บันเทิง

วัดไผ่ล้อม ฟ้อง 'แพรรี่ - หนุ่ม กรรชัย' กับพวก 10 คน หมิ่นประมาท 'หลวงพี่น้ำฝน'

วัดไผ่ล้อม ฟ้อง 'แพรรี่ - หนุ่ม กรรชัย' กับพวก 10 คน หมิ่นประมาท 'หลวงพี่น้ำฝน'

11 ส.ค. 2566

วันนี้ (11 สิงหาคม 2566) เวลา 10.00 น. หลวงพี่น้ำฝน หรือพระครูปลัดสิทธิวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม จังหวัดนครปฐม มอบอำนาจให้ทนายศุภภัทร์พจน์ นิติศศธร ทนายความและไวยาวัจกรวัดไผ่ล้อม มาที่ศาลจังหวัดนครปฐม

ยื่นฟ้องคดีอาญา ข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา กับ นายไพรวัลย์ วรรณบุตร จำเลยที่ 1, นายจตุรงค์ จงอาสา จำเลยที่ 2, บริษัท ดีคืนดีวัน จำกัด จำเลยที่ 3, นายภูดิท หรือกรรชัย กำเนิดพลอย จำเลยที่ 4, นางสาวปทิดา กำเนิดพลอย จำเลยที่ 5, บริษัท บีอีซี-มัลติมิเดีย จำกัด จำเลยที่ 6, นางสาวรัตนา  มาลีนนท์ จำเลยที่ 7, นางสาวนิภา มาลีนนท์ จำเลยที่ 8, นางสาวอัมพร มาลีนนท์ จำเลยที่ 9 และนางรัชนี นิพัทธกุศล จำเลยที่ 10 

 

โดยในคำฟ้องบรรยายว่า เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2566 เวลาประมาณ 12 นาฬิกาเศษ นายกรรชัยฯ ได้เชิญนายไพรวัลย์ฯ และนายจตุรงค์ฯ มาในรายการ โหนกระแส โดยมีหัวข้อเรื่องว่า "แพรี่" ฟาดกลับ "หลวงพี่น้ำฝน" ปกป้องพระพยอม กรณีที่พระพยอม กลฺยาโณ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน เกี่ยวกับการเมือง และพาดพิงสถาบันฯ 

ยื่นฟ้องคดีอาญา ข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา

ซึ่งต่อมา หลวงพี่น้ำฝน ก็ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นว่า ตามกฎมหาเถรสมาคม ห้ามมิให้พระยุ่งเกี่ยวกับการเมือง และไม่เหมาะสมในการพูดเรื่องสถาบัน ปรากฏว่า นายกรรชัยฯ ก็ได้เชิญนายไพรวัลย์ฯ และนายจตุรงค์ฯ มาออกรายการ โหนกระแส มีข้อความอันเป็นการร่วมกันหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา 

 

โดยนายไพรวัลย์ฯ จำเลยที่ 1 กับพวก หมิ่นประมาทโจทก์โดยกล่าวหาโจทก์ว่าใช้โอกาสที่พระพยอม กลฺยาโณ ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การเมืองและดูหมิ่นสถาบัน มีประชาชนเข้ามาตำหนิติเตียนและโจทก์อาศัยจังหวะและโอกาสได้ทีขี่แพะไล่ ซึ่งหมายถึง พูดซ้ำเติมพระพยอม กลฺยาโณ ว่า เมื่อพระพยอมเพลี่ยงพล้ำแสดงว่าโจทก์เป็นคนไม่ดี และหาว่าเป็นคนพาลไม่ควรที่จะไปทะเลาะด้วย โดยเปรียบเทียบว่าเอาทองไปรู่กระเบื้อง เป็นคนละเมิดพระธรรมวินัย การลงนะหน้าทองเป็นพระสายเวทย์และไสยศาสตร์ทำคุณไสย และโจทก์เป็นคนไม่ดี และการปลุกเสกแมสมียันต์เป็นการทำคุณไสย เป็นพระผู้ใช้เดรัจฉานวิชา เป็นพระที่ไม่น่าเลื่อมใส โจทก์เป็นพระชอบโหนกระแสหรืออยากดัง ชอบปลุกเสกเลขยันต์ ชอบปลุกเสกกระเป๋าแบรนด์เนม ทำให้คนงมงาย เป็นพระวินยาธิการต๊อกต๋อย ก็คือเป็นพระกระจอกต้อยต่ำเป็นการดูหมิ่น ดูแคลน และเหยียดหยาม โจทก์เป็นผู้เลี้ยงชีพโดยมิชอบ ใช้เดรฉานวิชา ไม่สมกับการเป็นพระ 

ยื่นฟ้องคดีอาญา ข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา

และกล่าวหาใส่ร้ายว่าโจทก์เป็นพระวินยาธิการ มีคุณสมบัติไม่ดี ไม่งาม ไม่เคยบินฑบาตร มัวแต่จับพระออกบิณฑบาตร และกล่าวหาว่า โจทก์เป็นพระวินยาธิการที่ ภาค 14 แต่ไปก้าวก่ายในเขตของพระพระยอม โดยใช้ถ้อยคำหยาบคายและลบหลู่ด่าว่าต่างๆ นานา ซึ่งโจทก์ไม่เคยมีพฤติกรรมดังกล่าว  และกล่าวหาว่า โจทก์ไปตรวจสอบวัดอ้อมน้อยและถูกด่ากลับมา ทำให้ประชาชนดูหมิ่น ดูแคลน เหยียดหยาม 

 

โดยเฉพาะทั้งจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้สลับกันพูดจาดูหมิ่น ดูแคลน เหยียดหยาม โจทก์ตลอดเวลา โดยมีจำเลยที่ 4 คอยให้การเสริมเติมแต่งคำพูดเพื่อให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 พูดจาให้ร้ายป้ายสีโจทก์ จำเลยที่ 4 หยิบประเด็นในเรื่องของกุมารทอง ในเรื่องของการขายผ้า ขายกระเป๋า แล้วให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 มาด่าว่าโจทก์อยู่ตลอดเวลา และกล่าวหาว่าโจทก์ไม่ใช่เป็นพุทธบุตรแต่เป็นพราหมณ์ ใส่ผ้าเหลืองห่มจีวรของพระพุทธเจ้า แต่บูชาเคารพเทพของพราหมณ์ เป็นการดูถูกและเหยียดหยาม 

 

โดยเฉพาะจำเลยที่ 2 ด่าโจทก์ว่า เป็นพระบัดซบ เป็นพระวินยาธิการต๊อกต๋อยด้อยค่า และจำเลยที่ 1 กล่าวหาว่าโจทก์เป็นพระลัชชีธรรม คือ เป็นพระผู้ไม่ละอายและเกรงกลัวต่อบาป  การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ดังกล่าว เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น เหยียดหยาม ด้อยค่า ความเป็นพระของโจทก์ ซึ่งจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ไม่ควรกระทำเช่นนั้น โดยมีจำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ในฐานะบริษัทและกรรมการของบริษัทต้องคอยสอดส่องดูแลมิให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 4 ทำการหมิ่นประมาทโจทก์ ต้องคอยเตือนคอยห้ามคอยปรามแต่ไม่มีการเตือนการห้ามการปราม แต่ปล่อยให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 4 ดำเนินรายการไปจนจบรายการ เพื่อสร้างเรทติ้งของรายการโหนกระแสและของสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 HD หรือออนไลน์ 

 

ส่วนจำเลยที่ 6 ในฐานะที่เป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์และมีจำเลยที่ 7 ถึงที่ 10 เป็นกรรมการ ต้องห้ามปรามและต้องคอยสอดส่องดูแลมิให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 4 ให้สัมภาษณ์และดำเนินรายการอันเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์  ซึ่งข้อความที่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 4 หมิ่นประมาทโจทก์  โจทก์ไม่ได้มีพฤติกรรมดังกล่าว  การกระทำของโจทก์ในแต่ละเรื่องไม่ผิดพระธรรมวินัย หากจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เห็นว่า โจทก์กระทำไม่ถูกก็ควรที่จะร้องเรียนไปยังผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น  ซึ่งจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ก็ทราบดีว่าสามารถทำได้ แต่ก็ไม่กระทำ กลับใช้ช่องทางออกรายการ โหนกระแส ดังกล่าว เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ด้วยการโฆษณา

ยื่นฟ้องคดีอาญา ข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา