ข่าว

การรถไฟฯ แจงยิบกรณีพิพาท "ที่ดินเขากระโดง" ยัน เป็นเรื่องซับซ้อน

การรถไฟฯ แจงยิบกรณีพิพาท "ที่ดินเขากระโดง" ยัน เป็นเรื่องซับซ้อน

03 ก.ย. 2564

การรถไฟฯ ชี้แจงกรณี "อภิปรายไม่ไว้วางใจ" "ที่ดินเขากระโดง" เหตุไม่ฟ้อง ปชช. มีการออกเอกสารสิทธิทับซ้อนของหน่วยงานอื่น เผยขณะนี้มีผู้บุกรุกจำนวนมาก

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ชี้แจง กรณีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ของนายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนราธิวาส พรรคประชาชาติ ที่มีการกล่าวถึงการดำเนินการของการรถไฟฯ เกี่ยวกับกรณีการแก้ไขปัญหาที่ดินข้อพิพาทที่มีการออกเอกสารสิทธิ์ทับซ้อนบริเวณพื้นที่เขากระโดง อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ ว่า  สำหรับปัญหาที่ดินของการรถไฟฯ บริเวณเขากระโดง จากการตรวจสอบพบว่ามีผู้บุกรุก จำนวนประมาณ 83 ราย ซึ่งที่ผ่านมา รฟท. ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการบุกรุกตามขั้นตอนภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด ทั้งนี้บริเวณเขากระโดง มีปัญหามาอย่างยาวนาน และมีความสลับซับซ้อน ซึ่งเกิดขึ้นจากกระบวนการสำรวจ การออกเอกสารสิทธิ์ที่คลาดเคลื่อน โดยล่าสุดเมื่อต้นปี 2564 การรถไฟฯ ได้ดำเนินการสำรวจที่ดินบริเวณเขากระโดง โดยไม่ได้มีการสำรวจที่ดินของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเป็นการเฉพาะ พบว่า มีผู้ถือครองเอกสารสิทธิ์ที่ออกโดยหน่วยงานราชการประมาณ 900 ราย   ซึ่งในกรณีดังกล่าว การรถไฟฯ ได้ยึดแนวทางในการดำเนินการทุกขั้นตอนบนหลักการว่า ประชาชนผู้ถือเอกสารสิทธิ์ในที่ดินที่ออกโดยทางราชการ และอาศัยอยู่ในที่ดินตามเอกสารสิทธิ์ดังกล่าว ถือว่าเป็นผู้อาศัยในที่ดินโดยสุจริต

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

นายนิรุฒ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมไม่ฟ้องประชาชนตามคำแนะนำของสำนักงานอัยการสูงสุดการรถไฟฯ ไม่ทราบว่ากรมที่ดิน ได้หารือประเด็นใดรวมถึงการจัดส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบ การพิจารณาวินิจฉัยของสำนักงานอัยการสูงสุดเพียงใด อย่างไรก็ตามการรถไฟฯ ได้นำคำวินิจฉัยของสำนักงานอัยการสูงสุดมาพิจารณาในการดำเนินการแล้วเห็นว่า การที่มีการออกเอกสารสิทธิ์ทับบนที่ดินที่สันนิษฐานว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯ เป็นกรณีที่ประชาชนผู้ถือเอกสารสิทธิ์ในที่ดินที่ออกโดยทางราชการและอาศัยอยู่ในที่ดินตามเอกสารสิทธิ์ดังกล่าว เป็นผู้อาศัยในที่ดินโดยสุจริต การรถไฟฯ จึงไม่มีความประสงค์ที่จะดำเนินคดีกับประชาชนผู้ถือเอกสารสิทธิ์ที่ออกโดยทางราชการ แต่จะดำเนินการโดยมุ่งเน้นพิสูจน์ข้อเท็จจริงจากหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย เมื่อกรมที่ดินเป็นหน่วยงานที่ดำเนินงานออกหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้ราษฎรและให้บริการ จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น และมีข้อเท็จจริงปรากฏตามผลของคำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้น ทำให้การรถไฟฯ เชื่อได้ว่าการออกเอกสารสิทธิในพื้นที่บริเวณเขากระโดงโดยความคลาดเคลื่อนเกิดจากเจ้าพนักงาน

สำหรับ การรถไฟฯ  มีที่ดิน มีจำนวนทั้งสิ้น 245,807.97 ไร่ มีที่มาของกรรมสิทธิ์ที่ดินจาก 6 ช่องทาง คือ การได้มาโดยพระบรมราชโองการ การเวนคืน การจัดซื้อ การรับมอบจากประชาชน การจับจอง และการแลกเปลี่ยนพื้นที่โดยรวมของการรถไฟฯ ทั้งหมดทั่วประเทศ แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ ได้แก่

1.พื้นที่ใช้ในการเดินรถในปัจจุบัน 190,606.97 ไร่ อาทิ พื้นที่ย่านสถานี พื้นที่บ้านพักและที่ทำการ พื้นที่เขตทางรถไฟ พื้นที่โรงรถจักร โรงซ่อมบำรุง

 

2.พื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในการเดินรถในปัจจุบัน 55,201 ไร่ แบ่งออกเป็นพื้นที่ที่นำมาจัดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์เพื่อหารายได้โดยนำออกจัดประโยชน์แล้ว 5,205 ไร่  อยู่ระหว่างดำเนินการ 49,996 ไร่ และพื้นที่ที่ยังไม่สามารถนำมาจัดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้ แบ่งออกเป็น

 

  • ที่ดินที่มีการบุกรุก มีผู้บุกรุกเข้าครอบครองที่ดินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่มีเอกสารสิทธิ์ จำนวน 18,822 ราย ประกอบด้วย พื้นที่ในเขตกรุงเทพปริมณฑล 1,538 ราย พื้นที่ในเขต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 911 ราย นครราชสีมา ขอนแก่น ศรีสะเกษ และจังหวัดใกล้เคียง 3,045 ราย นครสวรรค์ พิษณุโลก จังหวัดใกล้เคียง 869 ราย และพื้นที่ในจังหวัดอื่นๆ 12,459 ราย

 

  • ที่ดินที่มีข้อพิพาท ซึ่งมีการออกเอกสารสิทธิ์บนพื้นที่ที่สันนิษฐานว่าเป็นที่ดินของการรถไฟฯ เช่น พื้นที่บริเวณพังงา-ท่านุ่น จ.พังงา พื้นที่บริเวณอรัญประเทศ จ. สระแก้ว พื้นที่บริเวณ บ้านโพธิ์มูล จ.อุบลราชธานี

 

 

ที่มา:ฝ่ายสื่อสารองค์กร การรถไฟแห่งประเทศไทย