ลงทุนคุ้มค่าเริ่มที่ "เด็กปฐมวัย"ให้ผลตอบแทน 7-13 เท่า
ลงทุนคุ้มค่าเริ่มที่ "เด็กปฐมวัย"ให้ผลตอบแทน 7-13 เท่า : รายงาน โดย... ชุลีพร อร่ามเนตร - [email protected]
“สร้างมายด์เซตใหม่ในการพัฒนาเด็กปฐมวัย เป็นหน้าที่ของทุกคน” ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ
"งานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์หลายชิ้นการันตีว่า การลงทุนโดยเริ่มต้นที่ “เด็กปฐมวัย” เป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากที่สุด อย่างผลการวิจัยของ ดร.เจมส์ เฮ็กแมน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล การลงทุนพัฒนาเด็กปฐมวัย เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าให้ผลตอบแทนแก่สังคมดีที่สุดในระยะยาว โดยคืนผลตอบแทนกลับคืนมาในอนาคตมากถึง 7 เท่า เป็นทั้งการเพิ่มคุณภาพทรัพยากรบุคคลของประเทศ ลดอัตราการสูญเสียที่จะเกิดขึ้น”
สร้างมายด์เซตใหม่ดูแลเด็กปฐมวัย
ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ รองประธานคณะอนุกรรมการเด็กเล็กในคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฎิรูปการศึกษา กล่าวในงาน “มหกรรมการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู ครั้งที่ 11" หรือ EDUCA 2018 จัดโดย บริษัท ปิโก (ไทยแลนด์)จำกัด (มหาชน) ภายใต้แนวคิด Value of Teachers : คุณค่าของครู ว่า การลงทุนในเด็กปฐมวัยให้ผลตอบแทน 7 เท่า หรือ 13 เท่า มากกว่าในระดับอื่นๆ แต่ไทยกลับลงทุนในเด็กปฐมวัยน้อย ร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ... มุ่งดูแลให้เด็กปฐมวัยอยู่รอดปลอดภัย มีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่ดี มีพัฒนาการที่สมวัย ดีรอบด้าน สามารถเรียนรู้ โดยเน้นดูแลตั้งแต่แม่ก่อนที่ตั้งครรภ์ เพราะขณะนี้มีเด็กเกิดปีละประมาณ 6 แสนคน และมีเด็กที่เกิดจากแม่วัยใสปีละ 90,000-100,000 คน ซึ่งเด็กที่เกิดจากแม่ที่ไม่พร้อม ต้องเป็นเด็กที่มีปัญหาหลายประการ
“ตอนนี้ต้องสร้างกระบวนการความคิด หรือมายด์เซตใหม่ในการพัฒนาเด็กปฐมวัยว่าเป็นหน้าที่ของทุกคน โดยเฉพาะกระทรวงที่เกี่ยวข้อง อย่าง กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ต้องเข้าไปดูครอบครัว กระทรวงมหาดไทยต้องเข้าไปดูประชาชนทุกพื้นที่ กระทรวงศึกษาธิการต้องดูแลเด็ก โรงเรียน และกระทรวงแรงงานต้องจัดพื้นที่ให้แม่หรือพ่อดูแลเด็กในช่วงแรกของชีวิต แต่ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีการบูรณาการทำงานร่วมกันได้อย่างดีเท่าที่ควร" ดร.ดารณี กล่าว
รอยต่ออนุบาลสู่ประถมปัญหาใหญ่
ดร.ดารณี กล่าวต่อว่า ปัจจุบันปัญหาใหญ่ในการจัดการเรียนการสอนปฐมวัย คือ รอยต่อเชื่อมระหว่างอนุบาลเข้าไปเรียนประถมศึกษา เนื่องจากการจัดการเรียนการสอนเด็กอนุบาลสามารถเล่น เรียน มีพัฒนาการที่ดี แต่เมื่อเด็กเข้าสู่ประถมศึกษาปีที่ 1 กลับเจอปัญหาความไม่ต่อเนื่องในการเรียนรู้ เด็กไม่ได้เล่นแต่กลับถูกบังคับให้เรียน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ให้ต้องอ่านออกเขียนได้ ทำให้สุดท้ายเมื่อเข้า ป.1 เด็กต้องเรียน พ่อแม่ผู้ปกครองก็พยายามไปขอให้ทางโรงเรียนอนุบาลสอนให้เด็กอ่านออกเขียนได้ มากกว่าจะให้ได้เรียนรู้จากการเล่น เพราะเมื่อเด็กเข้า ป.1 เขาอาจปรับตัวไม่ทัน ดังนั้น อนาคตเป็นไปได้หรือไม่ที่การเรียนการสอนระดับประถมศึกษา โดยเฉพาะ ป.1 และ ป.2 มีความยืดหยุ่น มองว่าเด็กกลุ่มนี้เป็นเด็กปฐมวัย เรียนรู้ผ่านการเล่น การสอนด้านวิชาการ ควบคู่กันไป ไม่ใช่ต้องมุ่งให้เด็กอ่านออกเขียนได้ เก่งวิชาการอย่างเดียว
หลักสูตรแกนกลางยังมีความสำคัญในการส่งเสริมพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก แต่โลกมีความรู้เต็มไปหมด “โรงเรียน ครู” ต้องจัดกิจกรรม กระบวนการเรียนการสอนที่ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้จากปฏิบัติ มีประสบการณ์จริง รู้จักการคิดวิเคราะห์ อีกทั้งอนาคต การวัดศักยภาพ คุณภาพเด็กไม่ใช่วัดกันที่ความรู้ แต่วัดกันที่สมรรถนะของแต่ละคน ขณะนี้ได้มีการจัดทำกรอบสมรรถนะหลักของผู้เรียน ซึ่งเป็นสมรรถนะที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ การทำงาน และต้องปลูกฝังให้เกิดขึ้นตั้งแต่ระดับปฐมวัย โดยมี 10 สมรรถนะเป็นหลักกระบวนการวิเคราะห์ ศึกษาเชื่อมโยงกับโลกอนาคต อยากให้ครูและผู้บริหารโรงเรียน บูรณาการสมรรถนะเข้ากับหลักสูตรแกนกลาง
เข้าใจพฤติกรรมจัดเรียนรู้เหมาะสม
ดร.สุนทรี ศิริอังกูร ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา กล่าวว่า โรงเรียนมีเด็กทั้งหมด 700 คน สอนตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงประถมศึกษา พบปัญหารอยต่อระหว่างชั้นอนุบาลขึ้นประถมศึกษา เพราะการเรียนการสอนระดับอนุบาลจะมีการให้เด็กนอนกลางวัน เรียนรู้จากการเล่น เสริมสมรรถนะพัฒนาการทั้งด้านกล้ามเนื้อ สติปัญญา
แต่เมื่อขึ้น ป.1 ต้องเรียนรู้ตามระบบหลักสูตรแกนกลางร่วมด้วย เมื่อเด็กต้องมาเรียน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ทำให้เขาไม่ได้นอนกลางวัน เวลาเรียนเด็กก็จะรู้สึกง่วงและทำให้การเรียนรู้ในวิชาช่วงบ่ายไม่เต็มที่ ดังนั้น ขณะนี้โรงเรียนพยายามหากิจกรรมกระตุ้นให้เด็กเกิดการเรียนรู้อย่างสนุกและไม่ง่วง เป็นการปรับพฤติกรรมของเด็ก โดยคุณครูเป็นส่วนสำคัญในการดูพฤติกรรม วิเคราะห์เข้าใจพฤติกรรมของเด็ก อันนำไปสู่การจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสม ดังนั้น การจัดการศึกษาปฐมวัยมีความสำคัญอย่างมากที่สถานศึกษาต้องร่วมกันจัดกิจกรรม ดูแลให้เด็กได้เล่น เรียนรู้ตามวัยที่เหมาะสมแก่พวกเขาตามศักยภาพของแต่ละคน