อัยการ แจงสั่งไม่ฟ้อง อนันต์ อัศวโภคิน ฟอกเงินคลองจั่น
รองโฆษกอัยการ แจงยิบ สั่งไม่ฟ้อง "อนันต์ อัศวโภคิน" ฟอกเงินคลองจั่น ไม่พบความเชื่อมโยงสมคบ เปลี่ยนมือ "ศุภชัย" รอลุ้นดีเอสไอ ทำความเห็นแย้งหรือไม่
"รองโฆษกอัยการ" แจงยิบ สั่งไม่ฟ้อง "อนันต์ อัศวโภคิน" ร่วมฟอกเงินคลองจั่น ระบุ เดิมเป็นการซื้อขายศุภชัย-เอกชนอื่นที่จบยอมความคดีแพ่งคืนเงิน-คืนที่ ไม่พบความเชื่อมโยงการเปลี่ยนมือ "อดีตเจ้าพ่อสังหาริมทรัพย์ชื่อดัง" สมคบศุภชัย รอลุ้นดีเอสไอ ทำความเห็นแย้งหรือไม่
เมื่อวันที่ 31 ต.ค.62 – ที่สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการคดีอาญา 3 ถ.รัชดาภิเษก นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกอัยการสูงสุด เปิดเผยกรณีที่สำนักงานอัยการคดีพิเศษ มีคำสั่งไม่ฟ้อง นายอนันต์ อัศวโภคิน เจ้าของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชื่อดัง ร่วมกับนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์ฯคลองจั่น ฟอกเงิน ซึ่งพนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ส่งสำนวนพร้อมความเห็นสมควรสั่งฟ้องว่า คดีดังกล่าวสำนักงานอัยการคดีพิเศษ 4 ได้รับสำนวนจากดีเอสไอ เมื่อวันที่ 15 ส.ค.62 ซึ่งคณะทำงานสำนักงานคดีพิเศษ 4 ได้พิจารณาสำนวนแล้วมีความเห็นเสนอไปยัง นายธนวรรษ ว่องไวทวีวงศ์ รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ ซึ่งในขณะนั้นรักษาการอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษว่าสั่งไม่ฟ้องนายอนันต์ ซึ่งนายธนวรรษ ได้เห็นพ้องกันคณะทำงานคดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 4 คือสั่งไม่ฟ้อง
อย่างไรก็ดีในปัจจุบัน สำนวนได้ถูกส่งกลับไปยังอธิบดีดีเอสไอ เมื่อวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา เพื่อพิจารณาว่าจะเห็นแย้งหรือไม่ ขั้นตอนต่อไปจึงต้องรอให้อธิบดีดีเอสไอหากเห็นพ้องกับอัยการที่สั่งไม่ฟ้อง คดีก็จะยุติ แต่ถ้าอธิบดีดีเอสไอมีความเห็นแย้งยืนยันควรฟ้องคดี ตามกฎหมายสำนวนก็จะถูกส่งไปที่ นายวงศ์กุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด เพื่อชี้ขาดคดีว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่
รองโฆษกอัยการ กล่าวถึงเหตุผลที่อัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดีนี้ว่า ตามที่ได้รับรายงานจากสำนักงานอัยการคดีพิเศษเท่าที่เปิดเผยได้โดยไม่กระทบสำนวนที่ยังไม่เสร็จสิ้น ทราบว่าคดีนี้เกิดจากการที่นายศุภชัยถูกกล่าวหาว่าถ่ายโอนเงินจากสหกรณ์คลองจั่น โดยในภาพรวมเป็นการซื้อที่ดินทั้งหมด 3 แปลง จากบริษัท เอ็ม-โฮมเอสพิวี 2 ซึ่งบริษัทดังกล่าวได้ทำสัญญาจะซื้อ-จะขายที่ดิน 3 แปลงนั้นในราคา 1 พันล้านบาท และได้มีการวางมัดจำเบื้องต้น 321 ล้านบาทแล้วที่เหลือจะมีการผ่อนต่อ แต่ปรากฏว่านายศุภชัย ไม่ชำระส่วนที่เหลือ อย่างไรก็ดีสำหรับที่ดินนั้น เป็นที่ดินที่ถูกบริหารจัดการภายใต้โครงการฟื้นฟูกิจการตามคำสั่งศาลของ บริษัทเอ็ม-โฮมฯ และถูกเจ้าหนี้ทวงถามจึงมีการนำที่ดินไปขายเพื่อนำเงินไปใช้หนี้ ทำให้นายศุภชัย ยื่นฟ้องบริษัทเอ็ม-โฮมฯ เป็นคดีแพ่งเพื่อบังคับตามสัญญาจะซื้อจะขาย ขณะที่สุดท้ายคดีศาลแพ่งได้ให้มีการประนีประนอมและมีคำพิพากษาตามยอมของคู่ความทั้ง 2 ฝ่ายโดยให้บริษัทเอ็ม-โฮมฯ โอนเงิน 321 ล้านบาทคืนให้กับนายศุภชัย เท่ากับว่าที่ดินแปลงนี้ไม่เคยโอนไปยังนายศุภชัย และเงินสหกรณ์คลองจั่นที่นำมาซื้อที่ดินก็ได้โอนกลับคืนไปครบถ้วน แต่ต่อมาได้มีการซื้อ-ขายที่ดินนั้นอีกจนเปลี่ยนมือมาถึงนายอนันต์และนายอนันต์มีการบริจาคเงินบางส่วนให้กับวัดพระธรรมกาย จนมาถูกกล่าวหาว่าร่วมกับนายศุภชัย ฟอกเงิน ตรงนี้อัยการสำนักงานคดีพิเศษ จึงพิจารณาว่าถ้าได้ความแบบนี้ก็ไม่ใช่ประเด็นที่นายอนันต์ จะไปสมคบกับนายศุภชัยฟอกเงิน
เมื่อถามว่า เท่ากับนายอนันต์ ไม่มีการรับรู้เรื่องที่ดินระหว่าง นายศุภชัย กับบริษัทเอ็ม-โฮมฯ หรือไม่ อย่างไร รองโฆษกอัยการ กล่าวว่า จากข้อเท็จจริงซึ่งปรากฏในสำนวนที่อัยการสำนักงานคดีพิเศษพิจารณา เท่ากับว่าการทำสัญญาจะซื้อ-จะขาย ที่ดิน 3 แปลงระหว่างนายศุภชัย กับบริษัทเอ็ม-โฮมฯ มูลค่า 1 พันล้านบาท นายอนันต์ไม่มีส่วนรู้เห็นใดๆทั้งสิ้น และประเด็นสำคัญในการประนีประนอมยอมความคดีแพ่งระหว่างนายศุภชัยกับบริษัทเอ็ม-โฮมฯ คือการคืนเงินทุกบาทให้กับสหกรณ์คลองจั่น เท่ากับว่าที่ดินแปลงนี้ไม่เคยเป็นของนายศุภชัยและสหกรณ์คลองจั่น กระบวนการที่มีการกล่าวหานายอนันต์ สมคบกับนายศุภชัยฟอกเงิน พยานหลักฐานในสำนวนไม่ได้เป็นอย่างนั้น ข้อเท็จจริงในสำนวนเฉพาะคดีนี้ สหกรณ์คลองจั่นไม่เกิดเสียหายใดๆ ทั้งสิ้น
เมื่อถามว่า สำนวนการฟอกเงินวัดพระธรรมกายของนายอนันต์ และลูกสาว มีส่งให้อัยการกี่สำนวน นายประยุทธ กล่าวว่า ตนยังไม่มีข้อมูลในส่วนนี้ วันนี้เป็นเพียงการอธิบายเหตุผลที่อัยการสั่งไม่ฟ้องนายอนันต์ในคดีที่เกี่ยวพันกับนายศุภชัยฟอกเงินสำนวนนี้ เนื่องจากพยานหลักฐานไม่มีความเชื่อมโยงเช่นนั้น เวลาอัยการสั่งสำนวน จะสั่งตามพยานหลักฐานและข้อกฎหมายข้อเท็จจริงในสำนวน ส่วนข้อเท็จจริงที่มีคำถามมา ยังไม่มีในสำนวนนี้ซึ่งอัยการสั่งไม่ฟ้องวันที่ 23 ก.ย.62 และมีการส่งความเห็นไปยังดีเอสไอ เมื่อวันที่ 30 ก.ย.62
เมื่อถามว่า ที่มีผู้กังวลคำสั่งไม่ฟ้องนี้มาจากสำนักงานอัยการคดีพิเศษ ซึ่งขณะนั้นนายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ เคยเป็นอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ ปัจจุบันเป็นอัยการสูงสุด แล้วหากอธิบดีดีเอสไอ มีความเห็นแย้งกลับมา หากความเห็นจะต้องถูกชี้ขาดโดยนายวงศ์สกุล อัยการสูงสุด จะเป็นที่ครหาหรือไม่
รองโฆษกอัยการ กล่าวว่า ผู้ที่สั่งไม่ฟ้องนายอนันต์ขณะนั้น ไม่ใช่ตัวนายวงศ์สกุล แต่เป็นผู้ที่รักษาการแทนในตำแหน่งอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ เนื่องจากในขณะนั้นนายวงศ์สกุล ไปราชการต่างประเทศ ประเด็นนี้จึงแยกจากกันชัดเจน
เมื่อถามว่า คดีฟอกเงินวัดพระธรรมกาย ขณะนี้ดีเอสไอส่งสำนวนมาที่อัยการจำนวนกี่เรื่อง นายประยุทธ กล่าวว่า ขณะนี้ ทราบว่ามีหลายสำนวนที่ถูกส่งมาให้อัยการพิจารณา แต่ในรายละเอียดตรงนี้ ทางทีมโฆษกยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน