'อีซึงกิ' ไร้ค่าตอบแทนจากต้นสังกัดกว่า 18 ปี สู่กฏหมายคุ้มครองสิทธิไอดอล
บทเรียนราคาแพงของไอดอลจากการถูกเอาเปรียบตลอด 18 ปีจากเคส "อีซึงกิ" สู่กฏหมายคุ้มครองสิทธิไอดอล หรือ "กฎหมายป้องกันเหตุการณ์อีซึงกิ"
กลายเป็นประเด็นร้อนในวงการ K-POP สำหรับกรณีที่นักแสดงหนุ่มแนวหน้าของเกาหลี "อีซึงกิ" (Lee Seung Gi) ซึ่งทำงานในวงการมายายนาน แต่ตลอด 18 ปีในวงการบันเทิง เขาไม่เคยได้รับค่าตอบแทนในการทำเพลง จากต้นสังกัด ค่าย Hook Entertainment จนกลายเป็นคดีฟ้องร้องในเวลาต่อมา
เมื่อช่วงปลายเดือนที่แล้ว "อีซึงกิ" ได้ออกมาเปิดใจผ่านอินสตาแกรมส่วนตัวว่า "ตลอด 18 ปีที่ผ่านมา ผมทนฟังคำว่า "นักร้องติดลบ" (นักร้องที่ไม่สามารถสร้างรายได้) ทั้งที่คุณค่า หยาดเหงื่อของใครบางคน ไม่ควรถูกใช้อย่างอยุติธรรม เพราะความโลภของใครบางคน ตอนนี้ ผมได้รับเงิน 5000 ล้านวอน โดยไม่รู้ว่า ทางค่ายคำนวณจากอะไร หลังจากนี้ คงเป็นกระบวนการที่ต้องเจรจากันทางศาลต่อไป ครั้งนี้เป็นการต่อสู้ครั้งยิ่งใหญ่ ผมอยากจะขอโทษสาธารณชนที่จะต้องมารับรู้ในเรื่องนี้ ผมสัญญาว่า จะบริจาคเงินทั้งหมด เพื่อช่วยเหลือผู้ยากไร้ ผู้ที่ขัดสน"
ล่าสุด "กระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวของเกาหลีใต้" ได้ประกาศข่าวดีแห่งวงการบันเทิง สำหรับการแก้ไขเกี่ยวกับกฎหมายการพัฒนาอุตสาหกรรมวัฒนธรรมและศิลปะยอดนิยม จนเกิด "กฎหมายป้องกันเหตุการณ์อีซึงกิ" เพื่อให้ความสนใจในหลายๆประเด็นแห่งวงการบันเทิง รวมถึงการคุ้มครองสิทธิของไอดอลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ
สำหรับบริษัทที่จ้างผู้ที่ยังยังไม่บรรลุนิติภาวะนั้น จะต้องเคารพเรื่องข้อจำกัดเกี่ยวกับชั่วโมงการทำงานของลูกจ้าง ได้แก่ ลูกจ้างที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี สามารถทำงาน 25 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และ 6 ชั่วโมงต่อวัน , ลูกจ้าง อายุ 12 ถึง 15 ปี สามารถทำงาน 30 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และ 7 ชั่วโมงต่อวัน และลูกจ้าง อายุ 15 ปีขึ้นไป สามารถทำงานได้ 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และ 7 ชั่วโมงต่อวัน
นอกจากนี้ ได้มีการร่างกฏหมายใหม่เกี่ยวกับข้อห้ามทำกิจกรรมที่ละเมิดสิทธิในการศึกษาของดารา อาทิ การขาดเรียน หรือ การออกกลางคัน รวมถึง ข้อห้ามเกี่ยวกับกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพ อาทิ เรื่องการลดน้ำหนัก