เตือน "ลูกจ้าง" แค่โพสต์บ่นก็เสี่ยงโดน เลิกจ้าง - ไม่ได้เงินชดเชย
เพจ กฎหมายแรงงาน เตือน "ลูกจ้าง" ก่อนโพสต์คิดให้ดี พร้อมยกเคสอุทาหรณ์โพสต์บ่น นายจ้าง ถูกเลิกจ้าง - ไม่ได้เงินชดเชย
วันที่ 22 กันยายน 2564 เพจเฟซบุ๊ก "กฎหมายแรงงาน" ให้ความรู้กรณี "ลูกจ้าง" โพสต์ข้อความระบายแล้ว "ถูกเลิกจ้าง" โดยระบุว่า แค่โพสต์ระบาย ไม่ต้องด่า ก็เลิกจ้างได้
คดีนี้ "ลูกจ้าง" โพสต์ลงเฟซบุ๊ก (Facebook) มีว่า "เมื่อไหร่จะได้ในสิ่งที่ควรได้ว๊ะ ต้องกินต้องใช้ ไม่ได้แดกดินแดกลมนะ" และ "ใครที่เกลียดเจ้านายเป็นบ้าเป็นหลัง โดนเจ้านายกลั่นแกล้ง หยุดซะเถอะความเกลียด ความโกรธ ปล่อยให้เขาเป็นอย่างนั้นไปคนเดียว เพราะถ้ามีเจ้านายเฮงซวยจริง ๆ ก็ถือว่าเจ้านายของคุณมีทุกข์เยอะที่ชีวิตเขาต้องมาเจอลูกน้องเกลียดและเขาก็จะไม่มีความสุขในสิ่งที่เขาเป็น ยุ่งเหยิงยิ่งกว่าxมอย ลูกค้าเกลียดวันที่ลูกค้าเต็ม ตลอด 3 ปีมานี้เขาบอกว่าขาดทุนตลอด อยู่ได้ไงตั้ง 3 ปี งง ให้กำลังใจกันได้ดีมากขาดทุนทุกเดือน"
ข้อความข้างต้นนี้นำมาสู่การที่ "ลูกจ้าง" คนดังกล่าว "ถูกเลิกจ้าง" โดยศาลพิพากษาว่า แม้ข้อความที่ลูกจ้างเขียนดังกล่าวมีลักษณะเป็นการระบายความคับแค้นข้องใจ แต่ก็ทำให้ผู้อ่านข้อความเข้าใจว่า "นายจ้าง" กลั่นแกล้งลูกจ้าง นายจ้างเป็นนายจ้างที่ไม่ดี ไม่ถูกต้อง เอาเปรียบลูกจ้าง และนายจ้างกำลังประสบปัญหาด้านการเงิน ทั้งลูกจ้างทำงานกับนายจ้างมาเป็นเวลานานย่อมทราบดีว่าการเขียนข้อความดังกล่าวย่อมมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ในการบริหารของนายจ้าง ซึ่งมีความสำคัญต่อการตัดสินใจเลือกใช้บริการของลูกค้า
การกระทำของลูกจ้างจึงเป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (2) และเป็นการกระทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต ตาม ป.พ.พ.มาตรา 583 นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่ลูกจ้าง
ข้อสังเกต
1. คดีนี้ศาลไม่ปรับเข้ามาตรา 119(1) เพราะไม่น่าจะเป็นความผิดอาญาในฐานหมิ่นประมาท ทั้งนี้เพราะเป็นลักษณะคำบ่น
2. แต่ "ฐาน" ในการเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ยังมีเรื่อง "จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย" ตามมาตรา 119(2)
หลักในการพิจารณาน่าจะอยู่ตรงที่ว่า "ถ้อยคำดังกล่าว ทำให้นายจ้างเสียหายหรือไม่" ซึ่งศาลเห็นว่าคำดังกล่าว "ทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย" นายจ้างจึงเลิกจ้างได้โดยไม่จ่ายค่าชดเชยและไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า
3. เช่นนี้จึงต้องเข้าใจว่าไม่ใช่ว่าการบ่นจะนำมาเลิกจ้างได้ทุกกรณี แต่ต้องพิจารณา "เนื้อหาของคำบ่น" ว่าคนอ่านแล้วรู้สึกว่านายจ้างเป็นคนไม่ดีหรือไม่
ถ้าบ่นว่า "ช่วงนี้งานหนัก" "ต้องรีบปิดงบ" "เหนื่อย" อะไรทำนองนี้ คนอ่านไม่ได้รู้สึกว่านายจ้างเป็นคนไม่ดี แบบนี้ไม่น่าจะเลิกจ้างได้
4. ประเด็นเรื่อง "เลิกจ้างไม่เป็นธรรม" (ม.49 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลฯ) เข้าไปด้วย จะถือว่าเลิกจ้างเป็นธรรมหรือไม่ แอดมินขอให้หลักง่าย ๆ คือ "ถ้าเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยตามมาตรา 119 ก็จะเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมด้วย"
ที่มา คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8206/2560
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ด่วน "โควิดวันนี้" พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 11,252 ราย เสียชีวิต 141
- กรมอุตุฯ "พยากรณ์อากาศ" วันนี้ ทั่วไทยมีฝนต่อเนื่อง กทม.ตก 70%
- "ประมวล" ชี้ นายกฯต้องเอาจริงกับแรงงานผิดกฎหมาย เพราะมีขบวนการใหญ่ทุจริต สร้างความเสียหายให้ประเทศชาติ
- ข่าวดี ก.แรงงาน ปลดล็อกส่งแรงงานไทยไปกาตาร์แล้ว
- "ศรีสุวรรณ" บุก "ก.แรงงาน" แนะใช้ ม.14 พรก.บริหารคนต่างด้าวจัดการโควิด-19