ระวังโดนฟ้อง! ลิขสิทธิ์ 'พรหมลิขิต' ละเมิดมีโทษปรับ-จำคุก
ข้อควรรู้ สำหรับ "ละครพรหมลิขิต" ที่นอกจากเรื่องราวจะน่าสนใจแล้ว ยังมีการจดลิขสิทธิ์ หากละเมิดมีโทษ ทั้งจำทั้งปรับ
ช่วงนี้กระแสออเจ้าแห่ง "ละครพรหมลิขิต" กลับมาสะเทือนวงการอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นตัวละครพระนาง "โป๊ป - เบลล่า" รวมถึงนักแสดงมากฝีมือที่มาสวมบทตัวละครที่มีจริงในประวัติศาสตร์ไทย จนคนหันมาสนใจเรื่องนี้มากขึ้น ล่าสุด ทางด้านของ กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้เปิดรายละเอียดลิขสิทธิ์ "พรหมลิขิต"
ประเด็นลิขสิทธิ์ที่เกี่ยวกับละครพรหมลิขิต
1. ความเป็นมา :
กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้รับการประสานจากหนังสือพิมพ์มติชน รายงานว่า ช่อง 3 ได้ให้ข่าวว่า "ได้จดลิขสิทธิ์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับละคร พรหมลิขิต เช่น คอสตูม ประโยคฮิต และคาแรกเตอร์ ไว้ทั้งหมดเพื่อป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ โดยละครเรื่องนี้ จะมีการออกอากาศครั้งแรกในวันที่ 18 ตุลาคม 2566"
2. ผลงานลิขสิทธิ์ที่ได้ยื่นแจ้งข้อมูลไว้กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา :
บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นแจ้งข้อมูลลิขสิทธ์ที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์เรื่อง พรหมลิขิต ไว้กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา จำนวน 16 ผลงาน ได้แก่ จิตรกรรม 1 ผลงาน และภาพถ่าย 15 ผลงาน
3. ประเด็นที่เป็นที่สนใจจากกรณีดังกล่าว :
3.1 คอสตูม ประโยคฮิต คาแรกเตอร์ของตัวละคร การแต่งกายด้วยชุดไทย คำพูดจาแบบในละคร ได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์หรือไม่ เนื่องจากงานลิขสิทธิ์จะต้องเป็นงานสร้างสรรค์ตามประเภทที่กฎหมายกำหนด
- ซึ่งไม่รวมถึง คอสตูม เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของตัวละคร ประโยคฮิตของละคร คาแรกเตอร์ของตัวละคร การแต่งกายด้วยชุดไทย คำพูดจาแบบในละคร ดังนั้น งานดังกล่าวจึงไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ทุกคนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างอิสระ สามารถพูดประโยคฮิต หรือแต่งตัวด้วยชุดไทยเหมือนในละครได้ตามปกติ
- อย่างไรก็ดี สำหรับกรณีผลงานสร้างสรรค์ที่อยู่ในขอบเขตของงาน 9 ประเภทที่กฎหมายให้การคุ้มครอง เช่น บทภาพยนตร์ ตัวผลงานละคร ย่อมเป็นลิขสิทธิ์ของผู้สร้างสรรค์ และบุคคลอื่นไม่สามารถนำไปก๊อปปี้ ดัดแปลง หรือเผยแพร่ต่อ โดยที่เจ้าของลิขสิทธิ์ไม่อนุญาต
3.2 ผลงาน 16 รายการที่กรมทรัพย์สินทางปัญญารับแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์แล้ว ได้รับการคุ้มครองอย่างไร
- งานที่เข้าข่ายเป็นงานลิขสิทธิ์จะได้รับการคุ้มครองทันทีโดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้องจดทะเบียนกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา แต่บริการจดแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ของกรมฯ เป็นเพียงการรวบรวมข้อมูลไว้ในฐานข้อมูลเพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ บนพื้นฐานความสมัครใจเท่านั้น
- ผลงาน 16 รายการ และงานลิขสิทธิ์อื่นๆ ของละครเรื่องพรหมลิขิต ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ บุคคลอื่นๆ ไม่มีสิทธินำไปก๊อปปี้ ดัดแปลง หรือเผยแพร่ต่อได้หากเจ้าของลิขสิทธิ์
- ไม่อนุญาต กล่าวคือ ไม่สามารถนำภาพถ่ายทั้ง 15 ภาพ ไปใช้ประโยชน์ หรือเผยแพร่บนสินค้า หรือบริการใดๆ ได้
3.3 โทษของการละเมิดลิขสิทธิ์เป็นอย่างไร
- การละเมิดลิขสิทธิ์ที่ไม่ใช่เพื่อการค้า มีโทษปรับ 20,000-200,000 บาท
- การละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อการค้า มีโทษปรับ 100,000-800,00 บาท หรือ จำคุก 6 เดือน – 4 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
หมายเหตุ : งานที่กฎหมายกำหนดให้มีลิขสิทธิ์มี 9 ประเภท คือ งานวรรณกรรม นาฎกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม สิ่งบันทึกเสียง โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ งานแพร่เสียงแพร่ภาพ หรือ งานอื่นใดอันเป็นงานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ โดยในส่วนของ 16 ผลงานที่ กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้รับ คําขอจดแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ของ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จํากัด (มหาชน) ที่เกี่ยวข้องกับละคร พรหมลิขิต ยื่นวันที่ 9 มิถุนายน 2566
ทั้งนี้มี 1 ผลงาน ประเภทศิลปกรรม ลักษณะงานจิตรกรรม ชื่อผลงาน พรหมลิขิต และอีก 15 ผลงาน ประเภทศิลปกรรม ลักษณะงานภาพถ่าย ชื่อผลงาน พระยาวิสูตรสาคร และเกศสุรางค์, พุดตาน, พ่อเรือง, พ่อริด, พระนามณรงค์ และจันทร์วาด, แม่ตองกีมาร์, จมื่นศรีสรรักษ์, จ้อย, พระยาโกษาธิบดี, พระองค์เจ้าดํา, เพิ่ม, แม่แก้ว และแม่ปราง, หลวงชิดภูบาล (ยอร์ช ฟอลคอน), หมู่สง และ พระยาวิสูตรสาคร และเกศสุรางค์ 2