ลึกซึ้ง "สืบสันดาน" ดูผีเสื้อกลางคืน น้ำเหลืองราดคนใช้ ฉี่จริงไหม
คอนเซปต์ลึกซึ้ง "สืบสันดาน" ชวนดูผีเสื้อกลางคืน สู่หายนะคนรวย เฉาะความดิบของมนุษย์ เฉลยฉากน้ำเหลืองราดตัวสุดสยิว ที่แท้คือ ฉี่จริงหรือไม่?
ร้อนแรงตอนนี้ติดอันดับต้นๆของโลก "สืบสันดาน (Master of the House)" ซีรีส์ทาง Netflix ถูกกล่าวถึงอย่างล้นหลาม อีกหนึ่งฉากที่น่าสนใจ "อยากเห็นผีเสื้อกลางคืนด้วยไหม คืนนี้มาที่นี่สิ รับรองสวยไม่แพ้ตอนกลางวันแน่นอน ถือว่าเป็นคำสั่งแล้วกัน" ประโยคของ "เจ้าสัวรุ่งโรจน์" (บี๋ ธีรพงศ์) ถึง "ไข่มุก" (ญดา นริลญา) สู่หายนะคนรวย
ระวังสปอยล์ หากใครยังไม่ได้ดูเนื้อหาด้านล่างมีการกล่าวถึงเนื้อเรื่อง
ฉากน้ำเหลืองอันเลื่องชื่อ
หนึ่งในฉากที่ถูกกล่าวถึงคงไม่พ้น จุดเริ่มต้นหายนะของ "เจ้าสัวรุ่งโรจน์" ที่มักหลอกล่อสาวใช้มาดูผีเสื้อกลางคืนในห้องกระจกเลี้ยงแมกไม้ จวบจนมาเจอกับ ไข่มุก ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงที่มาของเสียงร่ำไห้ของคนใช้ ที่ถูกย่ำยี ตั้งแต่การต้องจำยอมนอนศิโรราบลงกับพื้นให้ผีเสื้อมาตรอม แล้วถูกน้ำเหลืองราดตัว จนต้องทำหน้าเหยเก
ซึ่งหลายคนต่างสงสัยว่า น้ำเหลืองที่ว่า คือน้ำอะไร ล่าสุด "คราวเดีย" ผู้รับบท "อารยา สะใภ้คนรอง" ได้เฉลยในติ๊กต็อก หลังจากถูกถามในไลฟ์สด น้ำเหลืองในเรื่อง คือ ปัสสาวะ เนื่องจากผีเสื้อชอบฉี่ และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ผีเสื้อชอบมาตอมผิวหนังคน เพราะผีเสื้อต้องการหาเกลือแร่ อาทิ จากเหงื่อของคน และมักจะตอมน้ำตา ปัสสาวะ
ผีเสื้อ นัยลึกซึ้ง
หลังจากในโลกโซเชียลได้มีการวิจารณ์ รวมถึงวิเคราะห์ว่า เบื้องหลังของเรื่องมีการสอดแทรกนัยของผีเสื้อเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นฉากเปิดตัวก่อนเข้าเรื่องที่แนะนำตัวละครต่างๆ หรือ รายละเอียดเล็กๆ อาทิ คอปกเสื้อของบรรดาสาวใช้รูปร่างคล้ายปีผีเสื้อ
จากบทสัมภาษณ์ของผู้กำกับ ชื่อภาษาอังกฤษของซีรีส์ คือ "Master of the House" มีตัวย่อตรงกับคำว่า "MOTH" ที่แปลว่า "ผีเสื้อกลางคืน" ซึ่งเป็นคอนเซปท์ของเรื่อง "สืบสันดาน" โดย ผีเสื้อกลางคืนต่างจากผีเสื้อกลางวัน คือ มีสีน้ำตาล ไม่มีลายเด่นชัดและหากินกลางคืน
กิจกรรมคนรวย "เลี้ยงผีเสื้อ" กุมอำนาจ และความต่างทางชนชั้น
สืบสันดาน ต้องการสื่อสารถึง "สันดานของคน" และ ความเป็นมนุษย์ที่ในที่นี่ถ่ายทอดความเป็น "สันดานดิบ" โดยมีผีเสื้อกลางคืนเป็นสัญลักษณ์ที่ถูกสอดแทรกเอาไว้ เด่นชัดที่สุด คือ งานอดิเรกของเจ้าสัวที่ชอบเลี้ยง และสะสมซากผีเสื้อ
กิจกรรมยามว่างของคนรวย เพราะผีเสื้อที่นิยมสะสมกันมักเป็นพันธุ์หายาก ยิ่งตอกย้ำความมีอำนาจเหนือผู้อื่นของตัวเจ้าสัว ไม่ว่าเขาจะต้องการอะไรก็จะได้มาครอบครอง ทุกคนจะต้องยอมจำนาน เฉกเช่นเดียว ไข่มุก ที่ยอมกางปีกสยายเป็นผีเสื้อที่เตรียมถูกขังไว้
ผีเสื้อ มักจะถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของคำว่า อิสระ เสมือนไข่มุกทีรอคอยวันเป็นอิสระเช่นกัน เพราะกว่าจะถึงวันนั้น ด้วยวัฏจักรของผีเสื้อ ต้องผ่านการเป็นหนอนที่อาจจะเสี่ยงถูกสัตว์ที่ใหญ่กว่าฆ่าตาย แต่ผีเสื้อสามารถที่จะเรียนรู้ในการป้องกันศัตรู จนสามารถอยู่ในขั้นตอนของการเป็นดักแด้ ห่อหุ้มตัวเองจากภัยอันตราย และสยายปีกโตเต็มไว ซึ่งชีวิตของผีเสื้อเสมือนการเติบโตของตัวละคร เผชิญกับอุปสรรคมากมาย
ความหมายของ ผีเสื้อกลางคืน บางวัฒนธรรม หมายถึง วิญญาณ หรือความตาย ซึ่งการตายของเจ้าสัวก็กลายเป็นจุดเปลี่ยนของหายนะทุกอย่างเช่นกัน รวมถึงเป็นการปลดปล่อยนำมาซึ่งการหลุดพ้น และอิสรภาพ
ทฤษฎีผีเสื้อ เพียงขยับปีก
ตลอดทั้งเรื่อง มีความสอดคล้องกับ "ทฤษฎีผีเสื้อ (Butterfly Effect)" ที่ใช้อ้างถึงทฤษฎีโกลาหล หมายถึง การกระทำสิ่งเล็กๆที่เป็นการกระทำครั้งแรก และทำสิ่งเล็กๆนั่นซ้ำๆแบบต่อเนื่อง จนเกิดความเชื่อมต่อกันเป็นทอดๆ อาจสามารถส่งผลให้มันกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้ แม้แต่พฤติกรรมเล็กๆ ในชีวิตประจำวันของเรา จากเรื่องเล็กๆ เชื่อมต่อกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้
"เพียงผีเสื้อขยับปีก" เห็นได้เด่นชัด ถึงสันดานคนรวยในตระกูลนี้ ที่เริ่มต้นมาจากการเลี้ยงดูของเจ้าสัวรุ่งโรจน์ที่บ่มเพาะให้ลูกหลานมีนิสัยห้ำหั่นกันเองตั้งแต่เด็ก จนนำมาซึ่งความโหดเหี้ยมที่ไร้ซึ่งมนุษยธรรม พร้อมที่จะทำทุกอย่างเพื่อความต้องการสูงสุดของตัวเองราวกับสัตว์
เฉกเช่นในฉากท้ายๆก็จะมีการเฉลยผ่านคำพูดของคนภายนอกที่เป็นตระกูลร่ำรวยเช่นกัน แต่ก็ยังแปลกใจกับการกระทำของตระกูลนี้ และได้แต่พูดว่า "คงเป็นเพราะพ่อมันที่สอนมาให้เป็นแบบนี้" การกระทำของเจ้าสัวกระพือปีกส่งต่อมายังลูก และหลาน จนมีนิสัยเดียวกัน และสร้างหายนะยิ่งใหญ่แห่งตระกูล เมื่อเล่าหนอนเริ่มรู้จักวิธีการต่อสู้กับศัตรู