บุกหลังเวทีแง้ม 5 ไฮไลท์ คอนเสิร์ต 'เบิร์ด-ธงไชย' ก่อนไปเปิดฟลอร์ใน Netflix
บุกหลังเวทีแง้ม 5 ไฮไลท์ ที่คุณอาจไม่เคยรู้ใน คอนเสิร์ต 'เบิร์ด-ธงไชย' ซูเปอร์สตาร์อันดับหนึ่งตลอดกาลของไทย รู้ไว้ก่อนไปเปิดฟลอร์ใน Netflix
คอนเสิร์ต ของ “เบิร์ด-ธงไชย” เป็นตำนานของความอลังการที่กล่าวขานมาทุกยุคทุกสมัย ในฐานะสุดยอดความบันเทิงที่ดูได้ทั้งครอบครัว และยังเป็นเสมือนบันทึกประวัติศาสตร์ที่ถ่ายทอดภาพจำแห่งยุคสมัย กระแสฮิตมาแรงในช่วงเวลานั้นๆ หรือแม้แต่การรวมตัวศิลปินระดับซูเปอร์สตาร์ที่หาดูไม่ได้ที่ไหน ล่าสุดกำลังทยอยยกขบวนทั้ง 32 คอนเสิร์ต ตลอด 36 ปี ของ “พี่เบิร์ด” มาให้รับชมกันได้แบบครบจบในที่เดียวบน Netflix กันแล้ว ใครที่ตื่นเต้นกับคอลเลคชั่นละลานตาจนยังเลือกปักหมุดไม่ได้ว่าจะเริ่มจากคอนเสิร์ตไหนก่อนดี วันนี้เรามี 5 แง่มุมไฮไลต์เด็ดๆ ที่คุณอาจยังไม่เคยรู้มาฝากกัน ลองนั่งไทม์แมชชีนย้อนเวลาไปดูกันเลย
#1 เทคโนโลยีล้ำสมัยในยุค 80-90
ย้อนกลับไปในยุคก่อน Y2K สมัยที่วิดีโอยังใช้อัตราส่วน 4:3 คอนเสิร์ตของ “เบิร์ด-ธงไชย” นับว่าเป็นความทันสมัยที่รวมเอาเทคโนโลยีล้ำๆ มาไว้ในที่เดียว ใน คอนเสิร์ต แบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ มีทั้งการใช้เลเซอร์ แอนิเมชั่น สร้างความตื่นตาตื่นใจให้ผู้ชม รวมไปถึงการออกแบบโปรดักชั่นสุดอลังการ เช่นการเนรมิตให้ฝนตกบนเวที การใช้แสงสีดำในเพลง “พักตรงนี้ Original” การยกน้ำพุมาไว้บนเวที และการใช้ดาบเลเซอร์ในการแสดง ที่นับว่าสร้างมาตรฐานใหม่ๆ ให้กับคอนเสิร์ตแห่งยุค 80-90
นอกจากนั้นคอนเสิร์ตของ “พี่เบิร์ด” ยังโดดเด่นด้านความสนุกสนานเป็นกันเองกับแฟนๆ โดยเป็นคอนเสิร์ตแรกๆ ในไทยที่ผู้ชมมักจะได้มีส่วนร่วมหรือโต้ตอบกับศิลปินบนเวที ในยุคที่ “แท่งไฟ” ยังไม่ได้แพร่หลายในประเทศไทย อย่างในคอนเสิร์ต “DREAM” เมื่อปี 1996 มีการใช้ “บัตรสะท้อนแสง” ขนาดเล็กให้แฟนๆ ถือไว้แล้วสะบัดให้เกิดแสงระยิบระยับเมื่อมองจากเวที สร้างบรรยากาศที่งดงามเหมือนอย่างการถือแท่งไฟในปัจจุบัน ทว่าคลาสสิกด้วยสไตล์ยุค 90 นอกจากนี้ยังมีการออกแบบเวทีให้ศิลปินได้ใกล้ชิดแฟนๆ มากขึ้น อย่างการใช้เวที 360 องศา ท่ามกลางผู้ชมในอินดอร์สเตเดี้ยมครั้งแรกของประเทศไทย ก็เกิดขึ้นในคอนเสิร์ต ธงไชย เซอร์วิส พิเศษ ในปี 1999 นั่นเอง
#2 สอดแทรกศิลปะวัฒนธรรมไทยประยุกต์
อีกหนึ่งความไม่ธรรมดาของ คอนเสิร์ต “เบิร์ด-ธงไชย” คือการผสมผสานเอาศิลปะวัฒนธรรมไทยและการแสดงพื้นบ้านมาประยุกต์บนเวทีคอนเสิร์ต และการที่พี่เบิร์ดเองมีส่วนร่วมในการแสดงเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการเชิญศิลปินแห่งชาติ “ลำตัดแม่ประยูร” มาขึ้นเวทีถึง 2 ครั้ง รวมไปถึงโชว์ตีกลองสะบัดชัยและการแหล่ขานชื่อโดย พี่เบิร์ด เอง ทั้งหมดนี้รวมไว้ใน แบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ และในคอนเสิร์ต แบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ ตอน อยากเห็นท้องฟ้า...เป็นอย่างในฝัน พี่เบิร์ดก็ได้ทำการแสดงลิเกเป็นครั้งแรกเมื่อ 29 ปีที่แล้วร่วมกับ อาจารย์ เสรี หวังในธรรม ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงอีกด้วย นอกจากนี้ในคอนเสิร์ต แบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ #10/2012 ตอน วันของเรา Youngอยู่ ซึ่งเป็นคอนเสิร์ตครบรอบ 25 ปีของเบิร์ด-ธงไชย ยังมีการเนรมิตฉากหลังบนเวทีเป็นท้องทะเลอันงดงามในเพลง “ฝากฟ้าทะเลฝัน” โดยมีหุ่นละครเล็ก โจหลุยส์ ร่วมแสดงไปพร้อมๆ กัน นับเป็นอีกหนึ่งโชว์ระดับตำนานที่ไม่ได้หาชมกันได้ง่ายๆ
#3 โชว์มิวสิคัลในแบบฉบับเฉพาะตัว
การแสดงละครเวทีของ “เบิร์ด-ธงไชย” นับว่าเป็นหนึ่งในไฮไลท์ที่ประสบความสำเร็จ ได้เสียงตอบรับอย่างล้นหลาม และเป็นภาพจำของคอนเสิร์ตเบิร์ด-ธงไชยในหลายๆ ครั้ง จุดเริ่มต้นมาจากคอนเสิร์ตกึ่งมิวสิคัล ครั้งแรกที่ชื่อว่า เบิร์ด เปิ๊ด-สะ-ก๊าด ซึ่งจัดขึ้นเมื่อปี 35 ปีที่แล้ว พร้อมโชว์บทเพลงลูกกรุงหวานชื่นที่เป็นอมตะ โดยใช้ฉากหลังเป็นยุค พ.ศ.2501 ซึ่งหลายคนอาจยังไม่เคยรู้ว่าเป็นกิมมิกการใช้ปีเกิดของเบิร์ด-ธงไชยนั่นเอง และแฟนๆ ในยุคหลังต้องเซอร์ไพรส์เมื่อได้เห็นว่า “ป๋าเต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม” เคยปรากฏตัวบนเวทีคอนเสิร์ตครั้งนี้ในฐานะแขกรับเชิญอีกด้วย
ต่อมาในคอนเสิร์ต แบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ อยากเห็นท้องฟ้า…เป็นอย่างในฝัน นับเป็นอีกครั้งที่ผู้ชมได้เห็นงานโปรดักชั่นสุดอลังการ ทั้งการใช้สลิงและผ้าม่านผืนยักษ์บนเวที และการโชว์ มิวสิคัล โดยมี “นัท มีเรีย” มารับบทนางเอกสาว โดยทั้งร้องเพลงและแสดงบนเรือขนาดยักษ์ชื่อว่า “ชลาลักษณ์” ที่สร้างขึ้นเพื่อโชว์นี้โดยเฉพาะ และหลังจากนั้นไม่นาน เบิร์ด-ธงไชย ก็ได้เปิดการแสดงมิวสิคัล เต็มรูปแบบครั้งแรกในคอนเสิร์ต แบบเบิร์ดเบิร์ด อโรคา จอมยา กับยาใจ หนึ่งในโชว์ที่สร้างปรากฏการณ์เป็น ทอล์คออฟเดอะทาวน์ โดยแบ่งการแสดงออกเป็น 2 เวอร์ชั่น แบบ DOUBLE CAST สลับกันแสดงโดย 2 นางเอก คือ นิโคล เทรีโอ และ นัท มีเรีย สองศิลปินหญิงที่โดดเด่นทั้งด้านการร้องและการแสดงแห่งยุค ซึ่งชุดสุดอลังการทั้งหมดที่ใช้ในการแสดงล้วนเป็นวัสดุรีไซเคิล “ทำมือ” ทั้งสิ้น
#4 แดนซ์กระจายกับท่าเต้นอันเป็นที่จดจำ
ต่อให้ไม่ได้เป็นแฟนคลับก็ทราบดีว่าคอนเสิร์ตของ “เบิร์ด-ธงไชย” ต้องมีจังหวะแดนซ์กระจายให้ไฟลุก พร้อมท่าเต้นที่เป็นเอกลักษณ์และเป็นที่จดจำในทุกๆ การแสดง เช่น เพลง “อาบน้ำ” ที่พี่เบิร์ดจัดเต็มโชว์เต้นบนน้ำในคอนเสิร์ต Thongchai เปิดสไมล์คลับ หรือเพลง “แฟนจ๋า” ที่มีท่าเต้นสุดไอคอนิกให้แฟนๆ เต้นตามกันได้ทั้งฮอลล์ในคอนเสิร์ต ฟ.แฟน และ ฟ.แฟน ฟัน แฟร์
และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในคอนเสิร์ต “แบบเบิร์ดเบิร์ด” ที่เน้นความบันเทิงและการแสดง ไม่ว่าจะเป็นแบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ ที่มี่การเต้นเพลง จับมือกันไว้ เป็นครั้งแรก แบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ ที่มีทั้งท่าเต้นภาษามือเป็นครั้งแรก และการแสดงนกคนในเพลง นางนวล มาจนถึง ท่าเต้นเพลง “รักกันมั้ย” ที่ได้ “แต้ว-ณฐพร” นักแสดงสาวมากความสามารถมาเป็นแขกรับเชิญและร่วมจอยไปกับการแสดงที่แฟนๆ ต้องกรี๊ดใน แบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ ตอน Dream Journey
#5 โดดเด่นด้วย แขกรับเชิญพิเศษระดับตำนาน
ดังที่กล่าวไปข้างต้นว่าคอนเสิร์ตของ “เบิร์ด-ธงไชย” คือภาพจำแห่งยุคสมัย ใครเด่นใครดังในยุคนั้นย่อมไม่พลาดเป็นส่วนหนึ่งในฐานะแขกรับเชิญให้กับคอนเสิร์ตของศิลปินระดับตำนานผู้นี้ และหนึ่งในคอนเสิร์ตที่ยังได้รับการกล่าวขานมาจนปัจจุบัน คือคอนเสิร์ต ขนนกกับดอกไม้ เมื่อปี 1995 ที่รวมตัว Diva ที่สุดของศิลปินหญิงแห่งยุค 90 ได้แก่ ใหม่ เจริญปุระ, คริสติน่า อากีลาร์, มาช่า วัฒนพานิช, ศรัณย่า ส่งเสริมสวัสดิ์ และ แอม-เสาวลักษณ์ ลีละบุตร มาพบกับ Divo แห่งยุคอย่าง เบิร์ด-ธงไชย และร่วมกันขับขานบทเพลงที่กลายเป็นตำนาน จากนั้นอีก 19 ปีต่อมา เหล่า Diva ทั้งห้าก็ได้กลับมารวมตัวกันสร้างปรากฏการณ์อีกครั้งในคอนเสิร์ต ขนนกกับดอกไม้ The Original Returns ปี 2015 พร้อมด้วยแขกรับเชิญพิเศษ ปุ๊-อัญชลี จงคดีกิจ ซึ่งคอนเสิร์ตครั้งนี้เปิดการแสดงถึง 4 รอบ มีผู้ชมกว่า 40,000 ที่นั่ง ตอกย้ำตำนานที่จะคงอยู่ตลอดไป
นอกจากนี้ ยังมีคอนเสิร์ต ขนนกกับดอกไม้ ตอน Secret Garden ที่ได้รวบรวมเอาทั้งนักร้องและนักแสดงแถวหน้าของยุคอย่าง ดา เอ็นโดรฟิน, ลุลา, นิว-จิ๋ว และ ชมพู่ อารยา เอ ฮาร์เก็ต มาขึ้นแสดงอยู่บนเวทีเดียวกัน พร้อมไฮไลท์สุดเซอร์ไพรส์กับการแสดงเพลง ขอใจเธอแลกเบอร์โทร เพลงฮิตแห่งปีของหญิงลี ศรีจุมพล
เตรียมเลือก คอนเสิร์ต ลงลิสต์กันให้พร้อม แล้วไปยิงยาวกับทั้ง 32 คอนเสิร์ต ตลอด 36 ปีของ “เบิร์ด-ธงไชย” แบบครบจบในที่เดียวได้ที่ : https://www.netflix.com/BirdThongchaiConcert