กรมบัญชีกลาง แจงปมปรับคำนวณ "เงินบำนาญ" ใหม่ หลังแชร์ว่อนเน็ต
จากประเด็นที่มีการแชร์ข้อความ กรมบัญชีกลาง ปรับเปลี่ยนการคำนวนใหม่ "เงินบำนาญ" ข้าราชการ ข้าราชการวิสามัญ ลูกจ้างที่เกษียณ จะได้รับสิทธิ ล่าสุดมีการชี้แจงแล้ว
วันที่ 4 กันยายน 2564 ตามที่มีการเผยแพร่เกี่ยวกับประเด็นเรื่อง "กรมบัญชีกลาง ปรับการคำนวณใหม่เกี่ยวกับ เงินบำนาญข้าราชการ ข้าราชการวิสามัญ ลูกจ้างที่เกษียณ จะได้รับสิทธิ" นั้น
ซึ่งจากที่มีการแชร์ข้อมูลว่า มีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขเกี่ยวกับ เงินบำนาญข้าราชการ โดยคำนวนเงินเดือนสุดท้าย x อายุราชการหาร 30 ซึ่งทาง กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงว่า ข้อความที่มีการเผยแพร่ข้างต้น "ไม่เป็นความจริง" เนื่องจาก "กรมบัญชีกลางยังคงคำนวณบำนาญตามสูตรเดิม"
ซึ่งคำนวณตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 = เงินเดือนเดือนสุดท้าย x เวลาราชการ หาร 50 (ไม่เกินเงินเดือน เดือนสุดท้าย)
และตามพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539 (สมาชิก กบข.) = เงินเดือนเฉลี่ยหกสิบเดือนสุดท้าย x เวลาราชการ หาร 50 (ไม่เกิน 70% ของเงินเดือนเฉลี่ยหกสิบเดือนสุดท้าย) สำหรับเงินเพิ่มจากอัตราบำนาญคือเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ช.ค.บ.) รัฐบาลมิได้มีนโยบายให้ดำเนินการใด ๆ เช่นเดียวกัน
ดังนั้น ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกระทรวงการคลัง สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.mof.go.th หรือโทร 1689
กล่าวสรุปคือ กรมบัญชีกลาง ยังคงคำนวณบำนาญตามสูตรเดิม ซึ่งคำนวณตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494
= เงินเดือนเดือนสุดท้าย x เวลาราชการ หาร 50
สำหรับเงินเพิ่มจากอัตราบำนาญคือเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ช.ค.บ.) รัฐบาลมิได้มีนโยบายให้ดำเนินการใด ๆ เช่นเดียวกัน
ที่มา Anti-Fake News Center Thailand
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เช็กข่าวปลอม กรมบัญชีกลาง ยัน ไม่มีการยกเลิกหรือลดเงินบำนาญ
- อยากรู้ว่าจะได้ใช้เงินบำนาญเมื่อไหร่
- "คนละครึ่งเฟส3" ข้าราชการ ลงทะเบียนรับสิทธิ 3,000 บาท ได้