บันเทิง

จินตนาการสุดยอดของ'คัวรอน'

จินตนาการสุดยอดของ'คัวรอน'

04 ต.ค. 2556

จินตนาการสุดยอดของ "คัวรอน" : คอลัมน์ หนังโรงเล็ก โดย... นันทขว้าง สิรสุนทร


   
          ที่ระดับความสูง 600 กิโลเมตรเหนือพื้นโลกและอุณหภูมิแปรผันอยู่ที่ระหว่าง 258 และ -148 องศาฟาเรนไฮต์ ที่ไม่มีเสียง ไม่มีความกดอากาศ ไม่มีออกซิเจน และไม่มีทางใช้ชีวิตในอวกาศได้
 
          ถ้าเป็นโจทย์แบบนี้คงยากที่ใครจะรอดชีวิต เพราะมันยากกว่าตัวละครในหนัง 2012 และยากกว่าแจ็คกับโรสใน Titanic แต่ อัลฟองโซ คัวรอน นำมาปั้นเป็นหนังยอดเยี่ยม ดังระเบิดในเทศกาลหนังเวนิส
    
          “ผมสนใจเรื่องเกี่ยวกับอวกาศและการสำรวจอวกาศมาโดยตลอด” อัลฟองโซ คัวรอน ผู้กำกับบอก “ในมุมหนึ่งมันก็เป็นความใฝ่ฝันในจินตนาการเรื่องการดึงตัวเองออกจากโลกของเรา แต่ในอีกหลายมุมมันก็นึกภาพไม่ออกเลยว่าชีวิต ณ จุดนั้นจะเป็นอย่างไร”

          ในวงโคจรที่ระดับหลายร้อยไมล์จากโลก มีกลุ่มคนที่ต้องทำงานในสถานที่ซึ่งแยกความเป็นกับความตายเพียงเสี้ยวเดียว ความเสี่ยงจากการเดินทางด้วยยานอวกาศเกิดขึ้นในช่วงเวลาหลายสิบปี ตั้งแต่ที่เราเริ่มมีการผจญภัยเหนือชั้นบรรยากาศของเราเองเป็นครั้งแรก… ซึ่งอันตรายที่ก่อตัวมากขึ้นนั้นมาจากมนุษย์ เศษซากขยะจากภารกิจในอดีตและดาวเทียมสื่อสารที่ไม่ใช้งานแล้ว ทำให้มีเศษซากที่ก่อให้เกิดหายนะขึ้นมาได้อย่างฉับพลัน องค์การนาซาถึงกับตั้งชื่อโครงการให้ว่า the Kessler Syndrome

          เดวิด เฮย์แมน ผู้สร้าง “Gravity” ร่วมกับคัวรอนยอมรับว่า “นี่คือเรื่องจริง ตะปูทุกตัวหรือทุกชิ้นส่วนของขยะที่ทำหล่นหรือทิ้งไว้ในระดับความเร็วของการโคจรที่เร็วมาก ซึ่งหากมีการเคลื่อนชนกันจะยิ่งทำให้เกิดเศษตะกอนขยะมากขึ้น นี่เป็นอันตรายถึงชีวิตสำหรับมนุษย์อวกาศ ยานอวกาศ และอาจรวมถึงเราบนโลกด้วย”
แซนดรา บุลล็อค รับบท ไรอัน สโตน มนุษย์อวกาศมือใหม่ในเรื่อง “Gravity” เธอได้ศึกษาถึงปัญหาจากผลกระทบเหล่านั้น เธอเล่าว่า “ฉันเคยคิดว่ามนุษย์อวกาศเหล่านั้นอยากไปอยู่ในอวกาศเพราะความตื่นเต้นและการผจญภัย ตอนที่ฉันได้คุยกับพวกเขา ฉันยิ่งหลงรักโลกใบนั้นมากขึ้น ความงดงามของโลกจากมุมมองของพวกเขา การได้เห็นมหาสมุทร ภูเขา แสงสว่างจากเมืองต่างๆ มันน่าอัศจรรย์เมื่อรู้ว่าเราเป็นสิ่งมีชีวิตที่เล็กแค่ไหนในจักรวาลอันยิ่งใหญ่แห่งนี้

          จอร์จ คลูนีย์ ผู้ร่วมแสดงกับบุลล็อคกล่าวเสริมว่า “ผมโตมาในยุคของอวกาศ ผมเกิดในยุคนั้นเลยชอบเรื่องการสำรวจอวกาศมาโดยตลอด และผมก็ทึ่งกับบุคคลเหล่านั้นที่สำรวจมาแล้ว พวกเขาคือนักบุกเบิกผู้ยิ่งใหญ่รุ่นสุดท้ายเลยล่ะ"
        
          แต่การสำรวจครั้งนั้นทำให้เกิดผลสืบเนื่องตามมา บุลล็อคเล่าว่า “มันน่าเศร้าเมื่อคิดว่าไม่ได้มีแค่การทำลายบนโลกเท่านั้น แต่ยังมีที่เรามองไม่เห็นอีกด้วย เช่น ขยะที่เวียนวนอยู่เหนือตัวเรา” หลักฐานนั้นกลายเป็นตัวเร่งการต่อสู้อย่างเจ็บปวดเพื่อเอาชีวิตรอดในเรื่อง “Gravity” ที่จะพาคุณสู้ห้วงอวกาศอันน่ากลัวและไร้อากาศ
    
          หนังเปิดฉากด้วยห้วงแห่งความเงียบเหนือชั้นบรรยากาศโลก ซึ่งเป็นแนววงโคจรของ Shuttle Explorer ไรอัน สโตน ผู้ชำนาญด้านภารกิจที่ได้รับมอบหมายต้องติดแขนหุ่นยนต์ที่มีการติดตั้งระบบสแกน Hubble Telescope รุ่นใหม่ ดร.สโตน รู้สึกไม่สบายใจอย่างเห็นได้ชัดกับสภาพไร้แรงโน้มถ่วง ต่างจากผู้นำภารกิจแมตต์ โควัลสกี ที่ไร้ความกังวลอย่างชัดเจนในการเดินทางสู่ห้วงอวกาศครั้งสุดท้าย โควัลสกี รับบทแสดงโดยคูนีย์ที่สนุกกับการทดสอบอุปกรณ์จรวดชิ้นใหม่ที่นำเขาสู่การล่องลอยอย่างไร้ขีดจำกัดในรูปแบบเดิม
    
          อีกด้านหนึ่งของโลกคือ มีการทำลายดาวเทียมที่ตกรุ่นอย่างตั้งใจ ซึ่งจะส่งเศษขยะที่แหลมคมเข้าไปในอวกาศ โดยสร้างปฏิกิริยาลูกโซ่ทำให้ซากปรักหักพังที่เคลื่อนตัวอย่างรวดเร็วเคลื่อนตัวชนผู้สำรวจอย่างรวดเร็ว ผลกระทบที่เลี่ยงไม่พ้นคือ หายนะ การทำลายกระสวยอวกาศและปล่อยให้สโตนกับโควัลสกีให้อยู่อย่างเดียวดาย ขาดการติดต่อสื่อสารกับศูนย์ควบคุม ทุกช่องทาง…รวมถึงการได้รับความช่วยเหลือในทุกด้าน ในการล่องลอยอย่างเคว้งคว้าง ทั้งคู่ต้องสังเกตข้อกำหนดที่ผ่านมาและทิ้งความเชื่องช้าหากพวกเขาอยากกลับไปยังโลก
    
          Gravity เป็นการร่วมเขียนบทระหว่างอัลฟองโซ คัวรอน และโจนัส ลูกชายของเขา ซึ่งถือเป็นการร่วมงานกันครั้งแรกอย่างเป็นทางการ “ผมได้แรงบันดาลใจของหนังเรื่องนี้จากจินตนาการของโจนัส” อัลฟองโซกล่าว “ผมสนใจในสถานการณ์เรื่องความเป็นตาย ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเล่นกับมุมมองของตัวละครเดียว แต่ขณะเดียวกันการสร้างเรื่องราวให้เกิดขึ้นในอวกาศก็ทำให้หนังมีขอบเขตกว้างขึ้นและมีการเปรียบเทียบในเชิงความเป็นไปได้”
    
          โจนัส คัวรอน กล่าวเสริมว่า “จินตนาการเรื่องอวกาศมีความน่าสนใจสำหรับเราทั้งคู่ มันเป็นสภาวะที่ยากต่อการเอาชีวิตรอด ระยะทางหลายพันไมล์ห่างจากจุดที่เราเรียกว่าบ้าน ถือเป็นความเพอร์เฟกท์ของภาพยนตร์ ปัญหาที่เกิดขึ้นและต้องหาทางกลับมาให้ได้ อีกทั้งเราอยากให้เรื่องราวมีความสมจริง จึงต้องค้นหาข้อมูลอย่างกว้างขวางครอบคลุมจนคุ้นเคยกับการค้นข้อมูลเรื่องอวกาศเพื่อสร้างฉากให้มีความสมจริง”
    
          ในช่วงแรกอัลฟองโซ คัวรอน ขอความช่วยเหลือจากผู้อำนวยการสร้าง เดวิด เฮย์แมน ที่เคยร่วมงานในเรื่อง “Harry Potter and the Prisoner of Azkaban” เฮย์แมนเล่าว่า เขามีความสุขที่มีโอกาสร่วมงานกับผู้กำกับอีกครั้ง “ผมรู้สึกเป็นเกียรติมากที่เขาชวนผมมาร่วมงานด้วย อัลฟองโซเป็นผู้สร้างภาพยนตร์คนหนึ่งที่เก่ง เป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์และมีจินตนาการอย่างไม่หยุดยั้ง เขามีพลังเหลือล้นและทำให้ทุกคนที่อยู่รอบตัวสร้างผลงานได้ดียิ่งขึ้น
    
          “สิ่งที่ผมชอบในบทภาพยนตร์คือมีทั้งความเป็นหนังแบบทั่วไป แต่ก็มีอะไรอีกหลายอย่างมากกว่านั้น” เฮย์เล่าต่อว่า “แล้วผมจะไม่อยากร่วมงานด้วยได้ไง? จากนั้นการลงมือสร้างภาพยนตร์ก็เริ่มเป็นรูปร่างขึ้นมา”

          หลังจากนั้นไม่นานผู้สร้างได้พบว่าต้องผลักดันขอบข่ายการสร้างภาพยนตร์ให้เป็นการถ่ายทอดเรื่องราวทั้งหมดในสภาพไร้แรงโน้มถ่วง “ผมขอออกตัวเลยว่าตัวเองยังอ่อนประสบการณ์ คิดว่าการทำหนังจะง่ายกว่านี้เยอะ” คัวรอนยอมรับ “ผมรู้ว่ามันต้องใช้เทคนิคหลายอย่าง แต่ไม่รู้จนกระทั่งได้ใช้เทคนิคพื้นฐาน ผมจึงลำดับการสร้างหนังเรื่องนี้แบบที่ผมอยากทำ เรากำลังจะสร้างความแปลกใหม่ยกชุดขึ้นมา”

          ในการสร้างความสำเร็จขึ้นมา คัวรอนต้องขอความช่วยเหลือจากตากล้อง เอ็มมานูเอล “ชีโว” ลูบีสกี และผู้ควบคุมวิชวลเอฟเฟกท์ ทิม เวบเบอร์ แห่ง Framestore “ตั้งแต่ช่วงแรกชีโว ทิม และผมลงมติกันว่าเราอยากให้ภาพทั้งหมดดูเหมือนเราเอากล้องไปถ่ายทำในอวกาศ มันเป็นความใฝ่ฝันของผมเลย แต่แน่นอนว่ามันไม่มีทางทำได้หรอก” คัวรอนยิ้ม

          หากจะชี้แจงง่ายๆ แม้มันจะไม่ง่ายเลย ผู้สร้างภาพยนตร์ไม่อยากให้มีอะไรดูเหมือนกับโลกไซไฟแฟนตาซี แต่อยากให้ดูสมจริงด้วยภาพบรรยากาศที่ล่องลอยในสิ่งแวดล้อมที่ยากลำบากอย่างที่มนุษย์เข้าใจ ซึ่งจุดมุ่งหมายนั้นได้กลายเป็นตัวพลิกเกม

          Gravity ได้คะแนนจาก Rotten Tomatoes มากถึง 94% จากเกือบ 100 ความเห็น แสดงว่า ข่าวที่หนังฮือฮาในเทศกาลหนังเวนิส และเป็นข่าวในเว็บของ Time ไม่ใช่เป็นแท็กติกการโปรโมท
    
          และนี่คือหนังนำขบวนของ "กองทัพหนังดี" ที่บุกโรงตั้งต้นตุลาคมบ้านเราในเวลานี้..

......................................
(หมายเหตุ  จินตนาการสุดยอดของ "คัวรอน" : คอลัมน์ หนังโรงเล็ก โดย... นันทขว้าง สิรสุนทร)