"มะเร็งตับ" ยังครองแชมป์ พบมากอันดับ 1 ในไทย เผยปัจจัยเสี่ยง - วิธีป้องกัน
"มะเร็งตับ" พบมากเป็นอันดับ 1 ของมะเร็งที่พบทั้งหมดในคนไทย แต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตราว 16,000 ราย แพทย์เผยปัจจัยเสี่ยง - วิธีป้องกันโรค
วันที่ 17 กันยายน 2564 สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ เผยว่า "มะเร็งตับ" พบมากเป็นอันดับ 1 ของมะเร็งที่พบทั้งหมดในคนไทย แต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตราว 16,000 ราย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- “ทาร์ซานตัวจริง” เสียชีวิตแล้วจากมะเร็งตับ หลังใช้ชีวิตโลกภายนอกเพียง 8 ปี
- "ตั้ว-ศรัณยู" เสียชีวิตจากมะเร็งตับระยะสุดท้าย อะไรคือปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เป็นมะเร็งตับ
- เผยอาการล่าสุด "นุ๊กซี่" หวานใจ "ปู แบล็กเฮด" หลังผ่าตัดมะเร็งเต้านม
- "นุ๊กซี่" รีวิวทำคีโมพร้อมฉีดวัคซีนโควิด เฉลย "ปู แบล็คเฮด" โกนหัวเป็นเพื่อนจริงหรือไม่
- ยิ้มสู้ "นุ๊กซี่" เตรียมพร้อมทำคีโม หลังผ่าตัดมะเร็งเต้านม
นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยมะเร็งทั้งหมดประมาณ 139,000 ราย จากข้อมูลทะเบียนมะเร็งประเทศไทยรายงานผู้ป่วยมะเร็งตับและท่อน้ำดี รายใหม่ 22,213 ราย ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 16,288 ราย
มะเร็งตับที่พบมากในประเทศไทย มี 2 ชนิด คือ มะเร็งของเซลล์ตับ และมะเร็งท่อน้ำดีตับ
สาเหตุของ มะเร็งเซลล์ตับ อาจเป็นผลมาจากการมีภาวะตับแข็ง การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี และการดื่มสุรา ส่วนสาเหตุของ มะเร็งท่อน้ำดี นั้นอาจเกิดจากการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับจากการรับประทานปลาน้ำจืดดิบ รวมถึงการมีภาวะท่อน้ำดีอักเสบเรื้อรัง เป็นต้น
ทางด้าน นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเกี่ยวกับ "อาการของมะเร็งตับ" ระบุว่า ผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีอาการแสดงแตกต่างกัน ซึ่งโดยทั่วไปมักไม่มีอาการในระยะแรก อาการส่วนใหญ่ที่พบคือ แน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อเรื้อรัง อ่อนเพลีย น้ำหนักลด ปวดหรือเสียดชายโครงขวา อาจคลำพบก้อนในช่องท้อง ตัวเหลือง ตาเหลือง ท้องโต และมีอาการบวมบริเวณขาทั้ง 2 ข้าง เป็นต้น
สำหรับ "การป้องกันโรคมะเร็งตับ" ทำได้โดยการให้วัคซีนไวรัสตับอักเสบชนิดบีในเด็กแรกเกิดทุกคน ปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตและพฤติกรรมสุขภาพ เช่น หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา รับประทานอาหารที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ เช่น ไม่รับประทานปลาน้ำจืดดิบ และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารก่อมะเร็ง เช่น อาหารที่อาจปนเปื้อนสารอะฟลาทอกซิน
ทั้งนี้หากสงสัยว่ามีความเสี่ยงต่อ "มะเร็งตับ" ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคตับเรื้อรังหรือมีประวัติเป็นโรคตับอักเสบ ควรรับการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอเพื่อสามารถพบรอยโรคได้เร็ว ทำให้การรักษามีประสิทธิภาพและลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งตับลงได้