เด่นโซเชียล

วันแรก "เดินทางข้ามจังหวัด" เช็กเงื่อนไขไปพื้นที่ไหนได้บ้าง

วันแรก "เดินทางข้ามจังหวัด" เช็กเงื่อนไขไปพื้นที่ไหนได้บ้าง

01 ก.ย. 2564

เช็กเงื่อนไข "กรมการขนส่งทางบก" ปลดล็อก "เดินทางข้ามจังหวัด" ได้ รถโดยสารสาธารณะให้บริการได้ไม่เกิน 75 % ของที่นั่งทั้งหมด ยังงดให้บริการช่วง 3ทุ่ม-ตี4 ต่อเนื่องถึง 14 ก.ย. 64

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กล่าวว่า ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) ได้มีแนวทางผ่อนคลายล็อกดาวน์บางมาตรการให้เหมาะสมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีแนวโน้มคลี่คลายอย่างต่อเนื่อง กรมจึงได้มีคำสั่งปรับปรุงมาตรการการให้บริการรถโดยสารสาธารณะ และการขนส่งสินค้าให้สอดคล้องกับข้อกำหนดแนวทางของ ศบค. และสอดคล้องตามสถานการณ์ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง โดยให้ผู้ประกอบการขนส่งปฏิบัติ ดังนี้

 

วันแรก \"เดินทางข้ามจังหวัด\" เช็กเงื่อนไขไปพื้นที่ไหนได้บ้าง

 

 

  • การให้บริการเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะทุกประเภท สามารถจัดบริการเดินรถข้ามเขตจังหวัด และออกนอกเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดไปยังพื้นที่อื่นได้ และสามารถรองรับผู้โดยสารได้ไม่เกินร้อยละ 75 ของจำนวนที่นั่งและที่ยืน 

 

  • การให้บริการรถโดยสารประจำทางในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และเส้นทางระหว่างจังหวัดที่มีต้นทางหรือปลายทางกรุงเทพมหานคร และรถโดยสารไม่ประจำทางยังคงงดให้บริการตั้งแต่เวลา 21.00 - 04.00 น. ของวันรุ่งต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน (จนถึงวันที่ 14 กันยายน 2564)
  • การให้บริการของรถโดยสารประจำทาง และรถโดยสารไม่ประจำทาง ที่ให้บริการในพื้นที่ต่างจังหวัด ให้ปฏิบัติตามคำสั่งคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัด 

 

  • ผู้ประกอบการขนส่งสินค้า ยังคงให้งดการขนส่งสินค้า ระหว่างเวลา 21.00 น. ถึง 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น ถึงวันที่ 14 กันยายน 2564 เว้นแต่ที่มีความจำเป็นในการขนส่งสินค้าที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน อาทิ ขนส่งอาหาร ยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ สินค้าอุปโภคบริโภค ผลผลิตทางการเกษตร น้ำมันเชื้อเพลิง ไปรษณีย์ พัสดุภัณฑ์สิ่งพิมพ์  โดยผู้ขับขี่จะต้องเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้อง เช่น ใบอนุญาตขับรถ บัตรประจำตัวประชาชน เอกสารรับรองความจำเป็นเกี่ยวกับสินค้า ฯลฯ 

 

นายจิรุตม์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามการให้บริการเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะทุกประเภทยังต้องดำเนินการตามมาตรการสาธารณสุขเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของโรคอย่างเคร่งครัด อาทิ ต้องมีมาตรการคัดกรองผู้โดยสาร ปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่าง สวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดการเดินทาง จัดเก็บข้อมูลของผู้โดยสารเพื่อประโยชน์ในการติดตามสอบถาม เป็นต้น