แนะรัฐให้ทุน "เด็กกำพร้า" เพราะโควิด ตัดตอน "เด็กหลุดนอกระบบ" การศึกษา
"กสศ." แนะให้ทุนเรียนต่อแก่เด็กกำพร้าพ่อแม่เสียชีวิตเพราะโควิดแก้ปัญหา "เด็กหลุดนอกระบบ" การศึกษา หลังจบโควิด-19 เร่งฟื้นฟูเด็กให้เร็วที่สุด
ดร.ไกรยศ ภัทราวาท รองผู้จัดการ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ให้สัมภาษณ์กับคมชัดลึกออนไลน์ เกี่ยวกับกรณี เด็ก 1.9 ล้านคนที่อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการหลุดออกนอกระบบการศึกษา ว่า ขณะนี้ในประเทศไทยมีเด็กที่เสี่ยงจะหลุดออกจากระบบการศึกษามากถึง 1.9 ล้านคน ซึ่งเด็กในจำนวนดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มยากจนพิเศษ ด้านเด็กที่หลุดออกนอกระบบการศึกษาไปแล้วขณะนี้มีอยู่ประมาณ 40,000 กว่าคน ส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงรอยต่อระหว่างชั้นเรียน ไม่ว่าจะเป็นอนุบาลขึ้นชั้นป.1 ป.6ขึ้นม.1 ม.3ขึ้นม.4 เนื่องจากช่วงชั้นดังกล่าวเป็นช่วงชั้นที่เด็กจะต้องย้ายโรงเรียนและออกไปเรียนไกลบ้านมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมกับผู้ปกครอง อย่างไรก็ตามจากการติดตามเด็กนักเรียนในประเทศไทยทำให้ กสศ. พบว่า เด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา หรือเด็กกลุ่มเสี่ยงที่นั้นส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบมาจากภาวะทางเศรษฐกิจ ผู้ปกครองมีรายได้น้อย ประกอบกับปัญหาโควิด-19 ที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ส่งผลให้ผู้ปกครองไม่มีงานทำ ถูกเลิกจ้าง ดังนั้น โควิด-19 จึงเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้แนวโน้มของเด็กที่กำลังจะหลุดออกนอกระบบการศึกษามีเพิ่มมากขึ้น โดยมีการคาดการณ์ว่าในปีการศึกษา 2564-2565 มีแนวโน้มที่จะเกิดเด็กยากจนเฉียบพลัน เพราะวิกฤตโควิด-19 อีกเป็นจำนวนมาก
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ข้อคิดเรื่อง 'ความเหลื่อมล้ำ' จากอดีตถึงปัจจุบันที่เป็นอยู่
- พม. - กสศ.- กรมสุขภาพจิต - ยูนิเซฟ เปิดศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด-19
- กสศ.-ธนาคารโลก ห่วง "เหลื่อมล้ำการศึกษา" พุ่ง
ดร.ไกรยศ กล่าวต่อว่า การระบาดของโควิด-19 ยังส่งผลให้มีเด็กติดเชื้อจำนวนมาก และแม้ว่าจะหายแล้ว แต่การติดโควิดได้ส่งผลต่อร่างกายของเด็กในระยะยาว ทำให้เด็กรู้สึกว่าไม่สามารถเรียน และกลับไปใช้ชีวิตได้เป็นปกติ หรือที่เรียกว่าภาวะ "Long Covid" นอกจากนี้ยังพบว่าในช่วงที่โควิด-19 เกิดขึ้นนั้นมีเด็กมากถึง 400 คน ที่พ่อแม่สูญเสียชีวิตจากการติดโควิด-19และเสียชีวิต ส่งผลให้พวกเขาเหล่านั้นกลายเป็นเด็กกำพร้าอย่างเลี่ยงไม่ได้ และมีแนวโน้มที่จะหลุดออกนอกระบบการศึกษา เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นเช่นกัน ดังนั้นแนวทางที่จะช่วยเหลือเด็กในกลุ่มนี้ไม่ให้หลุดออกจากระบบการศึกษาเพราะวิกฤติโควิด-19 ตนมองว่าหน่วยงานภาครัฐจะต้องให้ทุนการศึกษาจนเรียนจบ โดยอาจจะยึดรูปแบบการให้ทุนเรียนต่อสำหรับเด็กที่สูญเสียพ่อแม่จากปัญหาความรุนแรในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เพราะกรณีพ่อแม่เสียชีวิตจากโรคระบาดก็คือเป็นการสูญเสียชีวิตในภาวะวิกฤตเช่นกัน
สำหรับแนวทางในการดูแลเด็กสิ่งสำคัญที่สุดคือหลังจากจบวิกฤติโควิด-19 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โรงเรียน ครู จะต้องเร่งฟื้นฟูทั้งสภาพจิตใจ และร่างกาย ให้เด็กสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้เป็นปกติเร็วที่สุด ดังนี้
1.ฟื้นฟูสภาวะทุพโภชนาของเด็กก่อนเป็นอันดับแรก เพราะสภาพร่างกายเป็นสิ่งสำคัญ
2.ฟื้นฟูสภาวะถดถอยด้านการเรียนรู้ เพราะการที่เด็กไม่ได้เรียนเป็นเวลาเช่นนี้ส่งผลทำให้การเรียนช้าลงกว่าปกติแน่นอน
3.ฟื้นฟูสภาพจิตใจ ลดความเครียด ภาวะซึมเศร้า จากการที่ไม่เจอเพื่อน หรือจากการเรียนออนไลน์
4.ฟื้นฟูความสนใจ และแนะแนวทางให้กับเด็กโตที่จะต้องเลือกที่เรียนต่อ เพื่อให้พวกเขามีแนวทางที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น