้อมไปเปิดเพลงตัวอย่างให้นักข่าวฟังเบาๆ
"เราเคยฟังแบบทั้งมันทั้งม่วน และแบบรีมิกซ์มาแล้ว ของพวกเราก็จะต่างกันตรงที่ จังหวะ รูปแบบ และลีลา งานดนตรี จะเน้นอารมณ์ของดนตรีที่เป็นแบบ "เชียร์รำวง" ออกมาให้มากที่สุด มีจังหวะรำวง สามช่า ม้าย่อง ออบบิต เน้นภาพของความเป็นจริงจากวงดนตรีรำวงสมัยก่อน หยิบเอาการเชียร์รำวงในยุคก่อนมาใช้กับคนในยุคปัจจุบัน ที่นิยมรวมกลุ่มกันทำผ้าป่ากลับบ้านแล้วก็จัดรำวงแบบบ้านๆ หาเงินเข้าวัด"
ส่วนบทเพลงต่างๆ ที่มีทั้งเพลงเก่าและใหม่รวมกันนั้นครูสลา คุณวุฒิ บอกว่า "คือเรามีอยู่หลายแบบทั้งรำวงภาคกลาง สามช่า ลำแคน คาลิปโซ่ บีกิน โซล ตะลุง ม้าย่อง รำลาว การเล่นรำวงสมัยนั้นจะมีการควบคุมจังหวะด้วย ไม่ได้เล่นแบบมั่วๆ การเล่นรำวงเขาเริ่มจากการเล่นจังหวะรำวง มีรอบไหว้ครู รอบต่อมาจะเป็นรอบเหมา สมัยก่อนจะเรียกว่ารอบนายอำเภอ แต่สมัยปัจจุบัน เรียกว่า “รอบ อบต.” คนที่จะเต้นได้จะต้องมีคู่เท่านั้น หากไม่มีคู่ก็จะต้องลงจากเวที โฆษกจะเป็นคนพูดเชิญชวนผู้ชมมาร่วมเต้น ร่วมสนุก รวมไปถึงควบคุมจังหวะของแต่ละรอบด้วย จะทำให้คนได้เห็นว่า ภาพของสาวรำวง การเล่นรำวงเป็นอย่างไร จากอัลบั้มนี้ "
ผู้สื่อข่าวถามอีกว่าเพลงรำวงที่มีคนทำออกมาก่อนหน้านี้มักจะเลือกเพลงที่ดังๆ ในอดีตมาทำเป็นหลักแล้วการเลือกเพลงในชุดนี้ใช้วิธีเดียวกันหรือไม่ ครูบ้านป่าอธิบายแนวคิดของการเลือกเพลงครั้งนี้ว่า
"เราก็นำเพลงเชียร์รำวงในยุคก่อนเช่น เพลง รักข้ามโขง เปิดวงทีไรจะได้ยินเพลงนี้เสมอๆ พอเพลงนี้ขึ้นทีไร ก็จะได้เห็นภาพของความเป็นอยู่ของคนในยุคนั้นคือเอาเพลงที่ปู่ย่าตายายหวนมาอีกครั้ง ซึ่งมันจะเป็นบรรยากาศที่ใกล้ตัวคนไทยมาก หรือเพลง ซังคนหลายใจ เพลงนี้ต้นฉบับก็คือ ก.วิเศษ อีกเพลงที่เป็นจังหวะลำแคนและน่าสนใจมากคือเพลง ลำแคน..อยากเซาเป็นโสด จังหวะนี้ถือได้ว่าเป็นจังหวะหลักของรำวง ถ้าวงไหนสามารถเล่นจังหวะนี้เรียกได้ว่า เป็นมืออาชีพเลยทีเดียว จังหวะนี้เป็นจังหวะที่สนุกมาก สปีดการเต้นเร็วมาก เพลงนี้คนร้องต้องเป็นอีสานแท้ๆ เพราะไม่อย่างนั้นจะร้องไม่ทัน ส่วนจังหวะคาลิปโซ่ได้เพลง ฝันเห็นหน้า ของ อ.เทพพร เพชรอุบล เพลงนี้ก็เป็นอีกฉากชีวิตของคนต่างจังหวัดในสมัยก่อน เราคิดถึงเพลงที่คนในท้องถิ่นนั้นๆ นิยมใช้มาทำ ก็คิดว่างานชุดนี้จะเป็นงานที่ทำให้หลายคนมีความสุขในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ ได้เจอหน้าพ่อแม่ญาติพี่น้อง ได้อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา ได้มีการสังสรรค์กันในครอบครัวหรือในหมู่บ้านเดียวกัน อยากให้ทุกคนมีความสุข"