"ทนายหนุ่ม"ให้ความรู้ กรณีดาราตบหน้า ในต่างแดน "ม้า อรนภา"โผล่คอมเมนต์
กรณี ข่าว"ดารารุ่นใหญ่ตบหน้านักแสดงหนุ่มช่องน้อยสี" ในต่างประเทศ ที่หลายคนเฝ้าติดตามนั้น ล่าสุดมีข้อมูลจากทนายหนุ่มอีกท่าน ที่ออกมาแจงข้อกฎหมายชัดเจนว่า กรณีที่เกิดขึ้นจะมีแนวทางในการตัดสินผลออกมาอย่างไรบ้าง ขณะที่ "ม้า อรนภา"โผล่คอมเมนต์
หลายคนยังเฝ้าติดตามกันต่อกับกรณีข่าวดังที่ "ทนายตั้ม ษิทรา" ออกมาโพสต์ข้อความแฉพฤติกรรมดารารุ่นใหญ่ตบหน้านักแสดงหนุ่มช่องน้อยสี ในประเทศเกาหลีใต้ คนเป็นประเด็น เพราะว่าโยงไปยัง "ม้า อรนภา กฤษฎี"คนบันเทิงชื่อดัง
ขณะที่ตามข้อมูลนั้นวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 คือแพลนกลับมายังประเทศไทยของ "ม้า อรนภา" และมีแถลงข่าวใน วันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 กับเรื่องราวที่เกิดขึ้น ด้านนักแสดงหนุ่มช่องน้อยสี ต้องยังรอว่าจะออกมาแถลงหรือชี้แจ้งหรือไม่ ตามที่ทีมทนายได้ออกมาแถลงไปก่อนหน้านี้
ล่าสุดก็มีข้อมูลเพิ่มเติมออกมาให้ความรู้จากทนายหนุ่มอีกท่าน ที่ใช้เฟซบุ๊กชื่อว่า "Sappisansook Yodmongkhon" เปิดข้อกฏหมายตามมาตราต่าง ๆ โยงกรณีของ "เรื่องดาราท่านหนึ่งตบหน้าดาราอีกท่านหนึ่งที่เกาหลีใต้" และทางด้าน "ม้า อรนภา" เองก็ออกมาแสดงความเห็นชัดเจน ซึ่งมีเนื้อหาทั้งหมดว่า
"กรณีที่มีเรื่องดาราท่านหนึ่งตบหน้าดาราอีกท่านหนึ่งที่เกาหลีใต้ ซึ่งเมื่อดูจากคลิปเหตุการณ์แล้ว ไม่ได้รุนแรงอะไร และกระทำเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ทนายมองว่าตามกฎหมายไทย จะเข้าข่ายผิดกฎหมายอาญาม.391 ซึ่งเป็นลหุโทษคือ ผู้ใดใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งศาลอาจใช้ดุลพินิจในการจำคุกและปรับน้อยกว่านี้ก็ได้ ซึ่งโทษจำคุกให้รอลงอาญาเอาไว้ก็ได้ ตามแต่พฤติการณ์ความผิด และความร้ายแรงของคดี
ต่อข้อสงสัยที่ว่าคดีประเภทนี้สามารถนำมาฟ้องที่ศาลไทยได้หรือไม่ ทนายขอตอบว่าไม่ได้ครับ คดีลหุโทษที่กระทำนอกราชอาณาจักร แม้ผู้กระทำและผู้ถูกกระทำจะเป็นคนไทย แต่ก็ไม่ได้เป็นคดีที่สามารถนำมาฟ้องร้องดำเนินคดีในราชอาณาจักรได้ ลองมาดูข้อกฎหมายกันครับ
อ่านข่าว : สรุปดราม่า "ม้า อรนภา - ทนายตั้ม - นักแสดงชาย" ปมตบหน้า ชี้เพราะไม่กินปู
มาตรา 5 ความผิดใดที่การกระทำแม้แต่ส่วนหนึ่งส่วนใดได้กระทำในราชอาณาจักรก็ดี ผลแห่งการกระทำเกิดในราชอาณาจักร โดยผู้กระทำประสงค์ให้ผลนั้นเกิดในราชอาณาจักร หรือโดยลักษณะแห่งการกระทำ ผลที่เกิดขึ้นควรเกิดในราชอาณาจักร หรือย่อมจะเล็งเห็นได้ว่าผลนั้นจะเกิดในราชอาณาจักรก็ดี ให้ถือว่าความผิดนั้นได้กระทำในราชอาณาจักร
ในกรณีการตระเตรียมการ หรือพยายามกระทำการใดซึ่งกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด แม้การกระทำนั้นจะได้กระทำนอกราชอาณาจักร ถ้าหากการกระทำนั้นจะได้กระทำตลอดไปจนถึงขั้นความผิดสำเร็จ ผลจะเกิดขึ้นในราชอาณาจักร ให้ถือว่า การตระเตรียมการหรือพยายามกระทำความผิดนั้นได้กระทำในราชอาณาจักร
มาตรา 6 ความผิดใดที่ได้กระทำในราชอาณาจักรหรือที่ประมวลกฎหมายนี้ถือว่าได้กระทำในราชอาณาจักร แม้การกระทำของผู้เป็นตัวการด้วยกัน ของผู้สนับสนุน หรือของผู้ใช้ให้กระทำความผิดนั้นจะได้กระทำนอกราชอาณาจักร ก็ให้ถือว่าตัวการ ผู้สนับสนุน หรือผู้ใช้ให้กระทำได้กระทำในราชอาณาจักร
มาตรา 7 ผู้ใดกระทำความผิดดังระบุไว้ต่อไปนี้นอกราชอาณาจักรจะต้องรับโทษในราชอาณาจักร คือ
(1) ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามที่บัญญัติไว้
ในมาตรา 107 ถึงมาตรา 129
(2) ความผิดเกี่ยวกับการปลอมและการแปลง ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 240 ถึงมาตรา 249 มาตรา 254 มาตรา 256 มาตรา 257 และมาตรา 266 (3) และ (4)
(2 ทวิ)* ความผิดเกี่ยวกับเพศตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 282 และ มาตรา 283
(3) ความผิดฐานชิงทรัพย์ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 339 และความผิดฐานปล้นทรัพย์ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 340 ซึ่งได้กระทำในทะเลหลวง
มาตรา 8 ผู้ใดกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร และ
(ก) ผู้กระทำความผิดนั้นเป็นคนไทย และรัฐบาลแห่งประเทศที่ความผิดได้เกิดขึ้น หรือผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษ หรือ
(ข) ผู้กระทำความผิดนั้นเป็นคนต่างด้าว และรัฐบาลไทยหรือคนไทยเป็นผู้เสียหาย และผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษ
ถ้าความผิดนั้นเป็นความผิดดังระบุไว้ต่อไปนี้ จะต้องรับโทษภายในราชอาณาจักร คือ
(1) ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 217 มาตรา 218 มาตรา 221 ถึงมาตรา 223 ทั้งนี้ เว้นแต่กรณีเกี่ยวกับมาตรา 220 วรรคแรก และมาตรา 224 มาตรา 226 มาตรา 228 ถึงมาตรา 232 มาตรา 237 และมาตรา 233 ถึงมาตรา 236 ทั้งนี้เฉพาะเมื่อเป็นกรณีต้องระวางโทษตามมาตรา 238
(2) ความผิดเกี่ยวกับเอกสาร ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 264 มาตรา 265 มาตรา 266(1) และ (2) มาตรา 268 ทั้งนี้เว้นแต่กรณีเกี่ยวกับ มาตรา 267 และมาตรา 269
(3) ความผิดเกี่ยวกับเพศ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 276 มาตรา 280 และมาตรา 285 ทั้งนี้เฉพาะที่เกี่ยวกับมาตรา 276
(4) ความผิดต่อชีวิต ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 288 ถึงมาตรา 290
(5) ความผิดต่อร่างกาย ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 295 ถึงมาตรา 298
(6) ความผิดฐานทอดทิ้งเด็ก คนป่วยเจ็บหรือคนชรา ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 306 ถึงมาตรา 308
(7) ความผิดต่อเสรีภาพ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 309 มาตรา 310
มาตรา 312 ถึงมาตรา 315 และมาตรา 317 ถึงมาตรา 320
( ความผิดฐานลักทรัพย์และวิ่งราวทรัพย์ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 334 ถึงมาตรา 336
(9) ความผิดฐานกรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ และปล้นทรัพย์ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 337 ถึงมาตรา 340
(10) ความผิดฐานฉ้อโกง ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 341 ถึงมาตรา 344 มาตรา 346 และมาตรา 347
(11) ความผิดฐานยักยอก ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 352 ถึงมาตรา 354
(12) ความผิดฐานรับของโจร ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 357
(13) ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 358 ถึงมาตรา 360
ในเมื่อกฎหมายอาญาไม่ได้มีบัญญัติเอาไว้ว่าการกระทำความผิดลหุโทษต้องรับโทษในราชอาณาจักร การกระทำของคุณม้าอรนภา จึงไม่สามารถนำมาฟ้องร้องดำเนินคดีที่ศาลไทยได้ครับ
มาต่อกันตอนที่ 2 ครับว่า กรณีที่คุณม้า อรนภา กระทำความผิดลหุโทษกับคนไทย โดยการตบหน้า 1 ครั้ง ซึ่งผิดกฎหมายอาญา ม.391 ที่บัญญัติว่าผู้ใดใช้กําลังทําร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตราย แก่กายหรือจิตใจ ซึ่งความผิดเกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร จะสามารถให้มารับโทษอาญาที่ประเทศไทย ตามป.วิอาญา ม.20 หรือ ม.22 ได้หรือไม่ ก่อนอื่นมาดูข้อกฎหมายคร่าวๆกันครับ
ป.วิอาญามาตรา 20 มีหลักว่า กรณีความผิดที่มีโทษตามกฎหมายไทยได้กระทำลงนอกราชอาณาจักรไทย ให้อัยการสูงสุด หรือผู้รักษาการแทนเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ หรือจะมอบหมายหน้าที่ให้พนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนคนใดเป็นผู้รับผิดชอบทำการสอบสวนก็ได้....ซึ่งขออนุญาตสรุปว่ากรณีความผิดที่มีโทษตามกฎหมายไทยได้กระทำลงนอกราชอาณาจักร ให้อัยการสูงสุด หรือผู้รักษาการแทนเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ หรือจะมอบหมายหน้าที่ให้พนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนคนใดเป็นผู้รับผิดชอบทำการสอบสวนก็ได้
ป.วิอาญา มาตรา 22 มีหลักว่า เมื่อความผิดเกิดขึ้น อ้างหรือเชื่อว่าได้เกิดขึ้นในเขตอำนาจของศาลใด ให้ชำระที่ศาลนั้น แต่ถ้า
(2) เมื่อความผิดเกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร ให้ชำระคดีนั้นที่ศาลอาญา ถ้าการสอบสวนได้กระทำในท้องที่หนึ่งซึ่งอยู่ในเขตของศาลใดให้ชำระที่ศาลนั้นด้วย
การจะขอให้ลงโทษผู้กระทำผิดนอกราชอาณาจักรนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถขอให้ลงโทษผู้กระทำผิดกฎหมายอาญามาตราไหนก็ได้ การพิจารณาป.วิอาญาจะต้องสอดคล้องและเป็นไปตามป.อาญา จะต้องเป็นความผิดที่ได้กระทำลงนอกราชอาณาจักรตามป.อาญา มาตรา 7, 8 , 9 ซึ่งได้กล่าวเอาไว้โดยชัดแจ้งแล้วในโพสก่อน และการกระทำผิดบนเรือไทย หรืออากาศยานไทยขณะที่อยู่นอกราชอาณาจักร แม้กฎหมายให้ถือว่ากระทำผิดในราชอาณาจักรแต่อยู่ภายใต้บังคับ ป.วิ.อ มาตรา 20 เช่นกัน ส่วนกรณีของคุณม้าอรนภา ไม่ได้กระทำความผิดต่อกฎหมายอาญา ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.อาญา มาตรา 7, 8, 9 หรือกระทำผิดบนเรือไทย หรืออากาศยานไทยขณะที่อยู่นอกราชอาณาจักร ตามป.อาญา มาตรา 4 แต่ข้อเท็จจริงพบว่ากระทำผิดกฎหมายอาญา ม.391 ที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในประเทศเกาหลีใต้
กรณีนี้จึงไม่อยู่ในบังคับของป.วิอาญา ม.20 หรือ ม.22(2) ที่จะนำผู้กระทำผิดมารับโทษตามกฎหมายอาญาที่ศาลไทยได้ครับ ซึ่งทั้งหมดว่ากันตามข้อกฎหมายและวิธีปฏิบัติที่มีบัญญัตไว้ชัดแจ้งใน ป.วิอาญาครับ"
ขณะที่ทาง "ม้า อรนภา" ออกมาโพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กดังกล่าวว่า "ขอบคุณค่ะ"
ทั้งนี้ตามข้อมูลทั้งหมดที่ทางทนายหนุ่มได้ให้ข้อมูลไว้เรียกว่าเป็นความรู้ที่ได้ทราบกัน ส่วนกรณีของข่าวดัง "นักแสดงรุ่นใหญ่ตบหน้านักแสดงชายช่องน้อยสี" จะออกมาเป็นแบบไหนต้องรอติดตามกันต่อไป
ขอบคุณข้อมูล/ภาพ : Sappisansook Yodmongkhon