แฉกลลวง หลอกเหยื่อ "ลงทุนออนไลน์" จ่ายน้อย-ผลตอบแทนสูง หลงเชื่อ สูญนับล้าน
ปิดกลไกล หลอกลวงประชาชนให้ "ลงทุนออนไลน์" ใช้ผลตอบแทนสูงเป็นตัวล่อ-หลอกโอนเงินเข้าบัญชี เตือนเช็คข้อมูลกับ ก.ล.ต. ก่อนตัดสินใจ
นายนเรศ เหล่าพรรณราย เลขาธิการสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย ให้สัมภาษณ์กับ "คมชัดลึกออนไลน์" เกี่ยวกับวิธีการ รูปแบบ การหลอกลวงให้ลงทุนออนไลน์ ว่า ปัจจุบันเว็บไซต์ เพจ ที่เข้าข่ายหลอกลวงให้ลงทุนออนไลน์เกิดขึ้นมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งรูปแบบการชวนลงทุนก็มักจะมีรูปแบบแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับว่า ขณะนี้อะไรกำลังเป็นกระแส โดยหากแยกประเภทการลงทุนออนไลน์ที่ประชาชนมักจะถูกหลอกให้สูญเงินหลัก ๆ จะมีทั้ง แชร์ลูกโซ่ ลงทุนคริปโตเคอเรนซี สกุลเงินดิจิทัล กองทุนต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ประชาชนที่ถูกหลอก ส่วนมากมักหลงเชื่อจากคำเชิญชวนที่เกินจริง
คำเชิญชวนที่น่าสงสัย และเข้าข่ายหลอกหลวงที่เว็บไซต์ลงทุนออนไลน์ มักจะใช้ดึงดูดให้คนหลงเชื่อนั้น ส่วนมากจะมีลักษณะเป็นการเชิญชวน มักจะเน้นสร้างผลตอบแทนสูงๆ ในระยะเวลาอันสั้น การสร้างผลตอบแทนที่ได้มาง่ายๆ ยิ่งลงทุนเยอะ ยิ่งมีโอกาสได้ผลตอบแทนสูงโดยคำที่มักจะพบบ่อย ๆ คือ
- ใช้เงินน้อยได้ผลตอบแทนแน่นอน
- โอนเงินวันนี้ได้ค่าตอบแทนเยอะ
- ลงทุนง่ายได้ค่าตอบแทนแน่นอน
- ชวนเพื่อนมาลงทุนวันนี้มีผลตอบ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- "ปอศ." เผย ตุ๋น "ลงทุนออนไลน์" สูญเงินกว่าพันล้านบาท
- "ดีอีเอส" ไล่ปิดเว็บไซต์ "ลงทุนออนไลน์" หวั่น ปชช.ถูกหลอกให้เสียเงิน
- เปิดกลโกง "บ้านออมเงิน" ว่อนเน็ต เหยื่อตายใจลงทุนเพิ่ม หนีหายเข้ากลีบเมฆ
- เตือนภัย "5 ลิงก์อันตราย" หลอกลงทุน "Crypto"
- กลุ่มผู้เสียหายร้องถูกหลอกลงทุน"เงินดิจิตอล" สูญเงินกว่า 46 ล้านบาท
นายนเรศ กล่าวต่อว่า สำหรับรูปแบบและวิธีการที่ใช้ นั้นจะเป็นการให้โอนเงินเข้าบัญชีโดยตรง ซึ่งแต่ละเว็บไซต์ ก็จะมีกระบวนการที่แตกต่างกันออกไป บางเว็บไซต์ให้โอนเงินเข้าบัญชีของบุคคลที่สาม โดยอ้างว่า เป็นการโอนเพื่อลงทุน หลังจากนั้น จะให้โอนเพิ่มขึ้นเป็นขั้นบันได ก่อนที่จะได้เงินปันผล หรือบางเว็บไซต์จะเน้นให้ชวนเพื่อนมาลงทุนต่อไปเรื่อย ๆ จึงจะได้เงินปันผลตามที่กำหนดเอาไว้ หรือบางครั้งเป็นการหลอกให้โอนเงินเข้าบัญชีกองทุนแต่ไม่ได้นำเงินไปลงทุนจริงตามที่โฆษณา ในบางกรณีมีการปันผลจริงแต่ปันผลให้แค่บางคนเท่านั้น เพื่อให้คนที่ได้เงินปันผลมาการันตีว่าการลงทุนไม่ได้เป็นการหลอกลวง ซึ่งทำให้คนเชื่อและถูกหลอกลวงอย่างต่อเนื่อง ส่วนระยะเวลาในการหลอกลวงนั้นจะไม่ตายตัวขึ้นอยู่กับว่าเงินหมุนเวียนจะหมดไปเมื่อไหร่ บางเว็บไซต์อาจจะใช้เวลาในการหลอกหลวงประมาณ 3-4 เดือน บางเว็บไซต์ก็นานเป็น 2-3 ปี ขึ้นอยู่กับว่าคนทำจะสร้างความน่าเชื่อถือ สร้างโปรไฟล์ได้มากน้อยแค่ไหน
อย่างไรก็ตามขณะนี้ มีเว็บไซต์ แพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ที่ชวนให้ประชาชนนำเงินลงทุนออนไลน์เป็นจำนวนมาก สิ่งสำคัญที่สุดที่ประชาชนควรระวัง คือ หากการลงทุนนั้น ๆ ให้โอนเงินเข้าบัญชีของผู้อื่น ให้สัญนิษฐานได้เลยว่าเป็นการหลอกลวงแน่นอน เพราะการลงทุนแบบถูกกฎหมายจะให้ผู้ลงทุนเปิดบัญชีและโอนเงินเข้าบัญชีของตัวเองเท่านั้น หรือหากประชาชนต้องการเช็คข้อมูลอีกครั้ง สามารถนำชื่อบริษัทไปค้นหาในเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์( ก.ล.ต.) ที่ https://www.sec.or.th/TH/Pages/home.aspx ได้เลย เนื่องจากในประเทศไทย ก.ล.ต.จะเป็นผู้กำกับดูแลบริษัทลงทุนต่าง ๆ ในประเทศไทย
สำหรับใครที่ถูกหลอกให้ลงทุนไปแล้วการจะได้เงินคืนนั้นเป็นไปได้ยากมาก ดังนั้นก่อนจะเชื่อควรจะตรวจสอบข้อมูลให้ละเอียดก่อนเพื่อป้องกันการถูกหลอกลวง