เด่นโซเชียล

"หมอสุภัทร" แนะฉีดวัคซีนให้เด็กโดยเร็วอุดช่องโหว่ควบคุมโควิด-19

"หมอสุภัทร" แนะฉีดวัคซีนให้เด็กโดยเร็วอุดช่องโหว่ควบคุมโควิด-19

13 ก.ย. 2564

"หมอสุภัทร" ย้ำต้องเร่งฉีดวัคซีนให้เด็กอุดช่องโหว่ควบคุมการระบาดของโควิด ถึงเวลาคืนชีวิต-คืนห้องเรียนให้เยาวชน

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ หรือ "หมอสุภัทร" ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ และประธานชมรมแพทย์ชนบท โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ  ว่า เด็กคือช่องโหว่ของการควบคุมโรคโควิด

ประสบการณ์ของโรงพยาบาลจะนะในช่วงสองเดือนหลังนี้ซึ่งมีการระบาดต่อเนื่อง เราพบว่า มีเด็กติดเชื้อโควิดจำนวนมากขึ้น  จากสถิติของผู้ติดเชื้อโควิดในจะนะ พบว่า กลุ่มเด็ก 10-19 ปีมีสัดส่วนการติดเชื้อสูงสุด คือ 17.4% ของทั้งหมด ในขณะที่กลุ่มเด็ก 0-9 ปี มีสัดส่วนการติดเชื้อ 15.1 % รวมแล้วในกลุ่มเด็ก 0-19 ปี มีอัตราการติดเชื้อในสัดส่วนสูงถึง 32.5% หรือราว 1 ใน 3 ของทั้งหมด  ทั้งนี้เพราะเด็กเป็นกลุ่มเดียวที่ไม่ได้รับวัคซีน (ยกเว้นเด็กที่มีโรคประจำตัวที่มีเพียงส่วนน้อย) แต่ก็เป็นไปตามทฤษฎีคือ เด็กที่ติดเชื้อเกือบทั้งหมดเป็นผู้ป่วยสีเขียว ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย ที่โรงพยาบาลสนามศาสนบำรุง ซึ่งรับผู้ป่วยหญิงและเด็กจึงมีเด็กวิ่งเล่นอย่างมีชีวิตชีวาในช่วงรักษากักตัวให้ครบ14 วัน และจากการสอบสวนโรค พบว่า ในหลายบ้านที่ผู้ใหญ่ป้องกันตัวเองอย่างดี เด็กคือกลุ่มที่นำโรคเข้าสู่ครัวเรือน  เพราะเด็กเล็กออกไปวิ่งเล่นกับเพื่อนๆ เด็กโตก็ออกไปสมาคมกับเพื่อนฝูง ยากที่จะห้ามได้ ผลก็คือนำเชื้อโควิดเข้ามาในบ้าน และติดกันทั้งครอบครัวในที่สุด

วัคซีนไฟเซอร์เป็นวัคซีนตัวเดียวที่ได้รับการรับรองให้ใช้กับเด็ก 12-18 ปีได้ สิทธิของเยาวชนในการรับวัคซีนคือสิทธิพื้นฐานที่เขาควรได้รับ  ไม่ใช่แค่เพื่อการสร้างภูมิในตัวเขาเท่านั้น แต่เพื่อลดการติดเชื้อและลดการแพร่เชื้อเข้าสู่ครัวเรือนด้วย  และถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยจะได้คืนชีวิตวัยซน คืนการเรียนรู้และคืนห้องเรียนให้กับเยาวชนเหล่านั้นด้วย 

การจะหยุดการแพร่ระบาดของโรคโควิด จึงหนีไม่พ้นการต้องให้เด็กได้รับวัคซีนด้วย เพราะนี่คือช่องโหว่รูใหญ่ของการควบคุมโรค มิเช่นนั้นเราก็คงต้องยอมให้เด็กติดโรคตามธรรมชาติให้หมด เกิดภูมิธรรมชาติแทนวัคซีน เราจะเลือกอย่างหลังหรือ
เรามีเพียง 2 ทางเลือก เร่งให้ไฟเซอร์กับเยาวชน 12-18 ปี หรือจะทิ้งให้เขาทยอยติดเชื้อและแพร่เชื้อเข้าสู่ครัวเรือน

 

ที่มา:เฟซบุ๊ก นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ