เด่นโซเชียล

กรมการแพทย์ เตือน เล่นโซเชียลมากไป อาจเป็น "โรคสายตาสั้นเทียม"

กรมการแพทย์ เตือน เล่นโซเชียลมากไป อาจเป็น "โรคสายตาสั้นเทียม"

20 ก.ย. 2564

กรมการแพทย์โดยรพ.เมตตาฯ เตือนในโลกยุค social media อาจเกิดโรค สายตาสั้นเทียม อาจกระทบต่อการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคภาวะสายตาสั้นเทียมพบมากขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมในการใช้ social media ทางสมาร์ทโฟน แท็บเลต การใช้งานคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ใช้สายตาในการเพ่ง หรือจ้องที่มากเกินไป มีผลกระทบต่อการหดตัวของกล้ามเนื้อในตาอย่างมาก ก่อให้เกิดความผิดปกติในการมองเห็นได้โดยมีอาการมองไม่ชัดค่อนข้างจะทันที หลังจากการใช้สายตาในระยะใกล้เป็นเวลานาน ซึ่งจะมีอาการเป็นชั่วคราวในรายที่มีอาการมากอาจปวดตา ปวดหัว บางครั้งมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย อย่างไรก็ตามอาการเหล่านี้ในรายที่เป็นมาก อาจเกิดจากสาเหตุอื่นที่ร้ายแรงได้ ในกรณีเช่นนี้ควรพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจรักษา รับคำแนะนำการดูแลดวงตาที่ถูกต้อง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

 

นายแพทย์เกรียงไกร  นามไธสง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) กล่าวเพิ่มเติมว่า การป้องกันและการดูแลโรคภาวะสายตาสั้นเทียมนั้นสามารถทำได้ด้วยตนเอง โดยหลังการทำงานใช้คอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนในระยะใกล้เป็นเวลาต่อเนื่องนานเกิน 30 นาที  ควรพักสายตาเป็นเวลา 5 นาที ด้วยการมองไกล ๆ สำหรับในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ไม่แนะนำให้ใช้อุปกรณ์จำพวกสมาร์ทโฟน หรือคอมพิวเตอร์เลย  และในเด็กที่มีอายุมากกว่า 2 ปี ไม่ควรใช้มากกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน ภาวะสายตาสั้นเทียมพบได้ในบุคคลกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงานที่มีสายตาปกติในช่วงอายุ 15-30 ปี และบุคคลที่อ่านหนังสือในที่แสงสว่างน้อย หรืออ่านในที่มืด

วิธีการแก้ไขคือ ควรพักสายตาโดยให้มองออกไปไกลๆ หรือหลับตาเป็นระยะ นอกจากนี้กลุ่มบุคคลที่มีสายตายาวแต่กำเนิด ตั้งแต่อายุ 30 ปีขึ้นไป และในบุคคลที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปจะพบภาวะสายตาสั้นเทียมได้บ่อย ในกลุ่มบุคคลนี้การแก้ไข คือ การใช้แว่นสายตาเพื่ออ่านหนังสือ  ในส่วนสำหรับการบริหารดวงตา หรือการโยคะกล้ามเนื้อของดวงตาที่มีการแนะนำกันต่อ ๆ มานั้น  เป็นการบริหารกล้ามเนื้อกลอกลูกตา  จึงไม่ช่วยบรรเทาภาวะสายตาสั้นเทียมนี้ ซึ่งเกิดจากการเกร็งกล้ามเนื้อภายในลูกตา  

 

ดังนั้นข้อควรพึงระวังหากมีอาการตามัว มองไกลไม่ชัด อย่าเพิ่งคิดเอาเองว่า สายตาเราสั้นเพิ่มขึ้น แล้วไปตัดแว่นสายตา  อาจได้แว่นสายตาสั้นที่มากกว่าเดิมมาใส่(เกินความเป็นจริง) แต่ควรได้รับการตรวจเช็คอาการอย่างละเอียดจากจักษุแพทย์ การใช้อาหารเสริมหรือวิตามินต่าง ๆ เพื่อป้องกันหรือรักษาดวงตานั้น  ไม่สามารถป้องกันหรือรักษาได้  ภาวะสายตาสั้นเทียมเป็นอาการที่เกิดขึ้นชั่วคราวและไม่เป็นอันตราย ดังนั้น การพักสายตาหรือการใช้แว่นสายตา สามารถบรรเทาอาการได้ ซึ่งภาวะนี้ถือว่าไม่เป็นอันตราย กรณีอาการดังกล่าวนี้สามารถตรวจเพิ่มเติมได้กับจักษุแพทย์  

 

มีคำถามชวนสงสัยว่าเป็นสายตาสั้นเทียมแล้วต่อไปกลายเป็นสายตาสั้นจริงได้หรือไม่ มีคำตอบจากแพทย์จักษุว่า เป็นไปได้สูงมากจึงต้องพยายามอย่าให้เป็นสายตาสั้นเทียมอยู่นาน ดังนั้น หากมีอาการสายตาผิดปกติแนะนำให้พบจักษุแพทย์