เด่นโซเชียล

"พระมหาไพรวัลย์" เปิดปม ไม่สำรวมใครจะศรัทธา หัวเราะ=ศาสนาเสื่อม จริงหรือ

"พระมหาไพรวัลย์" เปิดปม ไม่สำรวมใครจะศรัทธา หัวเราะ=ศาสนาเสื่อม จริงหรือ

04 ก.ย. 2564

"พระมหาไพรวัลย์" เปิดปม ไม่สำรวมใครจะศรัทธา หัวเราะ=ศาสนาเสื่อม จริงหรือ พร้อมยกเคสคนที่ไม่มีศาสนาทั้งพฤตินัยและนิตินัย แต่กลับหันมาสนใจ ธรรมะ มากกว่าคนที่เรียกตัวเองว่าเป็น ศาสนิก

วันที่ 4 กันยายน 2564 "พระมหาไพรวัลย์" วรวณฺโณ แห่ง วัดสร้อยทอง ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับข้อครหาที่ว่า ไม่สำรวมแบบนี้ใครจะศรัทธา , หัวเราะ = ศาสนาเสื่อม ภายหลังจากที่ ปรากฏการณ์ พระมหาไพรวัลย์ ฟีเวอร์ในช่วงตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา ต้องบอกว่าทำให้วัยรุ่นต่างสนใจที่เข้าไปดู ไลฟ์สด สอนธรรมะกันอย่างถล่มทลายจนขึ้นไปติดเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับ 1 

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

อย่างไรก็ตาม ด้วยความตลก ฮา แบบสุดๆทำให้คนบางกลุ่มมาตั้งคำถามกับ "พระมหาไพรวัลย์" ว่า แบบนี้ใครจะศรัทธา การหัวเราะทำให้ศาสนาเสื่อม ซึ่งล่าสุด พระอาจารย์ก็ได้ให้ข้อคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ 

 

"พระมหาไพรวัลย์" เขียนข้อความร่ายยาวระบุว่า อาตมาคิดว่า แน่นอนทีเดียวในการที่อาตมาเปลี่ยนรูปแบบและวิธีการในการเผยแผ่ศาสนาแล้ว จะต้องมีชาวพุทธบางกลุ่มมองว่า ไม่เหมาะ ไม่ควร ทำให้ศาสนาเสื่อม หรือทำให้คนหมดศรัทธา ไม่ว่าชาวพุทธกลุ่มนั้น จะมองแบบไหน อาตมาขอยอมรับและไม่ขอปฏิเสธเลย 

 

อาตมาจะเขียนให้ชัดอีกครั้งว่า เหมาะสมทั้งหมด ไม่มีทางเป็นไปได้ และไม่เหมาะสมทั้งหมด ก็อาจไม่มีอยู่จริง ธรรมะมันเหมือนกับอะไรบางอย่าง ซึ่งมีหลายระดับและเหมาะกับคนแต่ละช่วงวัยแตกต่างกันไป บางคนอาจจะชอบกับรสขมของอเมริกาโน่ ในขณะที่บางคนอาจกินได้แค่ลาเต้อย่างเดียว 

 

อาตมาปลื้มใจมากนะ วันนี้มีโยมคณะหนึ่งมาขอพบอาตมา อาตมาถามเขาว่า พวกโยมมาจากไหน พวกเขาตอบว่า มาจากบ้านค่ะ (สภาพพพพนะน้องนะ) ฟังแบบนี้ก็โล่งใจ อาตมาจึงเข้าไปสนทนาด้วย (คือถ้าบอกว่า มาจากโรงพัก ก็อาจจะคิดหนักหน่อย) 

 

ในคณะที่ว่านี้ มีโยมผู้หญิง 2 คนเป็น 2 แม่ลูก คนแม่ชื่อว่าโยมผึ้ง ส่วนคนลูกอาตมาจำชื่อไม่ได้ (ถ้าจำได้เดี๋ยวค่อยมาเขียนใส่ทีหลัง) (จำได้แล้วชื่อพิ้งกี้) 

 

 

"พระมหาไพรวัลย์" เผยต่อว่า ความพิเศษของสองแม่ลูกนี้ ก็คือว่า โยมผู้หญิงที่เป็นลูก ตอนนี้เธออายุ 22 ปี เมื่อตอนที่เธออายุ 18 คือเมื่อ 4 ปีที่แล้ว โยมพิ้งกี้ ได้ตัดสินใจขออนุญาตแม่ของเธอเพื่อที่จะเลิกนับถือศาสนา และกลายเป็นคนที่ไม่มีศาสนา ทั้งโดยพฤตินัยและนิตินัย 

 

เธอให้เหตุผลว่า ศาสนาที่เธอเข้าใจในตอนหลัง กับศาสนาที่เธอได้รับการปลูกฝังมาไม่เหมือนกัน ศาสนาแบบปลูกฝัง เป็นเรื่องอะไรที่เข้าใจยากมาก เต็มไปด้วยเรื่องเกินจริง ไม่มีเหตุผล เคร่งครัด และเต็มไปด้วยข้อจำกัด ในขณะที่ศาสนาที่เธอเข้าใจในตอนหลัง กลับไม่ใช่อะไรเลย 

 

อาตมาคุยกับโยมผึ้งผู้เป็นแม่ โยมผึ้งบอกว่า ด้วยการที่ตัวเองเป็นครูด้วย ตอนนั้น ก็เผื่อใจไว้แล้ว คือไม่คิดที่จะขัดขวางลูก และพร้อมเสมอในการรับฟังเหตุของลูก หากต้องการจะเลิกนับถือศาสนา เธอแนะนำให้ลูกของเธอไปจัดการเรื่องบัตรประชาชน ตามความประสงค์อย่างที่ลูกอยากจะเป็น 

 

เธอบอกว่า เธอถามลูกว่า แล้วหนูจะนับถืออะไร ยึดเหนี่ยวอะไร ลูกของเธอก็ตอบว่า หนูขอนับถือตัวเองและมีแม่เป็นที่ยึดเหนี่ยวก็พอ ลูกของเธอสักคำว่าแม่ ไว้ที่หน้าอกด้วย โยมผึ้งกล่าว 

 

โยมผึ้งเล่าต่อไปว่า สิ่งที่เป็นเรื่องที่เธอรู้สึกตกใจและเซอร์ไพรส์เป็นอย่างมาก คือตลอดระยะเวลา 4 ปี นับตั้งแต่ที่ลูกของเธอเลิกนับถือศาสนา ลูกของเธอแทบจะไม่เข้าวัดเลย ไม่เข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนาใดๆ เลย ถ้าไปวัดด้วยกัน ลูกเธอมักจะขอรออยู่ด้านนอกตลอด 

 

โยมผึ้งกล่าวว่า การที่ลูกของเธอเลิกนับถือศาสนา บางครั้งก็นำความลำบากใจมาให้กับเธอบ้าง บางครั้งเธออยากไปปฎิบัติธรรมที่วัดต่างจังหวัดตามคำแนะนำของเพื่อน แต่เมื่อลูกไม่ไปด้วย ก็ทำให้เธอเดินทางไปไม่ได้ ในความไม่เห็นตรงกันเรื่องศาสนานี้ ทำให้โยมผึ้งกับลูกสาวของเธอแทบจะไม่ค่อยคุยกันเลย 

 

อาตมาสนทนากับโยมผึ้ง โยมผึ้งบอกว่า ที่ทั้งรู้สึกดีใจและตกใจ เพราะ 2-3 วันที่ผ่านมานี้ ในทุก ๆ คืน เธอจะเห็นลูกของเธอฟังธรรมะตลอด (ธรรมะอะไรก่อน สภาพพ) และเมื่อวันนี้ที่เป็นวันเกิดเพื่อน เธอได้ลองชวนลูกของเธอมาทำบุญที่วัดด้วย ลูกเธอ ตอบตกลง 

 

โยมผึ้งบอกว่า แปลกใจมาก เพราะมาทำบุญวันนี้ ลูกเธอไม่เพียงไม่ปฎิเสธการเข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนาเมื่อครั้งก่อนๆ แต่ลูกเธอยังแสดงความมีส่วนร่วม ยังช่วยยกสังฆทาน ผ้าไตร และเป็นคนนำเธอเข้าไปหาพระด้วยซ้ำ "เขากรวดน้ำด้วยนะ" โยมผึ้งพูดแบบคนที่ทั้งรู้สึกดีใจและแปลกใจ 

 

เรื่องของโยมผึ้งและโยมพิงกี้ สร้างความประทับใจให้กับอาตมามาก ๆ แม้ในตอนนี้โยมพิ้งกี้จะยังไม่ได้นับถือศาสนาพุทธ และเป็นคนที่เรียกตัวเองว่า "ไม่มีศาสนา" อยู่ 

 

อาตมาคงต้องพูดซ้ำ ๆ แหละว่า รูปแบบของการสอนธรรมะ มันก็มีบริบทและกลุ่มคนที่จะรับฟังแตกต่างกันไป การสอนในรูปแบบหนึ่ง อาจจะเหมาะกับคนกลุ่มหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกัน ก็อาจจะไม่เหมาะกับคนอีกกลุ่มหนึ่งก็ได้ 

 

อาตมาไม่สามารถทำให้ใครรู้สึกพึงพอใจในรูปแบบการสอน การเทศน์ การพูด หรือแม้แต่การประพฤติตัวของอาตมาได้นะ แต่ในขณะเดียวกัน อาตมาก็มั่นใจว่า ทุกคนสามารถเลือกเสพในสิ่งที่เหมาะหรือถูกจริตของตนเองได้ 

 

ดังนั้น เชื่ออาตมาเถอะ อย่ายอมให้อาตมากลายเป็นสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์หรือความขัดข้องใจในการนับถือศาสนาของใครเลย อาตมาไม่เท่ากับศาสนา อาตมาไม่เท่ากับพระสงฆ์ทุกรูป สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ควรจะท่องจำให้ได้แบบท่านนายกกันบ้าง 

 

ดีใจนะ ที่ได้คุยกับโยมพิงกี้ ดีใจที่เราดูศาสดาขอพักร้อนเหมือนกัน คนไม่นับถือศาสนา ดูเข้าใจสาระของศาสนา มากกว่าคนที่เรียกตัวเองว่าเป็นศาสนิกซะอีก 

 

เอาอะไรมาเสื่อม ถามก่อนนน สภาพพ