เด่นโซเชียล

ไขข้อข้องใจอาการ "กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ" ผลกระทบจาก "วัคซีนเด็ก" ชนิด mRNA

ไขข้อข้องใจอาการ "กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ" ผลกระทบจาก "วัคซีนเด็ก" ชนิด mRNA

22 ก.ย. 2564

ภาวะ "กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ" อาการของหัวใจที่ไม่รุนแรง แต่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในระยะยาว เช็คอาการเบื้องต้นอย่างละเอียดที่นี่

"กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ"  (Myocarditis) อาการที่ถูกพูดถึงบ่อยครั้งในระยะนี้ เพราะอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเป็นอีกหนึ่งในผลข้างเคียงที่เกิดจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยเฉพาะภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบที่เกิดในเด็ก ทั้งนี้อาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบไม่ได้เป็นผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนอย่างเดียวเท่านั้น เพราะส่วนใหญ่แล้ว มักจะมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อบริเวณกล้ามเนื้อหัวใจ โดยที่พบบ่อยมักจะเกิดจากการติดเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย เชื้อราหรือปรสิต และในรายบายอาจจะเกิดจากจากการใช้ยา การได้รับสารเคมี หรือโรคบางชนิด

อย่างไรก็ตามภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในผู้ใหญ่และในเด็ก บางครั้งอาจจะไม่แสดงอาการ หรืออาจจะแสดงอาการรุนแรง อย่างเช่น 

  • อาการเจ็บหน้าอกหรือหายใจได้สั้นลง
  • เจ็บหน้าอก 
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ 
  • หายใจได้สั้นลง ทั้งขณะหยุดพักและขณะทำกิจกรรม
  • มีอาการบวมบริเวณขา เท้า และข้อเท้า
  • อ่อนแรง
  • มีอาการอื่น ๆ ที่แสดงถึงการติดเชื้อไวรัส เช่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามร่างกายและข้อ มีไข้ เจ็บคอ หรือท้องเสีย 

ทั้งนี้อาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบในเด็กภายหลังจากการรับวัคซีนโควิด-19 นั้นสร้างความกังวลให้ผู้ปกครองไม่น้อย โดยข้อมูลจาก กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ภายหลังจากมีการใช้วัคซีนชนิด mRNA พบว่ามีการรายงานภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบสูงกว่าปกติในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อิสราเอล และยุโรป โดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐฯ (US.CDC) รายงานอุบัติการณ์การเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังจากเข็มที่ 2 ประมาณ 16 รายใน 1 ล้านโดสของการฉีด โดยเกิดหลังการได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 มากกว่าเข็มที่ 1

 

อาการมักเกิดขึ้นตั้งแต่วันแรกจนถึง 5 วันหลังจากได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 สอดคล้องกับการเกิดปฏิกิริยาที่มักพบสูงทันทีหลังการฉีดเข็มที่ 2 อีกทั้งไขมันอนุภาคนาโน (Lipid nanoparticle) ที่เป็นตัวช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน อาจเป็นปัจจัยส่งเสริมที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาข้ามภูมิคุ้มกัน อาการแสดงที่พบได้บ่อยที่สุด คือ แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก รู้สึกเหนื่อย ใจสั่น เกิดขึ้นภายใน 7 วันหลังได้รับวัคซีน

 

สำหรับการวินิจฉัยอาการกล้ามเนื้อใจหัวอักเสบ จะตรวจด้วยคลื่นไฟฟ้า เอกเรย์ปอด ตรวจเลือดดูโปรตีนของกล้ามเนื้อหัวใจ (Cardiac troponin) เมื่อรวบรวมข้อมูลทั้งหมดแล้วสงสัยกล้ามหัวใจอักเสบ แนะนำให้ปรึกษาอายุรแพทย์โรคหัวใจเพื่อประมินการทำงานของหัวใจ  

ด้านการรักษา จะรักษาแบบประคับประคองด้วยการใช้ยา เช่น ยาต้านการอักเสบ (NSAIDs) ยาสเตียรอยด์ (Prednisolone) รวมถึงยา Colchicine ผู้ป่วยหายเป็นปกติได้เกือบทั้งหมด ไม่มีรายงานการเสียชีวิต เมื่อรักษาหายแล้วเบื้องต้นผู้ป่วยจะได้รับการตรวจติดตามการทำงานของหัวใจต่อไป 

อย่างไรก็ตามแม้ว่า อาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจะไม่ได้รุนแรงและสามารถรักษาให้หายได้ และอาจไม่ได้ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวอย่างเฉียบพลัน แต่ในระยะยาวความผิดปกติดังกล่าวจะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจเสียหายและค่อย ๆ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้เช่นกัน  รวมทั้งยังส่งผลให้ผู้ที่เคยมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจึงเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน และภาวะอื่น ๆ ได้อีก

 

ที่มา: www.pobpad.com 
กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง