"ครูก้อย นัชชา" ภรรยา "เจมส์ เรืองศักดิ์" เปิดใจ หลังสู้กลับปัญหามีบุตรยาก
เป็นอีกหนึ่งครอบครัวคนบันเทิง ที่มีแฟนคลับติดตามแบบต่อเนื่อง สำหรับ ครอบครัวของ นักร้อง นักแสดงชื่อดัง "เจมส์ เรืองศักดิ์" กับ ภรรยาคนเก่ง "ครูก้อย นัชชา" ที่ล่าสุดก็ออกมาเปิดเผยทริค เคล็ดลับดีๆ ให้กับครอบครัวที่กำลังประสบปัญหาเรื่องมีบุตรยาก
โดยล่าสุดวันนี้ (18 ตุลาคม 2565) "ครูก้อย นัชชา" ครูวิทยาศาสตร์ ภรรยาคนเก่งของ นักร้อง นักแสดงชื่อดัง "เจมส์ เรืองศักดิ์" ผู้ก่อตั้ง เพจเบบี้แอนด์มัม https://www.facebook.com/BabyAndMom.co.th/ เพจให้ความรู้เตรียมตั้งครรภ์ สำหรับผู้มีบุตรยาก ก็ได้บอกเล่าของจุดเริ่มของการเป็นที่ปรึกษาให้ความรู้เตรียมตั้งครรภ์ตามหลักวิทยาศาสตร์สำหรับผู้มีบุตรยากว่า "จริงๆ ไม่ได้คิดว่าตนเองเป็นถึงผู้เชี่ยวชาญ เป็นแค่ผู้หญิงคนหนึ่งที่มีประสบการณ์ด้านมีบุตรยาก และ ผ่านกระบวนการรักษาผู้มีบุตรยากตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงเทคโนโลยีสูงสุด จนสามารถที่จะจับจุดบางจุดได้ว่ามีเทคนิคบางอย่าง มีการเตรียมตัวอะไรบางอย่าง ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการทางการแพทย์ เพื่อเพิ่มโอกาสความสำเร็จในการมีบุตร มันไม่ใช่มีเงินอย่างเดียวที่จะเป็นคำตอบว่าความสำเร็จจะมา คุณอาจจะมีเม็ดเงินเยอะก็จริง แต่ใจเราจะเฟล เมื่อไหร่ที่เฟลทุกอย่างคือจบ มันจะไม่ไปต่อ ครูก้อย เคยเจอเคสคนใส่ตัวอ่อนถึง10 ครั้ง เคยอิ๊กซี่กระตุ้นไข่ถึง 8 ครั้ง มันควรจะทำครั้ง สองครั้งแล้วติด ซึ่งมีเงินแล้วทำ ไม่ใช่ Key To Success แต่ความสำเร็จมาจากความสมบูรณ์ของร่างกาย ครูก้อย เคยผ่านจุดที่เคยที่แท้งลูกร้องไห้แม้กระทั้งในฝัน ความฝันยังเป็นฝันที่ร้องไห้ ซึ่ง ครูก้อย เชื่อว่าถ้าใครไม่มายืนอยู่ในตำแหน่งของผู้มีบุตรยาก เราไม่มีทางที่จะรับรู้ความรู้สึกนั้น"
นอกจากนี้ "ครูก้อย นัชชา" ภรรยาคนเก่งของ "เจมส์ เรืองศักดิ์" ก็ยังเล่าให้ฟังถึงเรื่องการมีบุตรยาก กว่าจะมี "น้องเมดา" อีกว่า "จุดเริ่มต้นคือ ความผิดหวัง และ ความล้มเหลว จากการตั้งครรภ์ลูกคนแรกในวัย 34 ปี ด้วยวิธีแบบธรรมชาติ แต่แท้งไป เพราะเด็กไม่มีหัวใจ ซึ่งตอนนั้นเป็นจุดเริ่มต้น ของเพจเบบี้แอนด์มัมที่ ครูก้อย บอกว่าทำไม ครูก้อย ดราม่าแม้กระทั้งร้องไห้ในฝัน ว่าทำไมลูกเราถึงไม่ไปต่อ ทำไมลูกเราไม่มีหัวใจ ทำไมลูกเราถึงแท้ง ครูก้อย หยุดดราม่าด้วยความสตรอง และองค์ความรู้ ด้วยความเป็นเด็กสายวิทย์ฯ ครูก้อยเป็นนักเรียนทุนโครงการส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ จบสาขาชีวฟิสิกส์ (Bio-Physics) ทั้งปริญญาตรีและปริญญาโท และเป็นครูสอนฟิสิกส์และวิทยาศาสตร์ 8 ปี เมื่อให้โอกาสตัวเองเสียใจแล้ว ได้ใช้การศึกษาค้นคว้าองค์ความรู้ต่างๆ จะเรียกว่าใช้ความล้มเหลวของตัวเองเป็นเคสสตัดดี้ ศึกษาปัญหานั้นให้เข้าใจแบบถ่องแท้ พอเราสืบค้นจริงๆ รู้เลยว่าสาเหตุการแท้งเกิดจากความผิดปกติของโครโมโซม เมื่อโครโมโซมผิดปกติก็แท้งไปเป็นตามธรรมชาติคัดสรร"
หลังจากนั้น "ครูก้อย นัชชา" ภรรยาของ "เจมส์ เรืองศักดิ์" เริ่มเข้าสู่กระบวนการทางการแพทย์ในการรักษาผู้มีบุตรยาก โดยเริ่มจากกระบวนการทำ IUI (Intra – Uterine Insemination) หรือ การฉีดเชื้ออสุจิเข้าสู่โพรงมดลูกโดยตรง ซึ่งเป็นกระบวนการเริ่มต้นในการรักษาผู้มีบุตรยาก เพราะที่ผ่านมา ครูก้อย มีภาวะ PCOS คือภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ ซึ่งทำให้ไข่ไม่ตกตามธรรมชาติจะนับวันไข่ตกไม่ได้ตามธรรมชาติ เพราะฉะนั้น โอกาสที่จะท้องตามธรรมชาติค่อนข้างยาก ซึ่งการทำ IUI คือการฉีดเชื้ออสุจิที่ผ่านการคัดกรองตัวที่แข็งแรงเข้าไปในโพรงมดลูกโดยตรง ในวันที่ใช้ฮอร์โมนบังคับให้ไข่ตก โดยตัวอสุจิจะว่ายไปปฏิสนธิกับไข่ที่ท่อนำไข่เอง ตอนนั้นทำ IUI 2 รอบไม่ประสบความสำเร็จ แล้วทำไมมันยังไม่ได้? ครูก้อยก็เลยสืบค้นมากขึ้นไปอีก จึงได้ทราบว่า การที่ไข่ตก แล้วสเปิร์มไปเจอไข่ไม่ได้แปลว่าท้อง มันจะปฏิสนธิได้ต่อเมื่อไข่ใบนั้นสมบูรณ์ หรือ สเปิร์มสมบูรณ์จริง ๆ หรือสเปิร์มมีปัญหาก็เจาะไข่ไม่เข้า เพราะฉะนั้นทำการบ้านในวันไข่ไม่ได้การันตีว่าคุณท้อง สิ่งที่การันตีว่าคุณท้องคือ ไข่คุณมีคุณภาพไหม สเปิร์มคุณมีคุณภาพหรือไม่ หากเกิดการปฏิสนธิตัวอ่อนต้องเคลื่อนมาฝังตัวที่ผนังมดลูก อีกปัญหาคือ มดลูกมีปัญหาไหม บางทีอาจจะปฏิสนธิได้ แต่มีปัญหาเรื่องของการฝังตัวก็เป็นได้ จึงเป็นที่มาให้ครูก้อยสืบค้นทุกๆ จุด ทุกๆ เปอร์เซ็นต์ ที่จะมีผลต่ออัตราความสำเร็จของการตั้งครรภ์
"ครูก้อย นัชชา" จึงตัดสินใจใช้วิธีการทำอิ๊กซี่ (ICSI) ซี่งครั้งนั้นไม่สำเร็จเพราะด้วยครูก้อยมี ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS) และภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไป ทางการแพทย์เรียกว่า ภาวะ Ovarian Hyperstimulation Syndrome (OHSS) จนเกือบเอาชีวิตไม่รอด ซึ่งมีแค่ 1% เท่านั้นที่จะเจอแบบนี้ จึงหยุดฮอร์โมนเพื่อรักษาชีวิต แต่เมื่อผลของการใช้ฮอร์โมนไม่ครบโดส หยุดการให้ฮอร์โมน ทำให้ไข่ที่ได้จากการกระตุ้นครั้งนั้น แม้จะเก็บไข่ได้ 18 ฟอง แต่แท้จริงแล้วมีแค่2ฟองที่ผ่านเข้าสู่กระบวนการเลี้ยงตัวอ่อนได้แค่เดย์2 และย้ายกลับสู่โพรงมดลูก ตอนนั้นคุณหมอแจ้งแค่ว่า ไข่ที่เหลือเป็นไข่ที่ไม่มีนิวเคลียส ครูก้อยจึงสืบค้น ภาวะไข่ไม่มีนิวเคลียส (Empty Follicle Syndrome) หรือไม่มีไข่แดง ไม่สามารถเอาไปผสมกับอสุจิให้เกิดการปฏิสนธิได้ มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก มีโอกาสเกิดขึ้นได้ 1 % ของผู้หญิงที่เข้าทำเด็กหลอดแก้ว เกิดขึ้นได้จาก ที่ร่างกายดูดซึมยาผิดปกติ หรือการได้รับโดสยาผิดปกติ หรือการฉีดยาที่ไม่ตรงเวลา หรือ ภาวะทุพโภชนาการ (Malnutrition) เป็นภาวะที่ร่างกายได้รับสารอาหารหรือพลังงานในปริมาณที่ไม่เหมาะสม หรือไม่มีสารอาหาร ไข่ก็ถูกดันโดยฮอร์โมน ให้ขึ้น 20 ฟอง อาหารที่เรารับประทานปกติในแต่ละวันอาจจะเพียงพอสำหรับไข่ 1 ฟอง ที่ตกตามธรรมชาติ แต่ไข่ที่ถูกกระตุ้นให้ขึ้นพร้อมกัน20ฟอง ในเวลาเดียวกัน แต่เรายังกินอาหารแบบเดิม เท่าเดิม บางทีอาจจะไม่มีโภชนาการอะไรเลย ไม่สามารถที่จะดันไข่ทั้งหมด ให้มีคุณภาพได้ แน่นอนว่าครั้งแรกครูก้อยล้มเหลวอีก
พอไม่ติดก็สืบค้นศึกษางานวิจัยเกี่ยวกับภาวะมีบุตรยาก และ โภชนาการเสริมภาวะเจริญพันธุ์เพิ่มพอนำความรู้ในปัจจุบันย้อนไปดูตัวอ่อนของเรา 2 ตัว เป็นตัวอ่อนที่ร้ายมาก มีขยะเซลล์ เดย์2 มันยังมีแค่2 ถึง 4 เซลล์เป็นเซลล์ที่ไม่สามารถบอกอะไรได้เลยแต่เรามีแค่นั้น หมอก็ใส่ให้แค่นั้น อันนี้เป็นจุดที่ทำให้ครูก้อยคิดแล้ว ตัดสินใจแบบพลิกเลยว่า เข้าใจแล้วว่าเทคโนโลยีทางการแพทย์ช่วยเสริม ช่วยจับ ช่วยเจาะ ช่วยเลือก ตัวเราถ้าไม่มีอะไรไปให้เขาเลือกเขาก็เสกให้ไม่ได้ ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการทางการแพทย์ เราต้องบำรุงตัวเราก่อน บำรุงไข่ บำรุงผนังมดลูก ฝ่ายชายบำรุงสเปิร์ม ปรับสมดุลฮอร์โมนตัวเองไปก่อน แล้วไปเสิร์ฟคุณหมอ แล้วใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพราะครูก้อยเชื่อว่าต่อให้เราดันเทคโนโลยีสูงสุด 100% ใช้คุณหมอที่เก่งที่สุดในโลก ถ้าเสิร์ฟไข่ร้ายๆ ไม่มีไข่ในรังไข่ ก็ทำอะไรไม่ได้เหมือนกัน ตอนนั้นก็เลยรู้เลยว่า บำรุงก็ต้องดี เทคโนโลยีก็ต้องถึงมันต้องคู่กัน
นั้นคืออิ๊กซี่ครั้งแรก อิ๊กซี่ ครั้งที่ 2 เป็น ครูก้อย เบบี้แอนด์มัมแล้ว ที่มีการสืบค้นศึกษางานวิจัยและบำรุงตัวเองไปพร้อมกันๆ พร้อมกับวัดผลจากการไปอัลตร้าซาวด์ดูฟองไข่ เพราะทุกอย่างวัดผลได้เป็นตัวเลข ฮอร์โมนต้องดีขึ้น ฟองไข่ก็ต้องดีขึ้น เราจะไม่มโนว่าเราบำรุงไปแล้วมันจะดี เราต้องมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มาซัพพอร์ต ครั้งนั้นเป็นครั้งที่ประสบความสำเร็จตั้งครรภ์ "น้องเมดา" อันโดรเมดา ลอยชูศักดิ์ และครูก้อย ยังยอมเจ็บตัวเย็บปากมดลูกตั้งแต่ตั้งท้องน้องเมดาในเดือนที่ 4 ด้วยภาวะที่คอมดลูกสั้น จึงมีความเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนด และ ยอมผ่าคลอดเพื่อให้ "น้องเมดา" นั้นลืมตาดูโลก อย่างปลอดภัยที่สุด พร้อมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ต่างๆ ผ่านทางเพจ จนมีแม่ๆ เข้ามาติดตามจำนวนมาก
หลังจากคลอด "น้องเมดา" ไปแล้วจน "น้องเมดา" อายุได้ 2 ขวบ ครูก้อย ตัดสินใจกระตุ้นไข่ใหม่ ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 เชื่อไหมว่าการบำรุงของครูก้อยที่เป๊ะมากๆ เป็นปีๆ ในวัย 37 ปี กับการกระตุ้นไข่ เมื่อเทียบกับวัย 35 ปี ปรากฏว่าในวัย 37 ปี ครูก้อยได้ไข่ดีกว่า จำนวนมากกว่า มีคุณภาพมากกว่าวัย 35 ปี จากครั้งนั้นที่ท้องน้องเมดา ครูก้อยได้ตัวอ่อน 4-6 ตัว ปัจจุบัน ครูก้อย ได้ตัวอ่อนระยะบลาสโตซิสต์ 10 ตัว จากไข่ 13 ฟอง ปฏิสนธิเป็นตัวอ่อน 12 ตัว และเลี้ยงไปจนถึงระยะบลาสต์โตซิสต์ 10 ตัว ซึ่งเป็นอะไรที่เกินสถิติมากๆ และทุกวันนี้ยังมีลูกสแปร์ไว้พร้อมที่จะฝังตัวอ่อน เหมือนเป็นเคสสตัดดี้ให้แม่ๆ เห็นว่า ถ้าคุณเตรียมตัวดี โอกาสความสำเร็จมันก็สูง"
เท่านั้นยังไม่พอ "ครูก้อย นัชชา" ภรรยาของ "เจมส์ เรืองศักดิ์" ยังยอมรับว่าจุดเริ่มของเพจและเว็บไซต์เบบี้แอนด์มัม คือความล้มเหลวของตัวเอง และต้องการจดองค์ความรู้ที่สืบค้นนั้นไว้เป็นบันทึก ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไปจึงเลือกจดลงบนโซเชียลมีเดีย บนเฟซบุ๊กด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย และด้วยการศึกษาทำความเข้าใจแบบลงลึกทำให้เพจเบบี้แอนด์มัม และการเข้ารับการปรึกษาเพื่อแก้ปัญหาให้กับผู้มีบุตรยาก จึงได้รับการบอกกล่าวแบบปากต่อปาก จนปัจจุบันมีเคสที่เข้ารับคำปรึกษากว่า 2 หมื่นเคส เมื่อปี 2564
"ครูก้อย นัชชา" ยังเล่าความในใจถามว่าเป็นภรรยา "เจมส์ เรืองศักดิ์" เป็นแม่บ้าน เลี้ยงลูกก็ได้ คือความสุขของคนเราอาจจะไม่ใช่การใช้ชีวิตไปวันๆ และก็มีอาหารดีๆ กิน ไปโรงเรียนอินเตอร์ไปรับลูก ทำเล็บ มันอาจจะไม่ใช่อย่างนั้น แต่ความสุขของครูก้อย คือ เรามีโอกาสได้สร้างอะไรไว้ให้คนอื่นบ้าง กับโลกนี้บ้าง ตามที่ความรู้เราได้เรียนมา ครูก้อยเป็นนักเรียนทุนโครงการส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เราเรียนวิทยาศาสตร์มาโดยตรงทั้งปริญญาตรี และ ปริญญาโท และเรามีความรู้มีกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่คิดว่าเพียงพอที่จะสืบค้นสิ่งต่างๆ ได้อย่างลึกซึ้ง และก็สามารถที่นำมาสรุปและนำสู่คนอื่นๆ ได้ ครูก้อยเชื่อว่าความรู้ที่มี สิ่งที่ได้เรียน ประกอบการกับถ่ายทอดที่ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย มันไม่ควรจะจบแค่ว่า ครูก้อย แต่งงานกับดารา มีเงินใช้และก็มีลูกมันควรจะมีประโยชน์ให้กับคนอื่นมากกว่านั้น และก็ความที่เรามีชีวิตอยู่ทุกวันนี้มันไม่ใช่แค่เงินทองมันคือความภูมิใจ
สำหรับคุณแม่ที่มีภาวะมีบุตรยาก "ครูก้อย นัชชา" กล่าวให้กำลังใจว่า ตราบใดที่คุณแม่มีไข่เชื่อเถอะว่าสามารถตั้งครรภ์มีบุตรได้ เพราะเคสที่ครูก้อยเจอและคิดว่ายากที่สุดคือ ภาวะรังไข่เสื่อมสภาพ อาการคล้ายกับคนวัยทอง ไม่มีประจำเดือน ซึ่งมีคนบอกว่าหากอยากตั้งครรภ์ต้องรอไข่บริจาค คุณแม่รายนี้มาหาครูก้อย บอกว่าไม่อยากใช้ไข่บริจาค ทำให้ครูก้อยเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้ ทั้งการบำรุง และแนะนำวิธีทางการแพทย์ เมื่อเข้ากระบวนการมีไข่แค่ 2 ใบ แต่ด้วยการดูแลตัวเอง มีความหวัง ยอมรับปัญหา ทำให้คุณแม่ในเคสที่ยากที่สุดประสบความสำเร็จตั้งท้องและมีบุตรให้อุ้มชูได้ ทั้งนี้จากประสบการณ์ที่ครูก้อยให้คำปรึกษากับผู้มีบุตรยากกว่า6 ปี และแบกความคาดหวังของคนที่อยากมีลูกแต่มียาก สิ่งที่ครูก้อยมอบให้กับคนที่มาปรึกษาทุกรายนอกจากองค์ความรู้ ข้อมูล ทางเลือกและวิธีที่ดีที่สุดแล้ว คือ กำลังใจ
เพราะครูก้อย เชื่อว่าเมื่อเราตั้งความหวังไว้ แต่ทำไม่สำเร็จ ย่อมเกิดภาวะผิดหวัง ดังนั้นสิ่งที่ครูก้อยจะให้เป็นอย่างแรก คือ กำลังใจ พร้อมวิเคราะห์สภาพปัญหา เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์เพื่อแก้ไข ให้เป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุดในแต่ละครอบครัว ครูก้อยเชื่อว่า หากเรามีความเชื่อว่าโอกาสสำเร็จเกิดขึ้นได้ ครูก้อยพร้อมมอบคำแนะนำ และหนทางไปสู่ความสำเร็จนั้น ขอเป็นกำลังใจให้กับผู้หญิงทุกคนที่อยากมีสรรพนามเรียกแทนตัวเองว่า แม่ และครูก้อยขอเป็นตัวช่วยให้กับทุกความฝันของการได้เป็นแม่ และอยากมีลูกเป็นแก้วตาดวงใจนั้นให้เป็นจริง
ติดตามเส้นทางชีวิตในการสู้กลับปัญหามีบุตรยากด้วยองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ของ "ครูก้อย นัชชา" ฉบับเต็มได้ที่ https://youtu.be/eJA2LTsQnWE
ติดตามข่าวสาร คมชัดลึก อื่นๆ ได้ที่
Facebook - https://www.facebook.com/komchadluek
LineToday - https://today.line.me/th/v2/publisher/100057
Instagram - https://www.instagram.com/komchadluek_online/