ขยายปม "นักพัฒนาสังคม" โกยเงิน 13 ล้านบาท หวั่นอุทธรณ์หลุดคดี
พม.สั่งอายัดบัญชี "นักพัฒนาสังคม" ขโมยเงิน13 ล้านบาท แจงเงินที่ยักยอกไปเป็นเงินค้ำประกันของเอกชนไม่ใช่เงินเยียวยา "กลุ่มเปราะบาง"
นางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) ให้สัมภาษณ์ กับ คมชัดลึกออนไลน์ ถึงความคืบหน้ากรณีนักพัฒนาสังคมทุจริตเงิน ว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นในกรณีที่มีข้าราชการยักยอกเงินไปจำนวน 13 ล้านบาทนั้น เป็นการขโมยเงินในส่วนของเงินค้ำประกันของเอกชน ไม่ใช่การยักยอกเงินที่ต้องจ่ายให้กลุ่มเปราะบาง โดยจากการตรวจสอบอย่างละเอียด พบว่า เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวมีพฤติกรรมตั้งแต่ช่วงเดือน มิ.ย.-ส.ค. 64 โดยมีการขโมยเงินไปจากบัญชี ตั้งแต่หลักแสนถึงหลักล้าน รวมแล้วกว่า 13 ล้านบาท เบื้องต้นคาดว่าเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวน่าจะทำการขโมยเงินในลักษณะดังกล่าวด้วยการโอนเงินวางมัดจำของบริษัทเอกชนเข้าบัญชีตัวเอง และอาจจะลักลอบทำเป็นประจำ โดยอยากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าเป็นการขโมยเงินในบัญชีนอกงบประมาณ ซึ่งอยู่ในส่วนเงินค้ำประกันสัญญา ที่บริษัทเอกชนนำเงินมาวาง เพื่อทำประกันสัญญาก่อนจะเริ่มทำงาน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- พม. ไล่ออก "นักพัฒนาสังคม" ฮุบเงิน "กลุ่มเปราะบาง" 13 ล้าน
- จับแล้ว พม. "ทุจริต13ล้าน" พรุ่งนี้ส่งฟ้องศาลอาญา ข้อหาฉ้อโกง
- ฝากขัง พม.ซี 6 "ทุจริต" เงินผู้พิการ13ล้าน อธิบดีฯ หวั่งยอดโกง อาจทะลุ45ล้าน
- พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับ ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ตรวจเข้มคนเร่ร่อนขอทาน
- พม. ฉีดวัคซีน "โควิด-19" ให้กลุ่มเปราะบาง ในบางบอน
นางพัชรี กล่าวต่อว่า สำหรับการดำเนินคดีกับข้าราชการคนดังกล่าว ขณะนี้ทำหนังสือถึง สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อให้ตรวจสอบรายละเอียดเส้นทางการเงินต่าง ๆ พร้อมทั้งอายัดบัญชีไปแล้ว ส่วนของ พม. เบื้องต้นให้ออกจากราชการไว้ก่อน และจะมีการตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรง ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการของราชการ เพื่อให้เกิดความถูกต้องในขั้นตอนการตรวจสอบข้าราชการที่กระทำความผิด และป้องกันการยื่นอุทธรณ์ของผู้กระทำความผิดโดย พม. จะต้องดำเนินการให้ครบตามขั้นตอนเพื่อป้องกันกรณีอุทธรณ์ของผู้กระทำความผิดแล้วหลุดคดี
อย่างไรก็ตามหลังจากเกิดกรณีดังกล่าว พม. ได้ให้ฝ่าย IT เข้าไปช่วยตรวจสอบ และต้องรื้อระบบใหม่ทั้งหมด รวมทั้งเปลี่ยนรหัสผ่านใหม่ทั้งหมด และเปลี่ยนขั้นตอนและบุคลากรใหม่ รวมทั้งปรับเปลี่ยนรูปแบบการเซ็นอนุมัติการเบิกจ่ายโดยจะให้ข้าราชการระดับสูงลงมาดูแลเพิ่มเติม
ส่วนกรณี ที่สื่อมวลชนนำไปพาดหัวข่าวว่าเป็นการทุจริตเงินเยียวยากลุ่มเปราะบาง ตนยืนยันว่าเงินจำนวนนี้ไม่ใช่เงินเยียวยา ทุกคนจะคิดว่าเป็นเงินของคนพิการถูกยักยอก ซึ่งเป็นการเข้าใจผิด ทำให้คนพิการเข้าใจผิดคิดว่าเป็นเงินเบี้ยความพิการที่เป็นเบี้ยของเขา เงินที่จะไปช่วยเหลือเขาจะไม่ได้ ซึ่งไม่ใช่ความจริง โดยเงินส่วนนี้เป็นเงินนอกงบประมาณ เป็นเงินที่ไม่เกี่ยวข้องกับคนพิการ เพราะเป็นเงินประกันสัญญาเวลาที่คนมาทำงานร่วมกับกระทรวง โดยเขาจะเอาเงินมาสร้างหลักประกันไว้ก่อน และเขาจะสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จตามที่ได้ตกลงกันเอาไว้ เพื่อป้องกันการหลบหนีและการทิ้งงาน