สุ่มตรวจ"โควิด-19" ในโรงงาน เน้น กลุ่มเสี่ยง ใช้บับเบิลแอนด์ซีล ลดแพร่เชื้อ
สธ.แจง มาตรการบับเบิลแอนด์ซีล ลดแพร่เชื้อ ใช้การสุ่มตรวจ และกักตัว ลดค่าใช้จ่ายในการตรวจ เน้นตรวจกลุ่มเสี่ยงและเฝ้าระวัง
นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กล่าวในการแถลงมาตรการสถานประกอบการที่พบการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน ว่า หลักการควบคุมโรคบับเบิลแอนด์ซีล(Bubble and seal) คือการพยายามกำหนดขอบเขตหรือกลุ่มคนในการแยกส่วนสัมผัสระหว่างกลุ่มคนทำงานรวมไปถึงการเดินทางระหว่างที่ทำงานและที่พัก ซึ่งที่ผ่านมาหากพบมีการติดเชื้อในโรงงานโดยปกติจะมีการสอบสวนโรคเพื่อหาที่มาของโรคว่าติดจากแหล่งใดเพื่อหาบุคคลเสี่ยงที่อาจจะติดโรคหรือบุคคลใกล้ชิดเพื่อป้องกัน สำหรับมาตรการบับเบิลแอนด์ซีล หากพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 10% ก็จะมีการดำเนินการอย่างเข้มข้นโดย จะมีการแยกผู้ป่วยที่มีอาการการ จัดสถานที่เพื่อที่จะให้เป็นพื้นที่แยกกักภายในโรงงานคล้ายโรงพยาบาลสนาม คือการแยกส่วนให้เป็นพื้นที่ลดการสัมผัสและให้การดูแลและให้การเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง
ในส่วนของการสุ่มตรวจจะมีแนวทางโดยเน้นในเรื่องของจำนวนพนักงาน ในกรณีที่โรงงานที่มีพนักงานน้อยกว่า 100 คนให้ทำการสุ่มตรวจ 50 คนหากมีปริมาณพนักงานเกิน 100 คนขึ้นไป จะทำการสุ่มตรวจที่ปริมาณ 75 คนแต่ถ้าหากมีจำนวนพนักงานถึงหลักพันคนจะสุ่มตรวจทุกๆ 150 คนต่อ 1000 คน
ทั้งนี้หากพบว่ามีความเสี่ยงในกลุ่มคนและพบว่าร่างกายของผู้เสี่ยงมีความแข็งแรงอยู่จะใช้การเฝ้าระวัง กักตัว 14วัน ถ้าบุคคลใดเริ่มป่วยและมีอาการก็จำเป็นที่จะต้องแยกออกมาเพื่อตรวจเชื้อ ซึ่งการสุ่มตรวจจะเน้นการสุ่มตรวจในกลุ่มเสี่ยงก่อน เช่นผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ที่อาจจะต้องทำการตรวจเชื้อทุกราย เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการตรวจ การตรวจนั้นไม่ได้เป็นการตรวจทุกคน
สำหรับมาตรการบับเบิล แอนด์ ซีล นี้ก็เพื่อให้เกิดความมั่นใจและมีการตรวจที่เหมาะสมเป็นไปได้และและทำให้การควบคุมโรคได้ผล