เด่นโซเชียล

"หมอนิธิ" แนะ 6 ข้อ ก่อนฉีด "วัคซีนเข็มกระตุ้น" ต้องพอดีเมื่อถึงเวลา

"หมอนิธิ" แนะ 6 ข้อ ก่อนฉีด "วัคซีนเข็มกระตุ้น" ต้องพอดีเมื่อถึงเวลา

13 ก.ย. 2564

"หมอนิธิ" แนะ 6 ข้อหลัก ก่อนตัดสินใจฉีด "วัคซีนเข็มกระตุ้น" ทุกอย่างต้องพอดีเมื่อถึงเวลา ลุ้น วัคซีนในเด็ก ที่ควรกลับสู่ระบบ เหมือนผู้ใหญ่ มากกว่า

ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โพสต์เฟซบุ๊ค ไขข้อข้องใจ กรณีการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้น ระบุว่า The more is not always the better ต้องพอดีเมื่อถึงเวลา วันสองวันมานี้ มีหลาย ๆ คน ถามมาเรื่องระดับภูมิคุ้มกัน และการรับวัคซีนโควิด-19 ในรอบใหม่ เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ผมขอแนะนำอธิบายคร่าว ๆ ตามนี้
 

1. สำหรับคนที่ได้วัคซีนเชื้อตายคือ Sinovac และ Sinopharm นั้น ควรได้รับการกระตุ้นภูมิ ประมาณเดือนที่ 4 ถึงเดือนที่ 6 หลังจากได้วัคซีนเข็มที่สอง ควรได้เร็ว หรือช้า ขึ้นกับ 2 ปัจจัย ปัจจัยแรก คือ ความเสี่ยงของคน ๆ นั้น ในการติดเชื้อ (เช่น ทำงานเจอผู้คนมาก หรือ สัมผัสกับผู้มีเชื้อบ่อย หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรืออายุมาก) ปัจจัยที่สอง คือ ความรุนแรงของการระบาดในขณะนั้น เช่น ถ้ามีการระบาดรุนแรงเกิดเวฟที่ 4 หรือ 5 โดยเฉพาะในหน้าหนาวนี้ ที่ต้องเฝ้าระวัง ส่วนจะเป็นวัคซีนชนิดใดที่ใช้กระตุ้นนั้น ไม่สำคัญ และระดับภูมิคุ้มกันจะเท่าไหร่ ก็ไม่ควรนำมาใช้เป็นแนวกำหนดด้วย ถ้ารอได้ควรเป็นวัคซีนรุ่นที่สอง

 

2. สำหรับผู้ที่ได้วัคซีน ไวรัลเวคเตอร์ เช่น Astra Zeneca ,Johnson and Johnson หรือ Sputnik นั้น ควรได้รับการกระตุ้น
ประมาณเดือนที่ 6 ถึงเดือนที่ 8 หลังเข็มที่สอง ของ Astra Zeneca หรือ Sputnik V และเข็มหนึ่งของ Johnson and Johnson 
และ Sputnik Light จะเร็วจะช้า ขึ้นอยู่กับปัจจัยเหมือนกับตามข้อ 1 เช่นเดียวกับวัคซีน mRNA คือ Pfizer หรือ Moderna กระตุ้นด้วยวัคซีนอะไรก็ได้เช่นกัน แต่ไม่ควรเป็นวัคซีนชนิดเดิม สำหรับวัคซีนประเภทไวรัลเวคเตอร์ เนื่องจากว่า ร่างกายมีโอกาสสร้างภูมิต้านทานไวรัส ตัวที่ใช้เป็นเวคเตอร์ ทำให้การกระตุ้นภูมิต่อโควิดไม่ดีนัก 
 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

3. ถ้าใครไม่ใช่กลุ่มที่ต้องรีบฉีด ควรรอดูว่า จังหวะเวลาที่จะต้องได้รับการกระตุ้นนั้น จะมีวัคซีนที่ออกแบบมาเจาะจงสำหรับการกระตุ้นหรือไม่ ทั้งคุณสมบัติ และขนาดปริมาณ(โดส) ซึ่งปริมาณขนาดที่จะใช้กระตุ้นนี้ มีความสำคัญมาก ไปใช้ขนาดเดียวกับการฉีดครั้งแรก อาจจะมากเกินจำเป็น ไม่ควรตื่นเต้นไปจองวัคซีนรุ่นแรก

 

4. ถ้าไม่ใช่ผู้ที่อยู่ในกลุ่มการศึกษาวิจัย ไม่แนะนำให้เจาะระดับภูมิคุ้มกัน เพราะระดับภูมิคุ้มกันนี้ ไม่สามารถบ่งบอกถึงระดับการป้องกันโรคของวัคซีนได้โดยตรง (มี missing  unknown unexplained links อีกหลายตัว) เพราะถ้าติดตามศึกษาผลระดับภูมิคุ้มกันที่เสนอกัน จะเห็นว่าในกลุ่มคนที่เหมือน ๆ กัน และได้รับวัคซีนเดียวกัน จะมีผลระดับภูมิคุ้มกันที่แตกต่างกัน มากเกินกว่าจะอธิบายได้ (ถ้าใครดูตัวเลขกราฟเป็น จะเห็นได้ว่า เรื่องระดับภูมิคุ้มกัน เวลานำเสนอนั้น ในแนวตั้งที่บอกถึงระดับที่วัดภูมิคุ้มกันได้นั้น จะเป็น log scale เพราะต้องแสดงค่า ตั้งแต่ ศูนย์ ถึงหลาย ๆ หมื่น จากที่วัคซีนทุกชนิดที่ศึกษาจะวัดค่าได้ มีตั้งแต่ต่ำมากถึงสูงมาก การที่เราเห็นผลมันรวมกลุ่มกันเป็นกระจุกนั้น จริง ๆ แล้วมันกระจายกันอยู่มาก ผู้เข้าใจตัวเลขสถิติจะเข้าใจได้ว่า ผลเช่นนี้
นำมาหารเฉลี่ยง่าย ๆ ไม่ได้) สรุปว่า ระดับภูมิคุ้มกันใช้เป็นได้เพียงงานวิจัยบอกการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของวัคซีนได้ "บ้าง" (แต่ไม่ใช่ระบบภูมิคุ้มกันทั้งระบบ ของคนที่ยังมีระดับความจำของภูมิคุ้มกันและอื่น ๆ อีกด้วย) มีประโยชน์ในการศึกษาเลือก และกำหนดชนิดวัคซีนพอได้ แต่ไม่บอกระดับการป้องกันของร่างกายต่อการติดเชื้อ

 

5. วัคซีนทุกชนิดที่มีในขณะนี้ ไม่มีชนิดไหนป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้าได้ (และนอกจากนั้น การจะติดเชื้อนั้น ขึ้นกับทั้งระดับภูมิ และปริมาณเชื้อที่ได้รับด้วย) แต่ทุกชนิดป้องกันการมีอาการรุนแรง และเสียชีวิตได้ (แต่ก็ไม่ 100%) ดังนั้น ควรเปลี่ยนกรอบความคิดกันใหม่ว่า เราฉีดวัคซีนกัน เพื่อกันการป่วยหนัก กันการเสียชีวิต การการแพร่ระบาดในวงกว้าง

 

6. การตรวจหาเชื้อที่รวดเร็ว และการรักษาที่รวดเร็วที่เริ่มมีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นยาต้านไวรัส หรือยาแอนตี้บอดี้ค็อคเทล จะยิ่งทำให้เมื่อติดเชื้อแล้วได้ยาเร็ว ก็หายเร็วขึ้น และไม่มีอาการหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาลได้อีกด้วย

 

อีกไม่นานเราก็อยู่ไปกับมันได้สบาย ๆ แต่ยังต้องช่วยกันลุ้นอีกเรื่องคือ วัคซีนในเด็ก เพราะเรา ๆ ผู้ใหญ่ยังอยากให้สังคมคืนปกติ(ใหม่) โดยเฉพาะ เด็ก ๆ ก็ควรจะกลับสู่การเรียนในโรงเรียนโดยเร็ว