"กรมสุขภาพจิต" ชวน เช็ก 10 สัญญาณเสี่ยง "ฆ่าตัวตาย"
"กรมสุขภาพจิต" เผยโควิดทำคนคิดสั้นเพิ่ม แนะเช็ก 10 สัญญาณเสี่ยง "ฆ่าตัวตาย" ของคนใกล้ตัวหวังลดอัตราการฆ่าตัวตายลง
กรมสุขภาพจิต ระบุข้อมูล อัตราการฆ่าตัวตายของคนไทยมีแนวโน้มเพิ่มมากยิ่งขึ้น ตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 ตลอดปี 2563 จนถึงขณะนี้ อัตราการฆ่าตัวตายของคนไทยเพิ่มขึ้นจากปี 2562 คือจาก 6.64 หรือประมาณ 4,400 ราย เป็น 7.35 หรือประมาณ 4,800 ราย ต่อประชากร 1 แสนคน ซึ่งที่ผ่านมา กรมสุขภาพจิตได้พยายามดำเนิน โครงการและกิจกรรมต่างๆ ทั้งกิจกรรมทางสังคม เศรษฐกิจและทางจิตใจ เพื่อค้นหาผู้มีความเสี่ยงและให้ความช่วยเหลือตามระบบ ซึ่งเป็นแนวทางในการลดอัตราการฆ่าตัวตายปี 2564 ไม่ให้เกิน 8 (ประมาณ 5,200 ราย) ต่อประชากร 1 แสนคน ทั้งนี้จากข้อมูลพบว่า ปัจจัยที่ทำให้คนตัดสินใจฆ่าตัวตาย ในสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจจะมาเป็นลำดับที่สองรองจากปัจจัยด้านความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ปัจจัยร่วมอื่นๆที่รองลงไปคือ การใช้สุรา ยาเสพติด มีโรคเรื้อรัง ยิ่งการระบาดยืดเยื้อยาวนาน จะทำให้มีจำนวนผู้เปราะบางทางเศรษฐกิจ สังคมและทางจิตใจมากขึ้นเรื่อยๆ คนกลุ่มนี้ล่ะที่ต้องการการดูแลในทุกมิติ เพื่อให้ผ่านพ้นในช่วงเวลานี้ไปให้ได้
สำหรับคนทั่วไปสามารถสังเกตพฤติกรรมของคนใกล้ตัว เพื่อร่วมกันระงับเหตุ โดยสามารถสังเกตุได้จาก 10 สัญญานเตือนเสี่ยงฆ่าตัวตาย ดังนี้
- ประสบปัญหาชีวิต เช่น ล้มละลาย สูญเสียกระทันหัน
- ใช้สุราหรือยาเสพติด
- มีประวัติคนในครอบครัวเคยฆ่าตัวตาย
- แยกตัว ไม่พูดกับใคร
- นอนไม่หลับเป็นเวลานาน
- พูดจาด้วยน้ำเสียงวิตกกังวล หน้าตาเศร้าหมอง
- มีอารมณ์แปรปรวน จากซึมเศร้าหรือหงุดหงิดมานาน กลับสบายใจอย่างผิดหูผิดตา
- ชอบพูดว่าอยากตายหรือไม่อยากมีชีวิตอยู่
- เคยพยายามฆ่าตัวตายมาก่อน
- มีการวางแผนการฆ่าตัวตายไว้ล่วงหน้า
หากพบสัญญาน!ดังกล่าว ญาติพี่น้องคนสนิทต้องดูแลอย่างใกล้ชิด พูดคุยให้กำลังใจเพื่อคลายเศร้า กังวล หรือ สายด่วนสุขภาพจิต 1323
ที่มา: เพจกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข