เด่นโซเชียล

เตือนหน้าฝน "โรคชิคุนกุนยา" โรคไข้ปวดข้อยุงลาย ระบาด เช็กอาการ - วิธีรักษา

เตือนหน้าฝน "โรคชิคุนกุนยา" โรคไข้ปวดข้อยุงลาย ระบาด เช็กอาการ - วิธีรักษา

13 ก.ย. 2564

หมอแล็บแพนด้า เตือน "โรคชิคุนกุนยา" หรือ โรคไข้ปวดข้อยุงลาย กำลังระบาดช่วงนี้ เช็กอาการเข้าข่าย วิธีรักษา เทียบชัด ๆ กับ โรคไข้เลือดออก แบบไหนรุนแรงกว่า

วันที่ 13 กันยายน 2564 นายภาคภูมิ เดชหัสดิน เทคนิคการแพทย์คนดังในโลกโซเชียล เจ้าของเพจ "หมอแล็บแพนด้า" ได้โพสต์เตือน "โรคไข้ปวดข้อยุงลาย" หรือ "โรคชิคุนกุนยา" กำลังระบาด 

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

 

โดย "หมอแล็บแพนด้า" ระบุว่า ระวังนะครับ ตอนนี้กำลังระบาด โรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือ โรคชิคุนกุนยา ชื่อโรคเหมือนน่ารัก แต่เวลาเป็นแล้วทรมานมาก ๆ เมื่อก่อนผมเคยเป็น ตอนไปเจอหมอแทบยืนไม่ได้เลยแหละ เพราะหมอบอกว่า "เชิญนั่งครับ" 555 

 

"โรคไข้ปวดข้อยุงลาย" หรือ "โรคชิคุนกุนยา" โรคนี้เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัส ก็เพราะ "ยุงลาย" เจ้าเดิมนี่แหละ ถ้าโดนยุงลายกัด ไวรัสก็จะเข้าสู่ร่างกายเรา อาการจะคล้าย ๆ กับ โรคไข้เลือดออก เลย มีอาการไข้สูงอย่างรวดเร็ว มีผื่นแดงตามร่างกาย ปวดกระบอกตา แต่โรคไข้เลือดออกจะรุนแรงมากกว่า 

 

โรคชิคุนกุนยาส่วนใหญ่จะไม่อันตรายถึงตาย แต่มันโคตรทรมาน เดินอย่างกะซอมบี้ เพราะมันจะปวดตามข้อมือ ข้อเท้า ข้อต่อแขนขา ข้อไก่ทอดไม่ปวด 555 แต่บางคนปวดกล้ามเนื้อก็มี 

 

อาการปวดข้อ จะพบได้หลาย ๆ ข้อ ปวดไล่ไปเรื่อย เปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อย ๆ จะเดินก็ไม่ได้ เข่าและข้อต่อไม่มีแรง บางคนปวดข้อเรื้อรัง นานเป็นเดือนหรือเป็นปีก็มี 

 

ทั้งนี้ หมอแล็บ ยังระบุด้วยว่า ไม่มีการรักษาที่จำเพาะ มีแต่รักษาแบบประคับประคองกันไป เพราะฉะนั้นการป้องกันจึงสำคัญที่สุด หน้าฝน นี้ก็ระมัดระวัง ยุงลาย ให้ดี ๆ อย่าให้มันกัดเราได้ 

 

เตือนหน้าฝน \"โรคชิคุนกุนยา\" โรคไข้ปวดข้อยุงลาย ระบาด เช็กอาการ - วิธีรักษา

 

 

โรคชิคุนกุนยา หรือโรคไข้ปวดข้อ มีสาเหตุจาก "ยุงลาย" และมีอาการเช่นเดียวกับ "ไข้เลือดออก" ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดข้อและกล้ามเนื้อ มีผื่นแดงตามแขนขา ตาแดง ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ ท้องเสีย และแม่ตั้งครรภ์ที่เป็นโรคชิคุนกุนยา สามารถถ่ายทอดไปยังทารกได้ 

 

ยุงลาย นอกจากเป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออกแล้ว ยังเป็นพาหะของ โรคชิคุนกุนยา (Chikungunya) หรือโรคไข้ปวดข้อ อีกด้วย ซึ่ง 2 โรคนี้ มีอันตรายไม่แพ้กัน โดยเฉพาะเมื่อเกิดขึ้นกับเด็กอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนและรุนแรง ต่ออวัยวะสำคัญของร่างกาย เช่น ตับ ไต และหัวใจได้ 

 

ชิคุนกุนยา เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา เป็นเชื้อไวรัสที่อยู่ในตระกูล Togaviridae โดยมียุงลายสวน (Aedes albopictus) และยุงลายบ้าน (Aedes aegypti) เป็นพาหะนำโรค ซึ่งพบได้ทั่วไปทั้งในเมืองใหญ่และชนบท มักระบาดในช่วงฤดูฝน หรือบริเวณที่มีน้ำขัง ทั้งนี้ยุงลายมักชุกชุมและออกหากินช่วงกลางวัน ทำให้เด็ก ๆ ที่ชอบออกมาเล่นนอกบ้านหรืออยู่ในโรงเรียนจึงเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรค 

 

เนื่องจาก โรคไข้เลือดออกและโรคชิคุนกุนยามียุงลายเป็นพาหะเช่นเดียวกัน รวมถึงอาการที่แสดงออกยังคล้ายคลึงกัน จึงอาจพบผู้ป่วยเป็นทั้ง 2 โรคพร้อม ๆ กันได้ อย่างไรก็ตามโรคชิคุนกุนยามีความรุนแรงน้อยกว่าโรคไข้เลือดออกมาก ทั้งนี้ผู้ป่วยที่ติดเชื้อชิคุนกุนยาจะมีไข้สูงขึ้นอย่างเฉียบพลันกว่าโรคไข้เลือดออก และระยะเวลาของไข้ก็สั้นกว่าเพียง 2 วันเท่านั้น ขณะที่ ไข้เลือดออก จะเป็นไข้นานถึง 4 วัน ส่วนใหญ่ไม่พบว่าผู้ป่วยโรคชิคุนกุนยาเกิดอาการช็อค เพราะเชื้อชิคุนกุนยาไม่ทำให้พลาสม่ารั่วออกนอกเส้นเลือด ทั้งนี้ยังพบผื่นแดงตามร่างกาย ตาแดง และภาวะปวดตามข้อได้มากกว่าผู้ป่วยไข้เลือดออกด้วย 

 

เชื้อชิคุนกุนยา มีระยะฟักตัวของโรค 3-7 วัน หลังจากถูกยุงลายกัด และเมื่อครบระยะฟักตัว อาการจะแสดงออกดังนี้ 

 

  • ไข้สูงเฉียบพลัน และอาจสูงถึง 40 องศาเซลเซียส หลังจากนั้น 2-3 วัน ไข้จะเริ่มลดลง 
  • ปวดข้อและเมื่อยกล้ามเนื้อ มีภาวะข้ออักเสบ โดยพบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก แต่สามารถหายเองได้ใน 2 สัปดาห์ ในผู้ใหญ่ที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไปอาจมีภาวะปวดข้อเรื้อรังได้ 
  • เกิดผื่นแดงตามแขนขาหรือทั่วร่างกาย 
  • ตาแดง 
  • รับประทานอาหารไม่ได้ 
  • คลื่นไส้ อาเจียน และปวดศีรษะ 
  • อ่อนเพลีย หรืออาจท้องเสีย 

 

การรักษาโรคชิคุนกุนยา ในปัจจุบันยังไม่มียารักษาไวรัสชิกุนคุนยาโดยเฉพาะ รวมถึงไม่มีวัคซีนป้องกัน ดังนั้นการรักษาจึงเป็นไปตามอาการ โดยแพทย์อาจให้ยาลดไข้ แก้ปวด ซึ่งผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวดังนี้ 

 

  • ดื่มน้ำมาก ๆ ให้เพียงพอ อย่าปล่อยให้ร่างกายขาดน้ำเด็ดขาด 
  • พักผ่อนให้เต็มที่ 
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่ 
  • รับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด 

 

เตือนหน้าฝน \"โรคชิคุนกุนยา\" โรคไข้ปวดข้อยุงลาย ระบาด เช็กอาการ - วิธีรักษา

 

ที่มา หมอแล็บแพนด้า

ข้อมูลจาก พญ. ภัสสร บุณยะโหตระ อนุสาขากุมารเวชศาสตร์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช