25 ส.ค. 2564

กรมควบคุมโรค ห่วงผู้ป่วย"เบาหวาน" หากติดเชื้อ"โควิด-19" มีผลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น เชื้อไวรัสแพร่จำนวนได้มากขึ้น อาการจะรุนแรงกว่าคนทั่วไปถึง 2 เท่าตัว แนะรีบรับวัคซีนให้ครบ 2 เข็ม ลดความรุนแรง ลดอัตราเสียชีวิตได้กว่า 90 % 

นายแพทย์ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งขณะนี้ส่วนใหญ่เป็นเชื้อสายพันธุ์เดลตา (Delta)  ที่น่าห่วงคือกลุ่มของผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งขณะนี้ทั่วประเทศมีจำนวนกว่า 3 ล้านคน นับเป็นกลุ่มเสี่ยงสำคัญหากติดเชื้อโควิด-19 จะเกิดอาการป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิตได้ เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าคนทั่วไป และยิ่งเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวานที่คุมระดับน้ำตาลไม่ได้ ซึ่งมีประมาณ 2.1 ล้านคน หรือ 70 % ของผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมด จะมีโอกาสติดเชื้อง่ายขึ้นไปอีก 
ป่วย\"เบาหวาน\"ติด\"โควิด-19\" เสี่ยงโคม่าสูง 2 เท่า แนะรีบฉีดวัคซีน

ผลการศึกษาพบว่า ระดับน้ำตาลที่สูงจะทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายต่ำลง และเชื้อไวรัสโควิด-19 จะเจริญเติบโตได้ดี  และเพิ่มจำนวนมากขึ้น จึงขอให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานทุกคน เคร่งครัดปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ รับประทานยาให้ครบอย่างสม่ำเสมอ อย่าขาดยาอย่างเด็ดขาด ดูแลสุขภาพแข็งแรง ไม่เครียด และให้รีบเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ฟรี ที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านโดยเร็ว และไปรับการฉีดให้ครบ 2 เข็มตามนัดของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ซึ่งวัคซีนจะลดความรุนแรงและลดอัตราการเสียชีวิตได้

ป่วย\"เบาหวาน\"ติด\"โควิด-19\" เสี่ยงโคม่าสูง 2 เท่า แนะรีบฉีดวัคซีน

ทางด้านนายแพทย์กฤษฎา หาญบรรเจิด ผู้อำนวยการกองโรคไม่ติดต่อ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการวิเคราะห์ในกลุ่มที่เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงวันที่ 13 สิงหาคม 2564 ซึ่งมีจำนวนสะสม 7,126 ราย พบว่าโรคเบาหวาน เป็นสาเหตุแทรกซ้อนอยูในอันดับต้นๆ จากข้อมูลการศึกษาวิจัยในผู้ป่วยเบาหวานที่ติดเชื้อโควิด-19 พบว่าฤทธิ์ของไวรัส จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดผันผวนและควบคุมได้ยาก และเกิดภาวะแทรกซ้อนสูงกว่าคนที่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวานถึง 2 เท่าตัว และยังมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่า 3 เท่าตัว เมื่อผู้ป่วยเบาหวานได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว หลังฉีดอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นชั่วคราวได้ ไม่ต้องตกใจ หรือเป็นกังวล เนื่องจากเป็นกลไกการทำงานของภูมิต้านทานโรคโดยทั่วไป