สวม "หน้ากากอนามัย" แต่ทำไมติดเชื้อ โควิด-19 ไขข้อข้องใจ พฤติกรรมหละหลวม
ผู้ป่วยบางรายป้องกันตนเองด้วยการสวม "หน้ากากอนามัย" เป็นประจำ แต่ยังสามารถติดเชื้อ โควิด-19 ได้ ไขข้อข้องใจ พฤติกรรมหละหลวมในมาตรการบางอย่าง
จากการศึกษาผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 พบว่า ผู้ป่วยบางรายป้องกันตนเองด้วยการสวม "หน้ากากอนามัย" เป็นประจำ แต่ยังสามารถติดเชื้อโรคโควิด-19 ได้ เนื่องจากการสวมหน้ากากอนามัยผิดวิธี รวมถึงอาจมีพฤติกรรมหละหลวมในมาตรการบางอย่าง
สาเหตุที่ทำให้ติดเชื้อ โควิด-19 แม้สวมหน้ากากอนามัย
- การนำมือที่เปื้อนสารคัดหลั่งไปสัมผัสบริเวณใบหน้า ดวงตา รวมถึงจมูก
- สวมหน้ากากอนามัยผิดวิธี โดยขอบของหน้ากากไม่แนบสนิทกับใบหน้า หรือปิดบริเวณปากและจมูกไม่มิดชิด
- เก็บหน้ากากอนามัยไว้ในที่เสี่ยงต่อการสะสมของเชื้อโรค เช่น กระเป๋ากางเกง กระเป๋าสะพาย หรือวางบนโต๊ะระหว่างรับประทานอาหาร ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงต่อการเปื้อนเชื้อโรค
- การใช้หน้ากากอนามัยชิ้นเดิมซ้ำหลายครั้ง ทำให้มีความเสี่ยงสูงที่จะรับเชื้อ โควิด-19 ซึ่งปนเปื้อนมากับผิวสัมผัสของหน้ากาก
- ใช้มือสัมผัสหน้ากากอนามัยบ่อยครั้ง แล้วสัมผัสตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
คำแนะนำจากแพทย์
- โรคโควิด-19 ติดต่อผ่านทางละอองฝอยขนาดใหญ่ และการสัมผัสสารคัดหลั่ง ดังนั้น นอกจากการสวมหน้ากากอนามัยให้ถูกวิธีแล้ว ต้องหมั่นล้างมือและเช็ดทำความสะอาดจุดที่สัมผัสบ่อย ๆ เป็นประจำ
ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงาน วันจันทร์ที่ 23 สิงหาคม 2564 เวลา 12.30 น. สถานการณ์การติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศ ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 พบ ผู้ป่วยรายใหม่ 17,491 ราย แบ่งเป็น ผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ 15,014 ราย ค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 2,072 ราย จากเรือนจำ / ที่ต้องขัง 398 ราย ผู้เดินทางจากต่างประเทศเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 7 ราย ขณะที่ หายป่วยแล้ว 834,344 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 1,037,923 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 242 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 9,468 ราย ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 22 สิงหาคม 2564 มีผู้รับวัคซีนโควิด สะสมทั้งหมด จำนวน 27,038,999 โดส โดยวันที่ 22 สิงหาคม 2564 มีผู้รับการฉีดวัคซีน เข็มที่ 1 จำนวน 157,857 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 47,183 ราย และ เข็มที่ 3 จำนวน 1,780 ราย