เปิดรายได้ 'เบิร์ด ธงไชย' ศิลปินแห่งชาติ ได้ค่าตอบแทน - สวัสดิการ อะไรบ้าง
ขอแสดงความยินดีกับซุปตาร์ตลอดกาล "เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์" นักร้องชื่อดัง ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็น "ศิลปินแห่งชาติ" 2566 โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เป็นประธานฯ ณ หอประชุมเล็ก กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม รองประธานกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กล่าวว่า ผู้ที่ได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ จะได้รับสวัสดิการประกอบด้วย ค่าตอบแทนรายเดือนๆละ 25,000 บาท (สองหมื่นห้าพันบาทถ้วน) ตลอดระยะเวลาที่มีชีวิตอยู่ ค่ารักษาพยาบาลตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลโดยอนุโลม เว้นแต่มีสิทธิเบิกจากหน่วยงานอื่น ให้เบิกจากหน่วยงานนั้นก่อน ถ้าเบิกจากหน่วยงานนั้นได้ต่ำกว่าสิทธิตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ให้มีสิทธิเบิกในส่วนที่ยังขาดอยู่ได้อีกภายในวงเงินไม่เกิน 1000,000 บาทต่อปีงบประมาณ เงินช่วยเหลือเมื่อประสบสาธารณภัยเท่าที่เสียหายจริง รายละไม่เกิน 50,000 บาท ต่อครั้ง ค่าของเยี่ยมในยามเจ็บป่วยหรือในโอกาสสำคัญเท่าที่จ่ายจริง รายละไม่เกิน 3,000 บาท ต่อครั้ง และกรณีเสียชีวิตจะได้รับเงินช่วยเหลือบำเพ็ญกุศลศพ รายละ 20,000 บาท และเงินช่วยเหลือค่าจัดทำหนังสือเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิตเท่าที่จ่ายจริง รายละไม่เกิน 150,000 บาท เป็นต้น
โดยมีบุคคลที่ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ จำนวน 12 ราย ดังนี้
สาขาทัศนศิลป์ ได้แก่
- ศาสตราจารย์เกียรติคุณพิษณุ ศุภนิมิตร (ภาพพิมพ์)
- นายเจตกำจร พรหมโยธี (สถาปัตยกรรมผังเมือง)
- นายดิเรก สิทธิการ (งานสลักดุนเครื่องเงินและโลหะ)
- นายฤกษ์ฤทธิ์ แก้ววิเชียร (สถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์)
สาขาวรรณศิลป์ ได้แก่
- ศาสตราจารย์เกริก ยุ้นพันธ์
- นายบุญเตือน ศรีวรพจน์
สาขาศิลปะการแสดง ได้แก่
- นางนพรัตน์ศุภาการ หวังในธรรม (ละครรำ)
- นายสมชาย ทับพร (ดนตรีไทย - ขับร้อง)
- นางราตรีศรีวิไล บงสิทธิพร (หมอลำประยุกต์)
- นายธงไชย แมคอินไตย์ (ดนตรีไทยสากล - ขับร้อง)
- นายสมเถา สุจริตกุล (ดนตรีสากล - ประพันธ์เพลงร่วมสมัย)
- นายประดิษฐ ประสาททอง (ละครร่วมสมัย)
ในการนี้ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จะทำหนังสือกราบบังคมทูลขอพระราชทาน พระบรมราชวโรกาส นำศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2565 ทั้ง 12 คน เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานโล่และเข็มเชิดชูเกียรติ ในวัน เวลาตามแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ และจัดงานนิทรรศการเพื่อเผยแพร่ประวัติผลงานของศิลปินแห่งชาติ ให้ประจักษ์ต่อสาธารณะ ต่อไป
สำหรับโครงการศิลปินแห่งชาติเมื่อปี พ.ศ.2527 มีศิลปินแห่งชาติ ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ ตั้งแต่ พ.ศ. 2528 - 2564 แล้วจำนวน 342 คน และในปี พ.ศ. 2565 จำนวน 12 คน รวมทั้งสิ้น 354คน แบ่งเป็นสาขา ทัศนศิลป์ 105 คน วรรณศิลป์ 61 คน และศิลปะการแสดง 188 คน ซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว 175 คน และยังมีชีวิตอยู่ 179 คน