"มาตรการผ่อนคลาย" โควิด-19 ประกาศกรุงเทพมหานคร 1 ก.ย. เปิดดำเนินการอะไรได้
ประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 41) เช็กให้ชัวร์ที่นี่ 1 ก.ย. "มาตรการผ่อนคลาย" โควิด-19 เปิดดำเนินการอะไรได้ - ไม่ได้บ้าง
29 สิงหาคม 2564 พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงนาม ประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 41) "มาตรการผ่อนคลาย" โควิด-19 ให้สถานที่ดังต่อไปนี้ สามารถเปิดดำเนินการหรือทำกิจกรรมบางอย่างได้ โดยต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรค มาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด
- โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาทุกประเภท ให้สามารถใช้อาคารหรือสถานที่เพื่อการจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือการทำกิจกรรมใด ๆ ที่มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมากได้ โดยให้ผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องในพื้นที่รับผิดชอบ ร่วมกับคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร พิจารณาความจำเป็นและการดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด รวมทั้งความเหมาะสมของสภาพพื้นที่และสถานการณ์ในพื้นที่รับผิดชอบ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงสาธารณสุขกำหนด
- ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม สามารถเปิดให้บริการได้โดยให้บริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มในร้านได้ไม่เกินเวลา 20.00 นาฬิกา ห้ามการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน และจำกัดจำนวนผู้นั่งบริโภคในร้าน หากเป็นการบริโภคในห้องปรับอากาศให้มีจำนวนไม่เกินร้อยละ 50 ของจำนวนที่นั่งปกติ แต่หากเป็นการบริโภคในพื้นที่เปิดที่อากาศสามารถระบายถ่ายเทได้ดี เช่น ร้านอาหารขนาดเล็ก หาบเร่ แผงลอย รถเข็น ให้มีจำนวนผู้นั่งบริโภคไม่เกินร้อยละ 75 ของจำนวนที่นั่งปกติ และให้ใช้บังคับมาตรการนี้กับร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้ คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกันด้วย
- สถานเสริมความงาม ร้านเสริมสวย แต่งผมหรือตัดผม ให้เปิดดำเนินการได้
- สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ หรือสถานประกอบการนวดแผนไทย ให้เปิดให้บริการได้เฉพาะการให้บริการนวดเท้า
- ตลาดสด ตลาดนัด ให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติจนถึง 20.00 นาฬิกา เฉพาะการจำหน่ายสินค้าอุปโภคหรือบริโภค
- ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบกิจการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกันสามารถปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้น ๆ จนถึงเวลา 20.00 นาฬิกา เว้นแต่กิจการหรือกิจกรรมบางประเภทที่กำหนดเงื่อนไขควบคุมการให้บริการ หรือให้ปิดการดำเนินการไว้ก่อน
- คลินิกเวชกรรมเสริมความงาม สถานเสริมความงาม สามารถเปิดดำเนินการและให้บริการได้ผ่านการนัดหมาย ส่วนร้านเสริมสวย แต่งผมหรือตัดผมให้เปิดดำเนินการได้ โดยผ่านการนัดหมายและจำกัดเวลาการให้บริการในร้านไม่เกินรายละหนึ่งชั่วโมง
- สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ หรือสถานประกอบการนวดแผนไทย ให้เปิดดำเนินการได้ โดยผ่านการนัดหมายและจำกัดเฉพาะการให้บริการนวดเท้า
- สถาบันกวดวิขาโรงภาพยนตร์ สวนสนุก สวนน้ำ สระว่ายน้ำ สถานที่ออกกำลังกาย ฟิตเนส ตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกม การจัดเลี้ยงหรือการจัดประชุม ยังคงให้ปิดการดำเนินการไว้ก่อน
- สวนสาธารณะ (ให้ใช้เพื่อการออกกำลังกายเท่านั้น) ลานกีฬา สนามกีฬา สระน้ำ เพื่อการกีฬาหรือกิจกรรมทางน้ำเพื่อการสันทนาการ หรือสระว่ายน้ำสาธารณะ หรือสถานที่เพื่อการออกกำลังกายประเภทกลางแจ้งหรือตั้งอยู่ที่เป็นพื้นที่โล่ง สนามกีฬาหรือสถานที่เพื่อการออกกำลังกายประเภทในร่มที่อากาศถ่ายเทได้ดี สามารถเปิดดำเนินการได้ไม่เกินเวลา 20.00 นาฬิกา และสามารถจัดการแข่งขันได้โดยไม่มีผู้ชมในสนาม (ยกเว้นสวนสาธารณะหรือสนามกีฬา ที่มีการใช้เพื่อให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขของภาครัฐ ให้เปิดดำเนินการเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว)
การใช้สนามกีฬาทุกประเภทเพื่อการฝึกซ้อมของนักกีฬาทีมชาติ โดยไม่มีผู้ชมในสนาม สามารถดำเนินการได้ โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจ้งต่อคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร และต้องดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด
- สถานรับเลี้ยงเด็ก (เฉพาะสถานที่รับเลี้ยงเต็กในโรงพยาบาล และที่มีการรับตัวไว้พักค้างคืนเป็นปกติธุระ)
- สถานดูแลผู้สูงอายุ (เฉพาะที่มีการรับตัวไว้พักค้างคืนเป็นปกติธุระ)
- ร้านสะดวกซื้อ ให้เปิดดำเนินการได้จนถึงเวลา 20.00 นาฬิกา โดยจำกัดเวลาสำหรับร้านสะดวกซื้อซึ่งตามปกติเปิดให้บริการในช่วงเวลากลางคืน ให้ปิดให้บริการในระหว่างเวลา 20.00 นาฬิกา ถึง 04.00 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้น
- โรงพยาบาล สถานพยาบาล คลินิกแพทย์รักษาโรค ร้านขายยา ร้านค้าทั่วไป โรงงาน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกรรมการเงิน ธนาคาร ตู้เอทีเอ็ม ธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม ไปรษณีย์และพัสดุภัณฑ์ ร้านจำหน่ายอาหารสัตว์ ร้านขายยาและเวชภัณฑ์ ร้านจำหน่ายเครื่องมือช่างและอุปกรณ์ก่อสร้าง ร้านจำหน่ายสินค้าเบ็ดเตล็ดอันจำเป็น สถานที่จำหน่ายแก๊สหุงต้ม เชื้อเพลิง ปั๊มน้ำมัน ปั๊มแก๊ส โรงแรม (งดกิจกรรมจัดประชุม การสัมมนา หรือการจัดเลี้ยง) ธุรกิจประกันภัย หน่วยบริการงานช่วยเหลือกู้ภัย ศูนย์บริการหรือร้านซ่อมแซ่มยานพาหนะ ร้านแบตเตอรี่ หน่วยบริการตรวจสอบหรือซ่อมบำรุงระบบสาธารณูปโภค ระบบระบายน้ำ ระบบท่อส่งน้ำมันและก๊าชธรรมชาติ ผู้จัดเก็บและกำจัดขยะ รวมทั้งบริการส่งสินค้ำและอาหารตามสั่ง (delivery online) เปิดดำเนินการได้ตามความจำเป็น โดยให้ผู้เกี่ยวข้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด
- พื้นที่หรือสถานที่ก่อสร้าง ดัดแปลงหรือรื้อถอนอาคาร สถานที่พักอาศัยชั่วคราวสำหรับแรงงานงานก่อสร้าง และการเดินทางเคลื่อนย้ายแรงงาน ซึ่งได้เคยมีประกาศหรือคำสั่งให้ปิดสถานที่หรือหยุดการดำเนินการตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 34) ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2564 หรือเคยได้รับการผ่อนคลายแบบมีเงื่อนไข ตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 35) ลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 แต่ต่อมาสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้ตามมาตรฐานทางสาธารณสุข หรือได้ดำเนินการแก้ไขเพื่อให้สถานที่มีสภาวะที่ถูกสุขลักษณะแล้ว เปิดดำเนินการได้ภายใต้หลักเกณฑ์ มาตรการ และแนวทางกำกับติดตามประเมินผลที่กระทรวงสาธารณสุขหรือทางราชการกำหนด ซึ่งรวมถึงการดำเนินมาตรการป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ (Bubble and Seal เพื่อป้องกันการระบาดในแรงงานก่อสร้าง และเมื่อเกิดการระบาดในพื้นที่ต้องมีการปรับระดับความเข้มข้นของมาตรการ ทั้งนี้ ยังคงให้ดำเนินกิจการต่อไปภายใต้มาตรการการเดินทางเคลื่อนย้ายระหว่างที่พักและสถานที่ทำงานภายใต้การกำกับควบคุม (Sealed Route) มีการบริหารจัดการในการแยกผู้ติดเชื้อ ผู้สัมผัสใกล้ชิด ผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อ และกลุ่มเปราะบาง มีบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข รวมทั้งมีการจัดเครื่องอุปโภคบริโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด โดยให้สำนักงานเขตพื้นที่ที่สถานที่ตั้งอยู่แจ้งเจ้าของสถานที่ที่สามารถเปิดดำเนินการได้ทราบ
- ห้ามการจัดกิจกรรมรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่ายี่สิบห้าคน โดยให้เป็นไปตามข้อห้ามและข้อยกเว้นตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 33) ลงวันที่ 20 มิถุนายน 2564 (ฉบับที่ 34) ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2564 และข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 30) ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2564
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 หรือจนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น