"สธ." เดินหน้าฉีดวัคซีน สร้างความมั่นใจการเข้าใช้บริการ "ร้านอาหาร"
"กระทรวงสาธารณสุข" เปิดฉีดวัคซีนกลุ่มผู้ให้บริการร้านอาหาร กทม. และปริมณฑล เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้ใช้บริการ
3 กันยายน 64 ที่ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ กทม. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เยี่ยมชมการให้บริการฉีดวัคซีนโควิด 19 แก่ผู้ประกอบการ พนักงานร้านอาหาร กลุ่มสมาคมภัตตาคารไทย โดยมี นพ.โสภณ เมฆธน ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ และคณะผู้บริหาร ให้การต้อนรับ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เช็กเลย ผู้ติดเชื้อ "โควิดวันนี้" กทม.แยกตามเขต 50 เขต ที่ไหนเยอะสุด
- "บุคลากรทางการแพทย์" ไม่ยอมฉีดวัคซีน โควิด-19 ถูกสั่งพักงาน - ไม่ได้ค่าจ้าง
- เปิดคอมเมนต์บ่นกันระงม "ผมร่วง" หลังหายป่วยโควิด-19 บางคนร่วงแทบหมดหัว
นายอนุทิน กล่าวว่า ภายหลังรัฐบาลอนุญาตให้เปิดบริการสถานประกอบการและกิจการร้านอาหารภายใต้มาตรการที่กำหนด โดยเฉพาะเขตพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด
กระทรวงสาธารณสุข ได้รับการประสานจาก สมาคมภัตตาคารไทย ในการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหาร ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการสร้างความปลอดภัยให้กับทั้งผู้ให้บริการและประชาชนผู้มาใช้บริการ โดยให้บริการที่ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ ผ่านการลงทะเบียนรูปแบบองค์กร เป้าหมาย 60,000 คน ในจำนวนนี้ประมาณ 30,000 คน ได้รับการฉีดวัคซีนไปก่อนหน้าแล้ว กลุ่มที่เหลือจะฉีดให้ครบภายใน 2 สัปดาห์
สำหรับพนักงานหรือลูกจ้างของร้านค้า แผงลอย ที่ไม่ได้อยู่ในสมาคมภัตตาคารไทย สามารถประสานผ่านสมาคมฯ เพื่อขอเข้ารับการฉีดวัคซีนได้ ส่วนแรงงานข้ามชาติ จะหาแนวทางร่วมกับฝ่ายความมั่นคง เพื่อให้ได้รับการฉีดทุกคน
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า กลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหารทุกคนจะได้รับการฉีดวัคซีนสูตรไขว้ ซิโนแวค เป็นเข็มแรกตามด้วย แอสตร้าเซนเนก้า มีระยะห่างระหว่างเข็มประมาณ 3 สัปดาห์ ซึ่งมีหลักฐานทางวิชาการว่ามีความปลอดภัย ทำให้มีภูมิคุ้มกันสูง สามารถรับมือกับเชื้อโควิด สายพันธุ์เดลต้า ได้ อย่างไรก็ตาม แม้ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ยังคงต้องป้องกันตนเองอย่างสูงสุด ทั้ง การสวมหน้ากาก หมั่นล้างมือ เว้นระยะห่าง ที่สำคัญต้องดูแลจัดการสิ่งแวดล้อมในร้านให้มีการถ่ายเทอากาศที่ดี ทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมบ่อยๆ เพื่อลดการรับและแพร่เชื้อไปสู่ประชาชนที่มาใช้บริการ
สำหรับ วัคซีนไฟเซอร์ ได้วางแผนที่จะฉีดให้กับกลุ่มเด็ก เยาวชน อายุ 12-18 ปี ซึ่งประเทศไทยมีประมาณ 5 ล้านคน โดยจัดการฉีดในสถานศึกษา ภายใต้ระบบการบริการและเฝ้าระวังตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขเพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด รวมถึงฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยง และใช้เป็นเข็มกระตุ้นด้วย