'คนกราบหมา' ภาพยนตร์เรื่องแรก 'น้อย วงพรู' ถูกแบน 25 ปี ลัทธิ ศรัทธา สุนัขเทพ
ถูกแบน 25 ปี กับการแสดงครั้งแรกบนจอใหญ่ของ 'น้อย วงพรู' ภาพยนตร์ 'คนกราบหมา' สู่สายตาทั่วโลก ลัทธิ ศรัทธา สุนัขเทพ บดบังความจริงน่าสะพรึง เรต น 15+
เรื่องราวที่สร้างเสียงฮือฮาในวงการภาพยนตร์ไทยไม่ใช่น้อย หลังจากผ่านมากว่า 25 ปีที่ถูกแบน สำหรับ "คนกราบหมา" ภาพยนตร์ไทยที่แหวกขนบธรรมเนียมเดิม เพียงแค่ชื่อคงทราบดีว่า ฉีกกรอบความคิดในยุคสมัยนั้นไม่ใช่น้อย ล่าสุด สามารถฉายบนจอภาพยนตร์ได้แล้ว ครั้งแรกในวันที่ 16 พฤษภาคม 2567
"คนกราบหมา" คืออะไร :
คนกราบหมา หรือชื่อภาษาอังกฤษ My Teacher Eats Biscuits ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็น Dog God) เป็นภาพยนตร์ตลกร้ายแนวทดลองว่าด้วยลัทธิประหลาดที่ผู้คนพากันกราบไหว้หมา ที่เขียนบทและกำกับโดย อิ๋ง เค นำแสดงโดย "น้อย วงพรู" หรือ "กฤษดา สุโกศล แคลปป์" และ "ธาริณี เกรแฮม" มีความยาว 110 นาที และถ่ายทำด้วยฟิล์ม 16 ม.ม. โดยใช้ทุนส่วนตัว
เรื่องย่อ คนกราบหมา :
เรื่องราวของหนุ่มไฮโซ "รอบิน" ที่จ้าง "วิคเตอร์" ผู้เชี่ยวชาญจากนิวยอร์ค มาช่วยกอบกู้ "เชอรี่พาย" ภรรยาและลูกจากลัทธิล้างสมอง หรือ ขบวนการอันมืดมิดที่ใช้ความเชื่อมาบังหน้า
จุดเริ่มต้นจากภรรยาและลูกของ "รอบิน" ที่ได้ถูกล้างสมอง เข้าไปอยู่ในอาศรมแห่งรักไร้พรมแดน แหล่งรวมเหล่าสาวกที่พากันก้มกราบหมาที่เชื่อกันว่าเป็น "สุนัขเทพ" และสามอาจารย์ นำโดย สตรี ผู้อ้างว่าในชาติก่อนเคยเป็นพระสงฆ์ที่อกหักจากวิกฤติศรัทธา ภายในลัทธินั้น สาวกต่างสวมชุดปฏิบัติธรรมสีชมพูแสนหวาน กลางแดดทาทองอาบน้ำผึ้งของอาศรม แต่เบื้องหลังน่าสะพรึงกลัวกว่าที่คาดเดาไว้หลายเท่า เมื่อทั้งเทพเจ้าหมา และอาจารย์ 3 ท่านที่คอยรับใช้ ล้วนอำพรางความจริงอันมืดสนิทโดยใช้ความศรัทธาของ "คนกราบหมา" มาบดบัง
หนังตลกร้าย 25 ปีที่แล้ว คล้ายจะล้อเลียน สู่เรื่องราวคล้ายความจริงในยุคนี้ :
"คนกราบหมา" มีกำหนดฉายครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2540 ภายในงาน Bangkok Film Festival หรือ เทศกาลภาพยนตร์กรุงเทพ ครั้งที่ 1 ซึ่งมี "ไบรอัน เบนเน็ทท์ พนา จันทรวิโรจน์" และหนังสือพิมพ์เดอะ เนชั่น เป็นผู้จัด แต่ในช่วงก่อนงานเปิดเทศกาลภาพยนตร์ มีผู้ส่งโทรสารร้องเรียนไปยังที่กองเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ว่า บทภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่เหมาะสม และ "ดูหมิ่นศาสนาพุทธ" จึงเกิดการเข้ามาตรวจสอบ และไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์เรื่องนี้
แม้ว่า "คนกราบหมา" จะไม่ได้อนุญาตให้ฉายในประเทศไทย แต่เรื่องนี้ได้ปรากฏต่อสายตาชาวโลก โดยนำไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่ ฮาวาย ลอสแอนเจลิส นิวยอร์ค ซึ่งในไทยมีเพียงการฉายเป็นการภายใน เพียงรอบเดียวเท่านั้นที่สถาบันเกอเธ
อย่างไรก็ตาม คณะผู้สร้างได้ดำเนินการมากว่า 25 ปี จวบจนในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2566 คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม มีมติอนุญาตให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ฉายในประเทศไทย โดยถูกจัดเรตติ้งอยู่ที่ "น 15+" และเข้าฉายเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2567