เริ่มฉีด "วัคซีนไฟเซอร์" ให้เด็กกลุ่มเสี่ยงวันแรกไปแล้ว 2,000 ราย
กทม.เริ่มฉีด "วัคซีนไฟเซอร์" ให้เด็กกลุ่มเสี่ยงไปแล้ว 2,000 กว่าราย จากจำนวนลงทะเบียน 5,000 คน เร่งจัดหาวัคซีนให้เพียงพอตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้เด็กครบทุกคน
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมการฉีดวัคซีนให้เด็กอายุ 12-18 ปี ที่อยู่ในกลุ่ม 7 โรคกลุ่มเสี่ยง ว่า กรุงเทพมหานครร่วมกับมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับเด็กกลุ่มเสี่ยง อายุตั้งแต่ 12 - 18 ปี ซึ่งได้ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ผ่าน QR Code เมื่อวันที่ 6 - 8 ก.ย. ที่ผ่านมา และได้รับการประเมินจากแพทย์โดยมีเอกสารที่ระบุการเจ็บป่วย เช่น ใบรับรองแพทย์ หรือใบนัดตรวจสถานพยาบาล หรือใบรับรองความพิการ หรือใบรับรองหรือเอกสารใด ๆ ที่ระบุว่ามีการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยวันนี้เป็นการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ให้แก่เด็กนักเรียนอายุ 12-18 ที่เป็น 7 โรคกลุ่มเสี่ยงที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งรวมทั้งเด็กนักเรียนในสังกัดกทม. และสังกัดอื่นๆ แบ่งเป็นฉีดเข็มที่ 1 จำนวน 800 โดส และฉีดเข็มที่ 2 จำนวน 700 โดส (ฉีดเข็มที่ 1 เมื่อวันที่27 ส.ค.64) ทั้งนี้ จากการลงทะเบียนมีเด็กอายุ 12-18 ปี ที่เป็น 7 โรคกลุ่มเสี่ยง แจ้งความประสงค์รับการฉีดวัคซีนกว่า 5,000 คน ขณะนี้ดำเนินการฉีดแล้วประมาณ 2,000 คน เหลืออีก 3,000 คน หาก กทม. ได้รับการจัดสรรวัคซีนจากกระทรวงสาธารณสุขจะเร่งดำเนินการฉีดให้ครบ
พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวเพิ่มเติมว่า กทม. มีความตั้งใจที่จะฉีดวัคซีนให้แก่เด็กอายุ 12-18 ปีที่อยู่ในกรุงเทพมหานครทุกคน ไม่เฉพาะที่เป็น 7 โรคกลุ่มเสี่ยงเท่านั้น ซึ่งมีประมาณ 1 ล้านคน เพื่อความปลอดภัยของเด็ก รวมทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมในกรณีที่อาจจะมีการเปิดภาคเรียน โดยหากสามารถฉีดวัคซีนให้เด็กครบทุกคนหรือ 70% ขึ้นไปก่อนเปิดภาคเรียน จะเป็นการเพิ่มความปลอดภัยและลดความกังวลใจของเด็กและผู้ปกครอง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- "วัคซีนเด็ก"กทม.พร้อม "ฉีดวัคซีนไฟเซอร์" ให้นักเรียน 4 แสนคน
- เปิดผลข้างเคียง "วัคซีนไฟเซอร์" กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบในเด็ก ที่รักษาได้
- "นักวิจัย" ไขข้อข้องใจ ทำไมต้องเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ถึงฉีดวัคซีนโควิดได้
- หมอดื้อ ยืนยัน "ฉีดวัคซีน" ให้เด็กได้ทุกวัย แต่ต้อง "ชนิดเชื้อตาย" เท่านั้น
- เด็กนอกระบบ-"Home school" ขอรับ "วัคซีนไฟเซอร์" ได้ที่ รพ.ใกล้บ้าน
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร ทำการสำรวจข้อมูลนักเรียนในสังกัดที่มีอายุระหว่าง 12 - 18 ปี ตามคำแนะนำของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย เพื่อเป็นข้อมูลในการวางแผนเกี่ยวกับการรับวัคซีนโดยสำรวจผู้ที่มีภาวะเสี่ยงและผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ดังนี้
ผู้ที่มีภาวะเสี่ยง
กลุ่มอายุ 12 - 13 ปี น้ำหนัก 70 กิโลกรัม
กลุ่มอายุ 13 - 15 ปี น้ำหนัก 80 กิโลกรัม
กลุ่มอายุ 15 - 18 ปี น้ำหนัก 90 กิโลกรัม
ส่วนผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ได้แก่
1. โรคอ้วน ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากภาวะทางเดินหายใจอุดกั้น
2. โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง รวมทั้งหอบหืดที่มีอาการปานกลางหรือรุนแรง
3. โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง
4. โรคไตวายเรื้อรัง
5. โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ
6. โรคเบาหวาน
7. กลุ่มโรคพันธุกรรม รวมทั้งกลุ่มอาการดาวน์ เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทอย่างรุนแรง และเด็กที่มีพัฒนาการช้า
นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครโดยสำนักอนามัยได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ ในการวางแผนการให้บริการฉีดวัคซีนให้กับนักเรียนที่มีอายุระหว่าง 12 - 18 ปี ทุกสังกัดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งจะมีการวางแผนร่วมกันตั้งแต่การสำรวจกลุ่มเป้าหมายนักเรียนและผู้ปกครองถึงความประสงค์ให้เข้ารับวัคซีนโควิด-19 การจัดหน่วยสาธารณสุขเพื่อให้บริการฉีดวัคซีน การติดตามอาการภายหลังได้รับวัคซีน และการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติและการเตรียมตัวเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในกลุ่มเด็กนักเรียนอายุระหว่าง 12-18 ปี เนื่องจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับนักเรียนจะต้องดำเนินการควบคู่กับมาตรการป้องกัน และเฝ้าระวังโรคในสถานศึกษาด้วย