"เด็กหาย" ในไทยไม่มี "ค้ามนุษย์" จับตามองคนแก่หาย ยอดเพิ่มขึ้นจนน่ากังวล
"มูลนิธิกระจกเงา" เผย "เด็กหาย" ในไทย 3 ปีที่ผ่านมา ลดลง แต่ยอดผู้สูงอายุ สูญหายเพิ่มขึ้น อึ้ง 90 % เด็กหาย สมัครใจ ไม่เกี่ยวกับค้ามนุษย์
เอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวคมชัดลึกออนไลน์ ถึงกรณีเด็กหายในประเทศไทย ว่า จากกรณีเด็กหายที่เกิดขึ้นในประเทศไทยที่ผ่านมา ทำให้สังคมเชื่อมโยงการหายตัวของเด็กไปถึงการค้ามนุษย์ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว จากข้อมูลการดำเนินงานเกี่ยวกับเด็กหายในประเทศไทยที่ผ่านมา ไม่พบว่า มีกรณีเด็กหายใดที่เชื่อมโยงไปสู่การค้ามนุษย์ในเด็ก
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เปิด Timeline "โมเดอร์นา" ลอตแรก 3แสนโดส กลางต.ค.นี้ ครบ 1.9 ล้านโดสไตรมาส 4
- ช่วยแล้ว "ชายไร้บ้าน" วัย 76ปี ป่วยเป็นมะเร็งโพรงจมูก เข้าบ้านบางแค
- เปิดอีกครั้ง "รพ.สนาม" โคราช หลังพบหลาย "คลัสเตอร์" ใหญ่ 15 ก.ยนี้
- ชุดตรวจ "โควิด-19" RT-PCR ของไทย แก้ปัญหาขาดแคลนชุดตรวจ ทดแทนการนำเข้า
- สธ. เปิด 7 มาตรการ "Sandbox" เรียน On-site เน้นตรวจ ATK และ วัคซีนครอบคุลม 85 %
หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา กล่าวว่า สถานการณ์การลักพาตัวเด็กในประเทศไทย ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมามีการลักพาตัวเด็กอยู่จริง แต่ไม่ได้เป็นกลุ่มแก๊งค์ขบวนการค้ามนุษย์ วัตถุประสงค์หลักคือ การกระทำทางเพศ , เอาเด็กไปเลี้ยงดูโดยเสน่หา แต่คนกลุ่มนี้ ผู้ก่อเหตุเป็นอีกกลุ่ม ซึ่งมักเป็นผู้หญิงที่ตั้งครรภ์แล้วแท้ง หรือกรณีไม่ได้ตั้งครรภ์ แต่มีการโกหกสามีว่าท้อง สถานที่ก่อเหตุจะเป็นโรงพยาบาล , การเอาเด็กไปเร่ร่อนขอทาน โดยผู้ก่อเหตุจะเลือกก่อเหตุกับกลุ่มเด็กที่เร่รอนขอทานอยู่แล้วตามสถานที่ต่างๆ แต่ไม่ได้เป็นการก่อเหตุในรูปแบบขบวนการ , การลักพาตัวเด็กแบบสร้างสถานการณ์ หรือเหตุส่วนตัวในครอบครัว หรือถูกทำให้เชื่อว่าเป็นการลักพาตัวเด็ก รูปแบบการลักพาตัวเด็กในประเทศไทยยังไม่เคยพบว่ามีแก็งค์รถตู้ การลักพาตัวเอาเด็กไปขายต่อ ก็ยังไม่เคยพบในประเทศไทย
หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา กล่าวด้วยว่า หากทำการพิจารณาให้ดี จะพบว่า ไม่มีความสมเหตุสมผลในการลักพาตัวเด็กเพื่อเอาเข้าสู่กระบวนการค้ามนุษย์ ต้องดูความเป็นเหตุเป็นผลด้วยว่า เด็กขอทานในประเทศไทย ที่พบมาก่อนหน้านี้ มาจากครอบครัวยากจนจากประเทศเพื่อนบ้าน สมัครใจเอาลูกมาทำขอทาน หรือในกรณีการเอาเด็กไปเลี้ยงดูแล ในกรณีชาวต่างชาติที่ต้องการรับเด็กไปเลี้ยงดู จะใช้วิธีการจ้างหญิงไทยอุ้มบุญ
ทั้งนี้สถานการณ์เด็กหาย ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา พบว่า สถิติเด็กหายมีปริมาณลดลง โดยในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา พบว่า ปริมาณเด็กหายลดลง อย่างมีนัยยะสำคัญ จากเดิมที่มีปริมาณเด็กหายประมาณ 400 รายต่อปีทุกช่วงวัย โดยพบว่า 90 % เป็นเด็กที่สมัครใจหายออกจากบ้าน แต่ในช่วง 3 ปีหลังพบว่ามีเด็กหายลดลงอยู่ที่ ปีละประมาณ 100 -200 รายต่อปี เห็นได้ว่าลดลงเกือบครึ่งจากเดิม โดยมีสาเหตุมาจาก ผู้ปกครองมีความตระหนักถึงความสำคัญของปัญหามากขึ้น ดูแลบุตรหลานมากขึ้น กระบวนการในการช่วยเหลือติดตามมีมากขึ้นในสังคม ให้ความสำคัญในการติดตามหามากขึ้น และประชากรเด็กที่ลดลงจากอัตราการเกิดที่น้อยลง
แต่ในขณะเดียวกันการติดตามเด็กหายมีการติดตามพบถึง 90 % ในส่วน 10 % ที่ไม่สามารถติดตามได้ จะเป็นกรณีที่ยากหรือเด็กพยายามหนีจากครอบครัวอย่างจริงจัง สำหรับการลักพาตัวเด็กมีน้อยมาก ในแต่ละปีมีพบเพียงไม่เกิน 10 รายต่อปีแต่ที่น่ากังวลคือ การหายไปในลัษณะนี้มักมีอันตรายมากว่า มีโอกาสถูกกระทำทางเพศ มีโอกาสเสียชีวิต แม้จะเป็นตัวเลขที่น้อยแต่มีความอันตรายสูงกว่า โดยที่ที่ปลอดภัยที่สุดมักเป็นที่ที่ปลอดภัยที่สุด
ขณะเดียวกันยอดคนหายที่น่าจับตามองและมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจคือ ผู้สูงอายุ ที่หายมากขึ้น และมักมาจากอาการสมองเสื่อม ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตผู้สูงอายุจะป่วยสมองเสื่อมเพิ่มมาขึ้น เนื่องจากประเทศไทยกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ ด้วยเหตุนี้อัตราการหายไปของคนในสังคมมากที่สุดจึงเปลี่ยนเป็นกลุ่มผู้สูงอายุมากที่สุด เป็นไปตามอัตราของประชากรศาสตร์
ปัญหาเด็กหายในประเทศไทยเป็นเหมือนไฟไหม้ฟาง เมื่อเกิดเหตุถึงจะมีหน่วยงานที่รับผิดชอบออกมาให้ความสำคัญแล้วก้เงียบหายไปโดยไม่มีการตั้งศูนย์ติดตามเด็กหายอย่างจริงจัง แต่ในขณะเดียวกันประเทศไทยมีศูนย์ติดตามรถหาย แต่ไม่มีศูนย์ติดตามเด็กหายหรือคนหายอย่างจริงจังถ้าเรามองว่าปัญหานี้เป็นปัญหาสำคัญของสังคมควรมีการตั้งศูนย์ติดตามเด็กหาย เพื่อจัดเก็บฐานข้อมูล สถิติเพื่อนำมาแก้ไขและป้องกันอย่างจริงจัง