เด่นโซเชียล

เช็คความพร้อม "กทม." ก่อนเปิดเมืองรับ "นักท่องเที่ยวต่างชาติ"

เช็คความพร้อม "กทม." ก่อนเปิดเมืองรับ "นักท่องเที่ยวต่างชาติ"

17 ก.ย. 2564

เปิดตัวเลขคนกรุงต้องฉีดวัคซีนอีก 2.4 ล้านคนจึงจะครบ 70 % ก่อนรับ "นักท่องเที่ยวต่างชาติ" ด้าน "อัศวิน" ยันต้องเร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ เปิดเมื่อหรือไม่จะพิจารณาเอง

กรุงเทพมหานครมีความพร้อมมากแค่ไหนสำหรับการเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในวันที่ 15 ตุลาคม 2564 ตามที่ได้มีการหารือ ร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เมื่อวันพุธที่ 15 กันยายน ที่ผ่านมา โดยล่าสุด สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร(กทม.) เปิดเผยข้อมูลความคืบหน้าผลการดำเนินการให้บริการวัคซีนโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ข้อมูลของวันที่ 16 ก.ย. 64 ได้สรุปยอดจำนวนผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิดดังนี้

เข็มที่ 1 เพิ่มเติมอยู่ที่ 32,495 ราย สะสมอยู่ที่ 7,440,332 ราย

เข็มที่ 2 เพิ่มเติมอยู่ที่ 51,942 ราย ครบ 2 เข็มสะสมอยู่ที่ 2,917,762 ราย

เข็มที่ 3 เพิ่มเติมอยู่ที่ 1,593 ราย สะสมอยู่ที่ 188,867

จากข้อมูลสะสมที่ 2,917,762 รายนั้น กทม.มีเป้าหมายจะเร่งฉีดให้ได้ 70 % ตามทะเบียนราษฎร์ผู้มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปจากจำนวน 7,699,174 คน เพื่อเตรียมความพร้อมเปิดกรุงเทพฯ รับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีข้อสรุปนั้น ทั้งนี้ยอดฉีดวัคซีนจำนวน 70 % ของประชากรตามทะเบียนราษฎร์ต้องอยู่ที่ 5,389,421 คน ทำให้ยังมีจำนวนห่างจากเป้าหมาย 70 % อยู่ที่ประมาณ 2,471,659 คน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ขณะที่  พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงกรณีกรุงเทพมหานครจะเปิดเมือง ในวันที่ 15 ต.ค.นี้  ว่า "ตนไม่เคยพูดว่าจะเปิดเมือง
เพราะต้องคำนึงถึงส่วนใหญ่ก่อน การป้องกันเชื่อต้องดีกว่านี้ เพราะหากมีเวฟมาใหม่เข้ามาอีกจะยากต่อการควบคุม"

เพื่อความสบายใจของประชาชนและความปลอดภัยต้องการให้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ให้ครบ 70% หรือเกิน 70% ขึ้นไปและต้องรอให้ผู้ฉีดมีภูมิขึ้นจากการฉีดวัคซีนขึ้นก่อนด้วย  "ส่วนเรื่องการเปิดเมือง ตนจะเป็นผู้กำหนดเอง และไม่มีใครมากดดดันตนได้"

สำหรับการฉีดวัคซีนเข็ม 2 ของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตั้งเป้าไว้ให้ได้ 70% ประมาณวันที่ 22 ตุลาคม นี้ แต่หากได้รับการจัดสรรวัคซีนมาเร็วก็จะสามารถฉีดให้ครบตามเป้าเร็วขึ้น  

สำหรับข้อมูลการฉีดวัคซีนในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้แก่ 6 กลุ่มเพิ่มขึ้น 86,030 โดส แบ่งเป็นดังนี้
1.กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ฉีดวัคซีน 589 โดส สะสม 611,823 โดส

2.กลุ่มผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ฉีดวัคซีน 5,482 โดส สะสม 1,310,620 โดส

3.กลุ่มเจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย ฉีดวัคซีน 538 โดสสะสม 285,634 โดส

4.หญิงตั้งครรภ์ ฉีดวัคซีน 338 โดส สะสม 12,005 โดส

5.กลุ่มบุคคลที่มีโรคประจำตัว ฉีดวัคซีน 4,870 โดส สะสม 1,068,734 โดส

6.กลุ่มประชาชนทั่วไป 74,213 โดส สะสม 7,259,145 โดส