ไล่เรียงมงกุฎมิสยูนิเวิร์ส อดีตสู่ปัจจุบัน ก่อน แอน JKN เปิดตัวมงกุฎใหม่
MISS UNIVERSE ORGANIZATION ภายใต้ บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ MOUAWAD(โมอาว็าด) เตรียมแถลง เปิดตัวมงกุฎมิสยูนิเวิร์สแบบใหม่ประจำปี 2022 คมชัดลึกเลยจะขอพาไปไล่เรียงมงกุฎแบบต่างๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
MISS UNIVERSE ORGANIZATION ภายใต้ การนำของ แอน จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ มร. เฟรด โมอาว็าด ผู้ร่วมบริหารบริษัทฯ MOUAWAD รุ่นที่ 4 เตรียมแถลงเปิดตัวมงกุฎมิสยูนิเวิร์สแบบใหม่ประจำปี 2022 ในวันพรุ่งนี้ 19 ธ.ค.65 ที่ไอค่อนสยาม กับมงกุฏใหม่ที่มีชื่อว่า มงกุฎ “Force for Good” ซึ่งจริงๆ แล้ว ในอดีตที่ผ่านมาตั้งแต่เริ่มต้นการประกวดมิสยูนิเวิร์สครั้งแรกเมื่อปี1952 ก็มีการเปลี่ยนมงกุฎมาแล้วหลายรูปแบบ คมชัดลึกเลยจะขอพาไปไล่เรียงมงกุฎมิสยูนิเวิร์สแบบต่างๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
1952
มงกุฏแรกของมิสยูนิเวิร์ส มีบทบาทในหน้าประวัติศาสตร์ของรัสเซีย เกี่ยวเนื่องกับกษัตริย์ซาร์แห่งราชวงศ์โรมานอฟที่ล่มสลาย ซึ่งเตรียมเอาไว้ให้กับหญิงสาวที่กำลังจะมาแต่งงานกับราชวงศ์ หากหญิงสาวเพียงผู้เดียวที่ได้สวมมงกุฎนี้กลับเป็นนางงามจักรวาลคนแรกจากประเทศฟินแลนด์นามว่า Armi Kuusela ในปี 1952 โดยตัวมงกุฎประกอบไปด้วยเพชรทั้งหมด 1529 เม็ด รวมทั้งสิ้น 300 กะรัต
1953
มงกุฎแบบที่สองมีรูปแบบคล้ายกับแผ่นโลหะสีบรอนซ์ ซึ่งถูกทำขึ้นมาจากทองสัมฤทธิ์ ไม่มีการประดับประดาด้วยคริสตัล หรือจิวเวลรีชิ้นอื่นจึงทำให้เวลาที่นางงามได้สวมใส่แล้วนั้นเหมือนกับวันเดอร์วูแมน และนางงามจักรวาลคนเดียวที่ได้คือ Christiane Martel นางงามจากประเทศฝรั่งเศส และเป็นนางงามเพียงผู้เดียวที่ได้ครอบครองมงกุฎนี้กระทั่งมีฉายาให้กับมงกุฎนี้ว่า The Christiane Martel Crown
1954 - 1960
ด้วยรูปลักษณ์ของมงกุฎที่มีดวงดาวประดับอยู่จึงได้รับการขนานนามว่า Star of the Universe ที่สรรสร้างขึ้นจากทองคำ และแพลตินัม ประดับด้วยไข่มุกทั้งสิ้น 1000 เม็ด และปีนี้ทางกองประกวดได้ตั้งกติกาใหม่ว่า ผู้ชนะการประกวดไม่สามารถครองมงกุฎได้ตลอดไปเหมือนกับสองปีแรกที่ผ่านมา ส่งผลให้มงกุฎดวงดาวแห่งจักรวาลนี้จึงมีสาวงามผู้ชนะการประกวดได้ครอบครองถึง 7 คนด้วยกัน ตั้งแต่ปี 1954 - 1960
1961-1962
เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 10 ปีของการประกวดมิสยูนิเวิร์ส ทางกองประกวดจึงสั่งทำมงกุฎใหม่โดยขึ้นโครงจากทองคำขาวบริสุทธิ์ แตกต่างด้วยการประดับไรน์สโตน หรือพลอยเทียม ไม่ใช่ไข่มุกอย่างที่เคยเป็นมาพร้อมดวงดาวห้าแฉกบนยอดของมงกุฎ ซึ่งกลายเป็นที่ฮือฮาของแฟนนางงามมาก
1963 - 1973
หลังจากมงกุฎมิสยูนิเวิร์สประดับด้วยดวงดาวมาเป็นเวลานาน ก็ถึงเวลาของการเปลี่ยนแปลงสู่การยกย่องความเป็นผู้หญิงอย่างเต็มตัว ด้วยมงกุฎ The sarah Coventry Crown อันมีจุดเด่นอยู่ที่รูปร่างของหญิงสาวที่กำลังถือถือคฑาประดับอยู่ที่กลางมงกุฎ ซึ่งเป็นรูปร่างของหญิงสาวเดียวกันกับตราสัญลักษณ์ในการประกวดมิสยูนิเวิร์ส อีกทั้งมงกุฎรุ่นนี้ยังได้รับการกล่าวขานว่าเป็นมงกุฎแห่งความคลาสสิกรุ่นหนึ่งที่เคยมีมา จึงถูกใช้งานยาวตั้งแต่ปี 1963 - 1973 หนึ่งในนั้นคือสาวไทย อาภัสรา หงสกุล มิสยูนิเวิร์สคนแรกของประเทศไทย ในปี 1965 ที่ได้สวมมงกุฎนี้ด้วย
1974 - 2001
นี่คือมงกุฎในตำนานที่ยังไม่มีมงกุฎรุ่นไหนเทียบได้ ด้วยความงามอย่างคลาสสิกที่ถูกดัดแปลงมากจากมงกุฎรุ่นก่อนหน้า The Sarah Coventry Crown โดยเปลี่ยนลวดลายรอบวงมงกุฎ อีกทั้งยังสามารถปรับขนาดตามศรีษะของนางงามได้ เพื่อความสะดวกมากยิ่งขึ้น และถูกใช้กับนางงามผู้ชนะการประกวดติดต่อยาวนานตั้งแต่ปี 1974 - 2001 โดยมีนางงามทั้งหมด 28 คนที่เคยได้สวมมงกุฎนี้ หนึ่งในนั้นคือสาวไทย ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก มิสยูนิเวิร์สคนที่สองของประเทศไทย ในปี 1988
2002 - 2007
มีการเปลี่ยนจากมงกุฎรุ่นคลาสสิคมาเป็นมงกุฎ Mikimoto แบรนด์ไข่มุกชื่อดัง ที่แฟนนางงามชื่นชมความงามของดีไซน์ที่แตกต่าง กะทัดรัด หากยังคงความสง่างามได้ โดยมงกุฎมิกิโมโตะ ได้รับการออกแบบโดย โทโมฮิโระ ยามาจิ ดีไซเนอร์ชาวญี่ปุ่น อันได้รับแรงบันดาลใจมาจากขนนกฟินิกซ์ ตัวมงกุฏทำด้วยทองคำขาวบริสุทธิ์ประดับเพชรทั้งหมด 800 เม็ด รวม 18 กะรัต และไข่มุกอีก 120 เม็ด เพื่อเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 50 ปีของเวทีมิสยูนิเวิร์สอีกด้วย
2008
มงกุฎจากสปอนเซอร์ CAO Fine Jewelry ซึ่งเป็นบริษัทเกี่ยวกับอัญมณีในประเทศเวียดนาม ที่ทำขึ้นจากทองคำขาว และทองเหลืองผสมกันทั้งหมด 18 กะรัต ประดับด้วยเพชรใสทั้งสิ้น 30 กะรัต พร้อมด้วยเพชรสีคอนยัค, หินควอตซ์ และพลอยมอร์กาไนต์ มีนางงามจักรวาลเพียงผู้เดียวเท่านั้นที่ได้ครอบครองคือ Dayana Mendoza จากประเทศเวเนซุเอลา
2009-2013
เพื่อประกาศว่า มิสยูนิเวิร์สยังสามารถทำอะไรเพื่อสังคมได้อีกมาก กองประกวดจึงใช้มงกุฎเป็นสื่อในการพิสูจน์ตัวตน เวทีแห่งนี้จึงเปลี่ยนมงกุฎครั้งใหม่ ซึ่งจัดทำโดย Diamond Nexus Labs ด้วยเม็ดหินสังเคราะห์ที่ไม่ทำลายธรรมชาติเกือบ 1400 เม็ด อีกทั้งยังประดับทับทิมสีแดงเพื่อเป็นการสื่อถึงการรณรงค์ป้องกันการติดเชื้อ HIV อีกด้วย
2014-2016
มงกุฎที่เคยอยู่ในสถานการณ์ช็อกโลกกับการประกาศรางวัลผู้ชนะการประกวดผิดในปี 2015 นั่นคือมงกุฎ The DIC Crown ซึ่งเป็นมงกุฎที่จัดทำโดย Diamond International Corporation (DIC) ที่มีความโดดเด่นอยู่ที่แท่งเหลี่ยมไล่ระดับที่สื่อถึงเหล่าตึกสูงในมหานครนิวยอร์ก สถานที่ตั้งขององค์กรการประกวด และสีน้ำเงินที่ได้จากการประดับด้วยแซฟไฟร์สีน้ำเงินที่แปลกตาไปจากมงกุฎที่เคยมีมา
2017-2018
มงกุฎไข่มุก Mikimoto กลับมาใช้อีกครั้งในปี 2017-2018 หลังจากเคยใช้มาแล้วเมื่อปี 2002 - 2007
2019-2021
กองประเปิดตัวมงกุฎใหม่ซึ่งมีชื่อว่า Power of Unity ออกแบบโดยช่างฝีมือจากแบรนด์ Mouawad(โมอาว็าด)ทำด้วยทองคำ 18 กะรัต ประดับด้วยเพชรรอบมงกุฎ 1,770 เม็ดรวมถึงเพชร golden canary เพชรสีทองตรงกลางที่งดงามมีน้ำหนัก 62.83 กะรัต รวมเป็นมูลค่า 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 150 ล้านบาทไทย ซึ่งเป็นมงกุฎแบบล่าสุดที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2019 จนถึงเมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา
2022
เวทีมิสยูนิเวิร์สปีนี้ กลายมาเป็นของคนไทยอย่างเต็มตัว ภายใต้การนำของ แอน จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) จึงเตรียมแถลงข่าวเปิดตัวมงกุฎมิสยูนิเวิร์สแบบใหม่ประจำปี 2022 ในวันพรุ่งนี้ 19 ธ.ค.65 ที่ไอค่อนสยาม กับมงกุฏใหม่ที่มีชื่อว่า มงกุฎ “Force for Good” ซึ่งมงกุฎยังคงออกแบบโดย มร. เฟรด โมอาว็าด ผู้ร่วมบริหารแบรนด์ MOUAWAD รุ่นที่ 4 ซึ่งเป็นแบรนด์จีเวลรี่ระดับโลก โดยตัวคุณเฟรดเองก็มีภรรยาเป็นคนไทย
ขอบคุณข้อมูล Vogue Thailand