โรคหัวใจใกล้ตัวคุณ
โรคหัวใจ เป็นคำรวมๆ ที่หมายถึง โรคของระบบหัวใจ ไม่ได้เป็นชื่อโรคเฉพาะ เนื่องจากหัวใจมีส่วนประกอบหลายอย่าง เช่น หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ มีส่วนประกอบหลายอย่าง เช่น หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ ลิ้นหัวใจ ระบบไฟฟ้า เยื่อหุ้มหัวใจ
หากมีความผิดปกติของระบบใดก็จะทำให้เกิดโรคได้ เช่น โรคหัวใจแต่กำเนิด โรคลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว โรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน โรคหัวใจเต้นผิดปกติ เป็นต้น
อาการ
ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการผิดปกติเลยก็มี ถ้าโรคยังไม่รุนแรงหรือเพิ่งเริ่มเป็นระยะแรก มักจะตรวจพบเมื่อไปตรวจสุขภาพประจำปี หรือพบแพทย์ด้วยสาเหตุอื่น เช่น เอกซเรย์พบหัวใจโต ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจพบความผิดปกติ หรือมีเสียงหัวใจผิดปกติ ฉะนั้นผู้ที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจจึงควรพบแพทย์เพื่อประเมินเป็นระยะ เช่น อายุเกิน 40 ปี สูบบุหรี่จัด มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหัวใจ ภาวะอ้วน ไม่ออกกำลังกาย ผู้ที่มีโรคประจำตัวมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจเช่นเดียวกัน เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก เป็นต้น
อาการที่พบบ่อย
1.อาการเหนื่อยง่ายเวลาออกแรง หรือหัวใจล้มเหลวในขณะออกแรง หัวใจไม่สามารถเพิ่มการทำงานให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย จึงเกิดอาการเหนื่อยง่าย ถ้าเป็นโรคหัวใจรุนแรงอาจมีอาการเหนื่อยขณะอยู่เฉยๆ นอนราบไม่ได้ต้องให้หมอนหนุนสูง หรือเวลากลางคืนต้องลุกขึ้นมานั่งแล้วหายใจแรงๆ
2.อาการเจ็บแน่นหน้าอก เป็นผลจากหลอดเลือดหัวใจตีบหรือตัน ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือตาย มักจะรู้สึกแน่นกลางอก อาจมีอาการปวดร้าวไปที่คอ กราม ไหล่ หรือแขนได้ มักจะเป็นเวลาออกกำลังกาย หรือเวลาที่หัวใจต้องทำงานหนักมากขึ้น ต้องการเลือดไปเลี้ยงเพิ่มขึ้น ในรายโรครุนแรงหรือโรคกำเริบ อาจมีอาการแน่นหน้าอกขณะพักอยู่เฉยๆ ได้
3.อาการใจสั่น เต้นผิดจังหวะ เกิดจากความผิดปกติในระบบไฟฟ้าของหัวใจ ปกติขณะพักหัวใจคนเราจะเต้นประมาณ 60-100 ครั้งต่อนาที ด้วยจังหวะที่สม่ำเสมอ ถ้าหัวใจเต้นกระโดดไม่สม่ำเสมอ หรือเต้นรัวเร็ว จะทำให้เกิดอาการใจสั่นได้
4.อาการเป็นลมหน้ามืด หมดสติชั่วคราวแล้วฟื้นขึ้นมาได้เอง อาจมีสาเหตุจากโรคหัวใจ เช่น หัวใจเต้นช้ามาก หรือเร็วมากเกินไป ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ
5.บวมที่ขาและเท้า กดแล้วมีรอยบุ๋ม เป็นผลจากหัวใจล้มเหลว
ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลเกษมราษฎร์
โทร.0-2910-1600