อาลัย ครบรอบ 31 ปี 'พุ่มพวง ดวงจันทร์' ย้อนเส้นทางชีวิต ความดัง และความเชื่อ
13 มิถุนายน เป็นวันครบรอบการจากไป "พุ่มพวง ดวงจันทร์" ซึ่งปีนี้ครบรอบ 31 ปี "เพชร พุ่มพวง" ลูกชาย และ "โอ่ง สลักจิต" น้องสาว ก่อนหน้านี้เดินทางไปเปลี่ยนชุดให้แม่ผึ้ง ที่วัดทับกระดาน เพื่อเตรียมจัดงานวันรำลึก โดยปีนี้จะจัดยิ่งใหญ่กว่าทุกปี 9 วัน 9 คืน จนถึงวันที่ 18 มิ.ย. 2566
สำหรับประวัติของ ราชินีลูกทุ่ง "พุ่มพวง ดวงจันทร์" หรือ "แม่ผึ้ง" มีชื่อเดิมว่า "รำพึง จิตรหาญ" เกิดเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2504 ที่จังหวัดชัยนาท แต่มาเติบโตที่สุพรรณบุรี ชื่นชอบการร้องเพลงและเดินสายประกวดตั้งแต่เด็กๆ ใช้ชื่อ "น้ำผึ้ง ณ ไร่อ้อย" ด้วยความที่เกิดในครอบครัวยากจน เป็นลูกคนที่ 5 ของบ้าน ในจำนวน 12 คน ทำให้ในวัยเด็กค่อนข้างต่อสู้ชีวิต ด้วยความที่อยากให้น้องๆ ได้เล่าเรียน ตัวเองเรียนไม่จบ แม้แต่ชั้น ป.2 ก็ออกมาช่วยครอบครัวหาของขาย
แต่ด้วยความที่มีความสามารถร้อง เต้น บิดาได้ฝากให้เป็นบุตรบุญธรรมของ "ไวพจน์ เพชรสุพรรณ" ซึ่งแต่งเพลงและอัดแผ่นเสียงชุดแรกให้ ชื่อเพลง "แก้วรอพี่" ต่อมา "มนต์ เมืองเหนือ" ได้ตั้งชื่อในวงการบันเทิงให้เธอใหม่ว่า "พุ่มพวง ดวงจันทร์" เธอมีชื่อเสียงมากที่สุดในปี พ.ศ. 2525 โดยมีผลงานเพลงดัง เช่น สาวนาสั่งแฟน , นัดพบหน้าอำเภอ , อื้อฮือหล่อจัง , กระแซะเข้ามาซิ , ดาวเรืองดาวโรย , คนดังลืมหลังควาย , บทเรียนราคาแพง เป็นต้น จนได้สมญานาม "ราชินีลูกทุ่ง" เป็นลูกทุ่งสาวคนแรกที่ได้ขึ้นแสดงบนเวทีหรู โรงแรมดุสิตธานี
และยังมีผลงานทางการแสดงอีกมากมาย โดยเข้าสู่วงการภาพยนตร์ในปี พ.ศ. 2526 และแสดงหนังเรื่องแรก สงครามเพลง สร้างโดย "ฉลอง ภักดีวิจิตร" และอีกหลายเรื่อง ในช่วงที่แสดงภาพยนตร์เรื่อง "มนต์รักนักเพลง" ได้พบกับ "ไกรสร แสงอนันต์" ผลงานการแสดงของเธอในฐานะนางเอก อย่างเช่น สงครามเพลง , รอยไม้เรียว , ผ่าโลกบันเทิง , นักร้อง นักเลง , นางสาวกะทิสด , มนต์รักนักเพลง , ลูกสาวคนใหม่ , อีแต๋น ไอเลิฟยู , หลงเสียงนาง , จงอางผงาด , ขอโทษทีที่รัก , คุณนาย ป.4 , อาจารย์เด๋อเจอพุ่มพวง , สาวนาสั่งแฟน , เสน่ห์นักร้อง , นางสาวยี่ส่าย (ภาพยนตร์โทรทัศน์) เป็นต้น
และเมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2532 "พุ่มพวง ดวงจันทร์" ได้รับรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อีกครั้ง ในสาขารางวัลขับร้องเพลงดีเด่น กับเพลง "สยามเมืองยิ้ม" ประพันธ์โดยครูลพ บุรีรัตน์ ในงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่ง ภาค 2
ด้านชีวิตครอบครัว "พุ่มพวง" ได้จดทะเบียนสมรส อดีตพระเอกภาพยนตร์ "ไกรสร แสงอนันต์" มีลูกชายด้วยกัน 1 คน คือ "เพชร - ภัควรรธน์ ลีละเมฆินทร์" หรือ "เพชร พุ่มพวง"
ต่อในปี 2534 "พุ่มพวง ดวงจันทร์" ป่วยด้วยโรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือโรคเอสแอลอี และเสียชีวิต เมื่อเวลา 20.55 น. วันที่ 13 มิถุนายน 2535 ด้วยวัย 31 ปี ถ้ามีชีวิตอยู่ปัจจุบันจะอายุ 62 ปี ซึ่งมีพิธีพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2535 ที่วัดทับกระดาน อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี แม้เธอจะเสียชีวิตไปแล้วแต่ผลงานของเธอก็ยังมีการวางจำหน่าย และยังมีศิลปินนักร้องลูกทุ่งอีกหลายรายได้นำผลงานเพลงของเธอมาขับร้องใหม่ และในวันที่ 15 สิงหาคม 2552 กระทรวงวัฒนธรรม โดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคัดเลือกปริยศิลปิน และปรมศิลปิน มีมติประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติ นายสุรพล สมบัติเจริญ และ พุ่มพวง ดวงจันทร์ หรือรำพึง จิตรหาญ เป็น "ปริยศิลปิน" ศิลปินอันเป็นที่รักยิ่งของประชาชน
13 มิถุนายนนี้ ครบ 31 ปี การจากไปของราชินีลูกทุ่ง "พุ่มพวง ดวงจันทร์" มีการจัดงานรำลึกที่ วัดภาษี เอกมัย และอีกที่ วัดทับกระดาน จ.สุพรรณบุรี ความพิเศษปีนี้ มีการตั้งหุ่น "แม่ผึ้ง" ใหม่เป็นตัวที่ 13 และปีนี้เป็นปีที่ 31 ของการจากไป เลยมีการจัดงานที่ยิ่งใหญ่กว่าทุกปี จะมีการจัดงานประกวดร้องเพลง คอนเสิร์ตมีด้วยกัน 3 เวที มีศิลปินกว่า 300 ท่าน ร่วมแสดงตลอด 9 วัน 9 คืน โดยมีประชาชน ที่เดินทางมากราบไหว้ขอพร เขย่าเซียมซีเสี่ยงทาย จับเลขเด็ดกันไม่ขาดสาย และทุกคนที่มาร่วมงาน จะพร้อมใจกันใส่ชุดลายเสือ มากราบไหว้ เพราะแม่ผึ้งชอบใส่ชุดลายเสือ
โดย วัดทับกระดาน จุดที่แฟนเพลงนิยมมาไหว้ เพื่อรำลึก คือจุดตั้งหุ่นที่ 1 , 2 , 4 , 5 ภายในวัดโดยมีหุ่นแม่ผึ้ง ตั้งไว้ทั้งหมด 13 จุด กระจายอยู่ทั่วบริเวณวัด โดยหุ่นตัวที่ 13 เป็นตัวสุดท้าย ที่น้องสาวและลูกของแม่ผึ้งสร้างขึ้นมาใหม่ ขณะที่พื้นที่ในการตั้งหุ่นเป็นเงินที่ได้รับจากการบริจาคของแฟนเพลง จนทางวัดสามารถซื้อพื้นที่ส่วนนี้ได้ 6 ไร่ นำมาทำเป็นสถานปฏิบัติธรรม
สำหรับความเชื่อ ความศรัทธา แฟนเพลงมักมาขอพร เมื่อสำเร็จสมดังหวังตั้งใจแล้ว จะกลับมาแก้บน ด้วยเครื่องสำอาง เสื้อผ้า และโต๊ะเครื่องแป้ง ที่เป็นการบอกกันปากต่อปากของคนที่มา ว่าแม่ผึ้งมีนิสัยรักสวยรักงาม ด้วยความที่ผู้คนนำโต๊ะเครื่องแป้งมาแก้บนกันเป็นจำนวนมาก ทำให้ทางวัดมีการบอกกล่าวแม่ผึ้ง เพื่อขอนำโต๊ะเครื่องแป้งไปจำหน่าย โดยนำเงินที่ได้ มอบเป็นทุนการศึกษา ให้กับนักเรียนยากไร้ ในช่วงวันครบรอบที่เสียชีวิตทุกปี