เปิดเหตุผลที่ "เอลซัลวาดอร์" ได้เป็นเจ้าภาพประกวด Miss Universe ปลายปี
JKN เผยความสำเร็จการจัดประกวด Miss Universe ครั้งที่ 71 ถ่ายทอดสดไปยังกว่า 121 ประเทศ รวมถึงช่องทางออนไลน์ ครอบคลุมทั่วโลก ชูมิสยูนิเวิร์สคนใหม่ ยกระดับผู้หญิงให้ก้าวสู่ความเป็นผู้นำ
‘บมจ. เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป หรือ JKN’ เจ้าขององค์กรมิสยูนิเวิร์ส หรือ Miss Universe Organization (MUO) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในองค์กรระดับโลกและมีแบรนด์ Miss Universe ที่ทรงพลังมากว่า 71 ปี เผยความสำเร็จหลังจากจบการประกวด Miss Universe ครั้งที่ 71 ที่จัดขึ้นที่ศูนย์การประชุมเออร์เนสต์ เอ็น. มอเรียล เมืองนิวออร์ลีนส์ รัฐลุยเซียน่าประเทศสหรัฐอเมริกา
การประกวดในรอบไฟนอลครั้งนี้ได้มีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ไปยัง 121 ประเทศ รวมถึงผ่านทางช่องทางออนไลน์ และ สตรีมมิ่งแพลทฟอร์ม ROKU ครอบคลุมผู้ชมทั่วโลก
เป็นเวทีการประกวดที่มีเทคนิคโปรดักชั่นอลังการระดับจักรวาล ทั้งการแสดง แสง สี เสียง ภายใต้แนวความคิดจากเทศกาล มาร์ดิกราส์ เทศกาลสำคัญของชาวนิวออร์ลีนส์ ที่จะเน้นสีสันอันฉูดฉาด ผ่านใช้แสงไฟประมาณ 400 กว่าตัวทั้งแบบออโต้ และไฟแบบ LED
โดยการใช้เทคนิคการยิงแสงในระบบออโต้ทำให้สามารถควบคุมและเพิ่มสีได้แบบเรียลไทม์ แต่ยังสามารถถ่ายทอดความงามของนางงามแต่ละคนผ่านการจัดแสง บนเวทียังมีองค์ประกอบเกี่ยวกับ น้ำ ที่สะท้อนแนวคิดการเปลี่ยนแรงกดดันให้เป็นแรงผลักดัน แสดงถึงพลังในการต่อสู้ของผู้หญิง
นอกจากนี้ยังมีการแสดงโชว์ของนักร้องชื่อดังของอเมริกาผสมผสานกับการแสดงจากวงดนตรีชื่อดังท้องถิ่นของนิวออร์ลีนส์ สร้างความตื่นตาตื่นใจดึงคนทั่วโลก ให้ได้ชมการประกวดอย่างสนุกสนาน
สำหรับผู้ที่คว้ามงกุฎ Miss Universe ครั้งที่ 71 นี้ เป็นสาวงามสายสะพายตัวแทนจาก USA “R'Bonney Gabriel” ดีไซเนอร์วัย 28 ปี ที่สามารถคว้ามงกุฎ Miss Universe ครั้งที่ 71 ไปครองได้สำเร็จ
“R'Bonney Nola Gabriel” เป็นนักออกแบบที่ส่งเสริมความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นางแบบ และครูสอนตัดเย็บเธอเป็นผู้มีความหลงใหลในศิลปะ กีฬา และการท่องเที่ยว เธอสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีจาก University of North Texas สาขาออกแบบแฟชั่น ด้วยวิชาโทสาขาไฟเบอร์ ปัจจุบันเธอเป็นเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าที่เน้นส่งเสริมความยั่งยืนภายใต้ชื่อ “R’Bonny Nola”
เธอยังเป็นคุณครูสอนตัดเย็บให้กับ Magpies & Peacocks ห้องเสื้อที่ไม่แสวงหาผลกำไร ที่มีแนวคิด “Fashion As A Force For Good” หรือการใช้แฟชั่นเป็นแรงขับเคลื่อนพลังแห่งความดี โดยการนำผ้าที่คนอื่นไม่ใช้แล้วและถูกทิ้ง นำกลับมารีไซเคิลเพื่อสร้างเป็นผลงานการออกแบบ
นอกจากนี้ภายใต้โปรแกรม “MAKR” เธอได้ถ่ายทอดวิชาการตัดเย็บเสื้อผ้าให้กับผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์และความรุนแรงภายในครอบครัว
ในฐานะชาวอเมริกันเชื้อสายฟิลิปปินส์คนแรกที่ได้ครอบครองตำแหน่ง Miss USA เธอให้ความสำคัญกับเรื่องของการยอมรับวัฒนธรรมที่หลากหลาย เธอเป็นกระบอกเสียงให้ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย ซึ่งภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการเปิดประตูสู่สังคมแห่งพหุวัฒนธรรม เรื่องราวของเธอถูกตีพิมพ์ลงนิตยสาร Vogue Philippines เป้าหมายของเธอคือการที่ให้ผู้หญิงทุกคนมองมาที่เธอเป็นแรงบันดาลใจ ในการใช้ชีวิตมุ่งไปข้างหน้าตามเป้าหมายที่เราต้องการด้วยการเป็นตัวตนของตัวเองอย่างแท้จริง
คุณแอน-จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าว “เรามองหาผู้หญิงที่มีความเป็นผู้นำ และสามารถยกระดับผู้หญิงให้ก้าวสู่ความเป็นผู้นำ การเป็นผู้นำที่สร้างการเปลี่ยนแปลง (Transformational Leadership) และจะต้องเป็นผู้หญิงที่สามารถเป็นแบบอย่างให้กับผู้หญิงทั่วโลกได้เพื่อที่จะยกระดับคุณค่าที่มีมานานของกองประกวด ให้เหมือนเป็นแสงนำทางส่องสว่างให้กับอนาคตที่สดใสของเราทุกคน”
โดยการทำโชว์การประกวดในครั้งนี้ยังมุ่งส่งเสริมพลังของผู้หญิง ทั้งเบื้องหน้า เช่น พิธีกร คอมเมนเตเตอร์ กรรมการหรือนักแสดงที่เป็นผู้หญิงทั้งหมด และทีมงานเบื้องหลังในการทำโปรดัคชั่น ที่นำทีมโดยผู้หญิงในแผนกต่างๆ ซึ่งในหลายตำแหน่งผู้หญิงเหล่านี้ก้าวขึ้นมามีความสามารถในการนำทีมได้อย่างดีเช่นกัน
นอกจากนี้บนเวทีการประกวดได้มีการประกาศ ประเทศ “เอลซัลวาดอร์” เป็นประเทศเจ้าภาพในการประกวดมิสยูนิเวิร์ส ครั้งที่ 72 ช่วงเดือนธันวาคม 2566 นี้
และนี่เป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปีขององค์กรมิสยูนิเวิร์สที่มีการประกาศเจ้าภาพครั้งต่อไปบนเวที โดยเป็นการประกาศผ่านวีดีโอแนะนำประเทศ เอลซัลวาดอร์ และ ประธานาธิบดี Nayib Bukele เป็นผู้ประกาศด้วยตนเอง
ถือว่าเป็นอีกหนึ่งในความภาคภูมิใจภายใต้การนำองค์กรมิสยูนิเวิร์สของบริษัทเจเคเอ็นฯ ภายใต้การนำของ คุณแอน-จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ โดยประเทศ “เอลซัลวาดอร์” ได้ทุ่มเงินกว่า 400 ล้านบาทในการเข้าเป็นประเทศเจ้าภาพสำหรับการประกวดมิสยูนิเวิร์ส ครั้งที่ 72 นี้
ประเทศเอลซัลวาดอร์ หรือสาธารณรัฐเอลซัลวาดอร์เป็นประเทศในแถบอเมริกากลาง ใช้ภาษาสเปนเป็นภาษาราชการ
ซึ่งทางประเทศเอลซัลวาดอร์ ตั้งเป้าหมายจะเป็นเมืองศูนย์กลางแห่งบิทคอยน์โลก โดยการจัดตั้งเมืองบิทคอยน์ และประกาศให้ใช้สกุลบิทคอยน์เป็นสกุลเงินในการซื้อขาย แลกเปลี่ยน เป็นครั้งแรกของโลกอย่างถูกกฎหมาย