ยื่นหนังสือ ครูหยุย ปรับร่างกม. "กระท่อม" ห้ามขายเด็กต่ำกว่า20 ปี
สภาเด็กฯ จับมืเครือข่ายเยาวชนฯ ยื่นหนังสือ ครูหยุย พร้อมระบุหลักฐานใช้ผิดยังเป็นยาเสพติดให้โทษ ชงห้ามขายเด็กต่ำกว่า20 ปี-คุมการโฆษณา ไม่ปล่อยผ่านสูตรผสมมอมเมารูปแบบใหม่
นายณัฐพงศ์ สำเภาแก้ว ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง นายโยธิน ทองพะวา ประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย นายรวิศุทธ์ คณิตกุลเศรษฐ์ รองเลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย ตัวแทนมูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน และภาคีด้านเด็กและเยาวชน เดินทางมายื่นหนังสือถึง นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.) การพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชนสตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา เพื่อขอให้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ.....ในประเด็นปกป้องเด็ก เยาวชนและสังคมอย่างรอบด้าน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- คร.พร้อมฉีด "ไฟเซอร์" ให้ "นักเรียน" 12 ปีขึ้นไป ต้นตุลาคมนี้
- 12 SME ไทยคว้า "สุดยอด SMEแห่งชาติ " ครั้งที่ 13 หนุนเข้าสู่ MAI - SET ในอนาคต
- ธนาคารปิดช่วง "โควิด-19" แลกแบงก์ย่อยไม่ได้ทำยังไงดี ที่นี่มีคำตอบ
นายณัฐพงศ์ สำเภาแก้ว ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.พืชกระท่อมฯ มุ่งการส่งเสริมและพัฒนาให้เป็นพืชทางเศรษฐกิจ แต่ยังขาดความรอบด้านในมิติการปกป้องเด็ก เยาวชน และกลุ่มเปราะบาง จึงขอให้วุฒิสภาพิจารณาดังนี้ ควรกำหนดห้ามขายให้ผู้ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี เพื่อลดโอกาสการเข้าถึง เช่นเดียวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่แม้จะไม่ใช่สินค้าที่ผิดกฎหมาย แต่มีโอกาสที่เกิดผลกระทบต่อตัวผู้บริโภคและสังคมส่วนรวม , ควรกำหนดให้สถานศึกษา เป็นสถานที่ห้ามบริโภคน้ำต้มใบกระท่อม รวมถึงกิจกรรมหรือโครงการต่างๆที่สถานศึกษาอนุญาตให้จัด เช่น กิจกรรมรับน้อง กิจกรรมค่าย กิจกรรมทัศนศึกษา กิจกรรมกีฬาสี หรือกิจกรรมอื่นที่เกี่ยวข้องกับนักเรียน นักศึกษา ,ควรเปิดช่องให้สามารถออกอนุบัญญัติใหม่ๆ เพื่อควบคุมการขาย/การบริโภคที่อาจมีพัฒนาการส่งผลกระทบต่อเด็ก เยาวชน และประชาชนมากขึ้นในอนาคต และ ควรควบคุมการโฆษณาหรือการทำการสื่อสารการตลาดใบกระท่อมหรือน้ำต้มใบกระท่อม หรือผลิตภัณฑ์อื่นใดไม่ให้มุ่งเป้าไปที่กลุ่มเด็กและเยาวชน
พร้อมทั้งขอให้ภาครัฐเร่งสื่อสาร ให้เด็กและเยาวชนเข้าใจถึงผลกระทบในทางสุขภาพ หากใช้อย่างไม่เหมาะสมถูกต้อง และความผิดที่คงอยู่ตามกฎหมาย เนื่องจากยังพบว่าเยาวชนจำนวนมากเข้าใจผิดว่าน้ำต้มใบกระท่อมผสมสูตรต่างๆ สามารถทำได้ไม่ผิดกฎหมาย จึงบริโภคกันแพร่หลายทั้งๆที่ในข้อเท็จจริงยังผิดกฎหมายอยู่หากมีส่วนผสมของสิ่งเสพติดหรือยา วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และที่น่าห่วงคือการไปคิดค้นสูตรใหม่ๆ มาต้มผสมเพื่อไปบริโภค ซึ่งน่ากังวลว่าอาจจะนำไปสู่สูตรที่กฎหมายเอื้อมไม่ถึง ดังนั้นในข้อกฎหมายวุฒิสภาพิจารณาประเด็นนี้ด้วย