บันเทิง

เปิดวิก 'เสียงอิสาน' ตำนานหมอลำที่ราบสูง ฟันฝ่า 48ปี เพื่อหมอลำไม่มีวันตาย

เปิดวิก 'เสียงอิสาน' ตำนานหมอลำที่ราบสูง ฟันฝ่า 48ปี เพื่อหมอลำไม่มีวันตาย

20 มี.ค. 2566

หมอลำไม่มีวันตาย คำยืนยันจาก 'นกน้อย อุไรพร' ตำนานหมอลำเสียงเทพ ฟันฝ่าอุปสรรค 48 ปี คณะ 'เสียงอิสาน' สืบตำนานจากรุ่นสู่รุ่น สู่softpower วัฒนธรรมท้องถิ่น

'เสียงอิสาน' คณะหมอลำในตำนาน ที่อยู่คู่แดนดินถิ่นอิสานมานานถึง 48 ปี จากการนำของแม่ทัพหญิงเสียงขั้นเทพ 'นกน้อย อุไรพร' ผู้ก่อตั้งคณะหมอลำเสียงอิสาน ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2519 ปั้นดาวให้วงการหมอลำมามากมาย สานฝันเด็กน้อยภาคอิสานก้าวเข้าสู่วงการหมอลำจนกลายเป็นตำนานคณะหมอลำ 'เสียงอิสาน' คณะหมอลำที่ใครๆก็อยากเป็นส่วนหนึ่งของคณะหมอลำ

คณะหมอลำเสียงอิสานใน งาน concert หมอลำเสียงอีสาน X Isan in love

วิกฤตโควิด-19 เป็นอีกวิกฤตที่สาหัสและหนักหน่วงของคณะเสียงอิสานไม่แตกต่างจากคณะหมอลำอื่น แม่นกน้อย อุไรพร หมอลำระดับตำนาน ในวัย 66 ปี บอกเล่าถึงเรื่องราวของการฝ่าฟันวิกฤตในครั้งนี้ ว่า เสียงอิสานก่อตั้งมาจนถึงวันนี้ เป็นระยะเวลา 48 ปี หมอลำในอดีตและปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงไปตามยุคตามสมัย ปัจจุบันมีการเปลี่ยนถ่ายไปสู่โลกโซเชียล เสียงอิสานจึงจำเป็นต้องมีการปรับตัวอย่างมากเพื่อให้เข้ากับคนรุ่นใหม่ 

แม่นกน้อย อุไรพร และแป้ง ณัฐธิดา

หากย้อนกลับไปในอดีตการแสดงหมอลำนั้นเป็นการแสดงในรูปแบบที่เน้นหนักในด้านวัฒนธรรมเป็นหลัก แต่ปัจจุบันหมอลำ นิยมทำการแสดงในรูปแบบประยุกต์ มีการนำเอาเพลงอินดี้ เพลงลูกทุ่ง เข้ามาผสมผสาน มีการปรับเปลี่ยนดนตรีพื้นเมืองอย่าง พิณ แคน ของคนอิสานผสมสานกับดนตรีสากล เพื่อให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่มากขึ้น แต่ก็ยังคงความเป็นวัฒนธรรมหมอลำของคนอิสานไว้ โดยการปรับเปลี่ยนเป็นรูปแบบประยุกต์ของคณะหมอลำ เสียงอิสาน เริ่มมากว่า 10 ปีแล้ว 

 

การแสดงหมอลำ จะเริ่มทำการแสดงตั้งแต่หัวค่ำ เรื่อยยาวไปจนถึงรุ่งเช้าของอีกวัน โดยแบ่งช่วงการแสดงในหัวค่ำ เป็นการแสดงคอนเสิร์ต มีการโชว์แบบร่วมสมัย ร่วมกับการแสดงรำเรื่องต่อกลอน คล้ายกับการแแสดงลิเกในภาคกลาง แต่ยังคงเน้นความสนุกสนานให้วัยรุ่นได้สนุกสนาน เนื่องจากปัจจุบันผู้ที่มาชมหมอลำ จะเป็นกลุ่มวัยรุ่นมากกว่ากลุ่มอื่น ซึ่ง แม่นกน้อย มองว่า เป็นเรื่องดีเพราะเชื่อว่าวัฒนธรรมของหมอลำจะไม่มีวันตายอย่างแน่นอน 

คณะหมอลำเสียงอิสาน

 

นอกจากวัยรุ่นจะชอบดูหมอลำแล้ว ยังมีอีกไม่น้อยที่มีความใฝ่ฝันอยากเป็นหมอลำ เข้ามาสมัครร่วมคณะหมอลำจำนวนมาก  แตกต่างจากสมัยก่อนที่จะหานักแสดงหมอลำยากมาก เพราะคนส่วนใหญ่คิดว่าการร้องหมอลำเป็นเรื่องยาก เป็นเรื่องของประสบการณ์ แต่ส่วนตัว แม่นกน้อย มองว่า การเลือกเด็กเข้าร่วมคณะจะคัดเลือกที่ความสามรถของวัยรุ่นเป็นที่ตั้ง ทั้งในเรื่องของเสียง พรสวรรค์ และที่สำคัญคือพรแสวง ไม่ยึดติดเรื่องความแม่นยำในเมโลดี้ แต่ให้แสดงออกในความเป็นตัวตนของพวกเค้าเหล่านั้นแทน

หลังวิกหมอลำเสียงอิสาน

 

ปัจจุบันในคณะหมอลำเสียงอิสานจึงมีนักแสดงเป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่เกือบทั้งวง เพราะ 48 ปีที่ผ่านมามีทั้งคนที่โตมาในวง และที่ตายคาวงก็มาก คนเก่าไปคนใหม่มาจึงมีการเปลี่ยนถ่ายอยู่ตลอดเวลา คนรุ่นเก่าเหลืออยู่เพียงไม่กี่คน เรียกได้ว่าพ.ศ. นี้ คณะหมอลำเสียงอิสานจึงเป็นคนรุ่นใหม่ genใหม่

 

แม่นกน้อย เชื่อมั่นว่าสิ่งที่ทำให้คนรักคณะหมอลำ เสียงอิสานยาวนานถึง 48 ปี คือการพัฒนาปรับเปลี่ยนให้เป็นหมอลำก้าวล้ำตลอดการณ์ ไม่หยุดอยู่กับที่ ปรับเปลี่ยนให้ร่วมสมัยให้มากที่สุด สิ่งที่ทำให้แม่นกน้อยเชื่อว่าหมอลำจะอยู่คู่อิสานไปอีกนาน เพราะหมอลำคือวัฒนธรรมที่เป็นรากเหง้าของชาวอิสาน ที่สามารถนำมาปรับเปลี่ยนให้ร่วมสมัยได้ตลอด จึงเชื่อว่าหมอลำไม่มีวันตาย ถึงแม้จะหมดยุคของแม่นกน้อยก็เชื่อว่าจะมีคนสืบทอดต่อไป อีกทั้งยังเชื่อมั่นในคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถในการใช้สื่ออนไลน์ จะสามารถต่อยอดหมอลำให้ไม่มีวันตาย

 

การแสดงของคณะหมอลำเสียงอิสาน

 

48 ปี ความยากของ เสียงอิสาน เรียกได้ว่ายากทุกเรื่อง มีปัญหาให้แก้ไขหน้างานแทบทุกวัน ทุกเวที ไม่สูตรสำเร็จในเวทีหมอลำ ถึงแม้จะเป็นมืออาชีพแต่ก็ต้องเจอกับอุปสรรคไม่วางเว้น ให้คอยแก้ปัญหา ยอมรับว่าเหนื่อย หากจะบอกว่าไม่เหนื่อยก็คือการโกหก เจอปัญหามามากมาย แต่กำลังใจที่ทำให้ไปต่อได้คือการได้เห็นคนรุ่นใหม่ที่มีใจรักในหมอลำ สนใจที่จะต่อยอดสืบสานหมอลำ ทำให้เป็นกำลังใจในการเดินต่อบนเวทีหมอลำเพื่อต่อยอดศิลป์ศาสตร์ของวัฒนธรรมอิสาน 

เบื้องหลังเวทีหมอลำเสียงอิสาน

ผู้ก่อตั้งคณะเสียงอิสาน กล่าวว่า ปัจจุบันคณะ เสียงอิสาน มีสมาชิกอยู่กว่า 300 คน น้อยลงจากเดิมที่เคยมีสมาชิกมากถึง 600 คน รายได้ที่ได้มาก็แบ่งก็ได้จ่ายลูกๆในวง จัดสรรปันส่วนกันไป มีค่าใช้จ่าย 30,000 ถึง 50,000 ต่อวัน ยังไม่รวมถึงค่าจ้างรายวันของเด็กๆ พอโควิดเข้ามารอบแรก ตอนนั้นก็ช๊อกแต่ไม่คิดว่าจะอยู่ยาว งานถูกเลื่อนและยกเลิกหมด ในขณะเดียวกันเด็กๆก็ไม่ยอมไปไหน ทุกคนรอความหวังที่จะได้กลับมาขึ้นเวที ในตอนนั้น แม่นกน้อย ต้องอาศัยเงินกู้ทั้งในและนอกระบบ จนกระทั่งจำเป็นต้องถ่ายลูกนกออกจากรังแม่นกน้อย เรียกได้ว่าเป็นวิกฤตที่หนักที่สุดของ นกน้อย อุไรพร ขอให้วิกฤตนี้เป็นครั้งที่โหดที่สุดอย่าโหดไปกว่านี้อีกเลย

หมอลำนใหม่ของแม่นกน้อยอุไรพร

ความสุขของนกน้อย อุไรพร ในเส้นทางหมอลำคือ ?

คณะเสียงอิสาน และนกน้อย อุไรพร ฝ่าฟันอุปสรรคมามากมาย ซึ่งก่อนหน้านี้สามีก็เริ่มป่วยเป็นมะเร็ง ความดัน เบาหวาน หัวใจตีบ โรคไต คือทุกอย่างมาเป็นแพค เราก็รักษากันมาระยะเวลาเป็น 10 ปี รวมถึงอายุที่มากขึ้นทำให้ยิ่งเหนื่อยมากกว่าเก่า เพราะขาดคนคู่คิดที่คอยให้คำปรึกษาที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล แม้เราจะเป็นคนของประชาชนแต่เราก็เป็นคนของสามีด้วย สามีก็มีน้อยใจที่แม่นกเลือกงาน แต่ก็มีลูกวงที่ต้องดูแลเพื่อฟูมฟักให้ลูกนกแข็งแรงพอที่จะสานต่อคณะหมอลำในวันที่ไม่มีแม่นกน้อย แม้ว่าจะพยายามวางมือ แต่เจ้าภาพเองก็ยังเรียกร้องแม่นกน้อย เจ้าภาพบางงานไม่ยอมหากเวทีเสียงอิสานไม่มีแม่นกน้อย เพราะตำนานยังมีลมหายใจอยู่ นี่จึงเป็นความสุขอีกหนึ่งอย่างของแม่นกน้อยในการสู่ต่อบนเวทีหมอลำ การได้อยู่หน้าเวที ได้เห็นแววตาของแฟนเพลงที่มารอดูแม่นกทำให้ความทุกข์ในใจหายไป นี่คือจิตวิญญาณของการเป็นศิลปินของนกน้อย อุไรพร