เด่นโซเชียล

"กทม." เตรียมแผนรับมือพายุ "โกนเซิน" ขุดลอกคลองรับมือฝนตกหนัก

"กทม." เตรียมแผนรับมือพายุ "โกนเซิน" ขุดลอกคลองรับมือฝนตกหนัก

12 ก.ย. 2564

"กทม." วางแผนรับมือพายุ "โกนเซิน" เร่งขุดลอกคลองทั่งกรุงเทพฯ เตรียมการรับฝนตกหนัก พร้อมเฝ้าระวังจุดเสี่ยงน้ำท่วมสูงสุด

พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.)  กล่าวว่า จากกรณีฝนตกหยักต่อเนื่องเพราะได้รับอิทธิพลมาจากพายุดีเปรสชัน "โกนเซิน" กทม. ได้มีจัดเตรียมแผนเผชิญเหตุเมื่อเกิดน้ำท่วมในพื้นที่แล้วโดยมีมาตรการต่าง ๆ ดังนี้

เตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่วัสดุอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้และเตรียมพื้นที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวหากต้องมีการอพยพผู้ประสบภัยน้ำท่วม  แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำท่วมและข้อปฏิบัติขณะเกิดเหตุให้แก่ประชาชนรับทราบและรับแจ้งเรื่องราวร้องทุกข์เพื่อเข้าให้ความช่วยเหลือตลอด 24 ชั่วโมง เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่เพื่อลดระดับน้ำให้สู่สภาวะปกติให้เร็วที่สุด จัดหน่วยบริการเคลื่อนที่เร็ว (BEST) และหน่วยบริการประชาชนเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านการดำรงชีพแก่ประชาชนผู้ประสบภัย

พล.ต.อ. อัศวิน กล่าวต่อว่า สำหรับการบูรณาการความร่วมมือการบริหารจัดการน้ำระหว่างกรุงเทพมหานครและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อบูรณาการการบริหารจัดการน้ำร่วมกัน และได้กำหนดเกณฑ์ค่าระดับและปริมาณน้ำที่ปล่อยเข้าสู่กรุงเทพมหานคร บริเวณรอยต่อระหว่างกรุงเทพมหานครกับจังหวัดปริมณฑล เพื่อช่วยรองรับน้ำจากพื้นที่ตอนบน โดยไม่เกิดผลกระทบต่อพื้นที่กรุงเทพมหานคร และระบายน้ำออกนอกพื้นที่ไม่ให้กระทบพื้นที่รอยต่อ  

นอกจากนี้ยังเฝ้าติดตามสถานการณ์สภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาและจากเรดาร์ตรวจฝนของกรุงเทพมหานครโดยศูนย์ป้องกันน้ำท่วม ปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง  ส่งหน่วยปฏิบัติการเร่งด่วน (BEST) ประจำจุดเสี่ยงและจุดสำคัญเมื่อคาดว่าจะมีฝนตกหนัก เพื่อเร่งระบายน้ำ และแก้ปัญหาด้านการการจราจร  พร้อมทั้งเร่งกำจัดผักตบชวาและสิ่งกีดขวางทางน้ำที่เป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำ ในส่วนที่กรุงเทพมหานครรับผิดชอบ  และเตรียมความพร้อมของระบบระบายน้ำในปี 2564 ได้ดำเนินการ ล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำ 3,348 กิโลเมตร ขุดลอกคูคลอง 130 คลอง 270 กิโลเมตร เก็บขยะ ผักตบชวา เฉลี่ย 20 ตัน/วัน เปิดทางน้ำไหลและหมุนเวียนเปิดทางน้ำไหล 1,528 คลอง ความยาว 1,601 กิโลเมตร

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

สำหรับรายชื่อ 12 จุดเสี่ยงน้ำท่วมที่ต้องเฝ้าระวังมีดังนี้

 1.ถนนรัชดาภิเษก บริเวณหน้าธนาคารกรุงเทพ

2.ถนนประชาราษฎร์สาย 2 บริเวณแยกเตาปูน

3.ถนนแจ้งวัฒนะ ช่วงจากคลองประปา ถึงคลองเปรมประชากร

4.ถนนราชวิถี บริเวณหน้าราชภัฏสวนดุสิตและเชิงสะพานกรุงธนบุรี

5.ถนนพญาไท บริเวณหน้ากรมปศุสัตว์

6.ถนนศรีอยุธยา บริเวณหน้า สน.พญาไท

7.ถนนจันทน์ ช่วงจากซอยบำเพ็ญกุศล ถึงที่ทำการไปรษณีย์ยานนาวา

8.ถนนสวนพลู ช่วงจากถนนสาทรใต้ ถึงถนนนางลิ้นจี่

9.ถนนสาธุประดิษฐ์ บริเวณแยกตัดถนนจันทน์

10.ถนนบางขุนเทียน-ชายทะเล ช่วงจากถนนพระรามที่ 2 ถึงคลองสะแกงาม

11.ถนนเพชรเกษม ช่วงจากคลองทวัฒนา ถึงคลองราชมนตรี

12.ถนนหมู่บ้านเศรษฐกิจ ช่วงจากถนนเพชรเกษม ถึงวงเวียนกาญจนาภิเษก