เด่นโซเชียล

สธ. ย้ำ "ไฟเซอร์" ในเด็ก 12-17ปี ปลอดภัย ต่ำกว่า 12 ปีรอวัคซีนขึ้นทะเบียนเพิ่ม

สธ. ย้ำ "ไฟเซอร์" ในเด็ก 12-17ปี ปลอดภัย ต่ำกว่า 12 ปีรอวัคซีนขึ้นทะเบียนเพิ่ม

22 ก.ย. 2564

นายอนุทิน ย้ำฉีดวัคซีนไฟเซอร์เด็กอายุ 12-17 ปี เป็นไปตามความสมัครใจ ผู้ปกครองต้องยินยอม และไม่นำมาเป็นข้อจำกัดในการไปโรงเรียน ยันวัคซีนที่ใช้มีความปลอดภัย ส่วนอายุต่ำกว่า 12 ปีต้องรอผู้ผลิตขึ้นทะเบียนเพิ่มเติม สำหรับปี 2565 เตรียมวัคซีนเข็มกระตุ้นอย่างเพียงพอ

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในเด็กอายุ 12-17 ปี ว่า รัฐบาลจัดหาวัคซีนไฟเซอร์เพื่อฉีดให้แก่เยาวชนอายุ 12 ปีขึ้นไป เนื่องจากเป็นกลุ่มวัยเรียนที่ต้องมีสังคมและกลับไปโรงเรียน ยืนยันว่า วัคซีนมีความปลอดภัย มีข้อมูลวิชาการรองรับ แต่การฉีดในเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะต้องให้ผู้ปกครองยินยอม ซึ่งเป็นไปตามความสมัครใจ และไม่ได้นำมาเป็นข้อจำกัดไม่ให้เด็กไปโรงเรียน โดยวัคซีนไฟเซอร์ล็อตแรกจะมาถึงวันที่ 29 กันยายนนี้ และส่งให้ครบ 30 ล้านโดสในเดือนธันวาคม 2564 ส่วนกลุ่มอายุต่ำกว่า 12 ปี ต้องรอผู้ผลิตวัคซีนยื่นเอกสารขึ้นทะเบียนกับ อย. เพิ่มเติมและเมื่อขึ้นทะเบียนแล้วจะเร่งจัดหามาฉีดต่อไป

สธ. ย้ำ \"ไฟเซอร์\" ในเด็ก 12-17ปี ปลอดภัย ต่ำกว่า 12 ปีรอวัคซีนขึ้นทะเบียนเพิ่ม

สำหรับการฉีดวัคซีนภาพรวม คาดว่าสิ้นเดือนตุลาคมนี้ จะฉีดได้เกือบ 60 ล้านโดส และทุกกลุ่มเป้าหมายจะได้รับการฉีดวัคซีนครบทุกโดสภายในสิ้นปี 2564 ส่วนผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็ม ควรได้รับเข็มกระตุ้นเพื่อเสริมภูมิคุ้มกัน ซึ่งจะเริ่มวันที่ 24 กันยายนนี้ ขณะที่วัคซีนเข็มกระตุ้นสำหรับปี 2565 สามารถจัดหาให้ประชาชนได้เพียงพอ เนื่องจากฉีดเพียงคนละ 1 โดส และจะติดตามว่าต้องมีการฉีดเพิ่มเติมในช่วงครึ่งปีหลังหรือไม่ ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนให้มีความครอบคลุม แม้จะยังพบการติดเชื้อได้ แต่จะช่วยลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวด้วยว่า เมื่อวันที่ 21 กันยายนที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการร่าง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 พ.ศ. ... ซึ่งมีการปรับปรุงให้เข้มข้นขึ้น หากประกาศโรคใดให้เป็นโรคติดต่ออันตรายร้ายแรง คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ จะสามารถประกาศภาวะต่างๆ ด้านสาธารณสุข ประกาศความร่วมมือจากทุกหน่วยงานข้อกำหนด กฎเกณฑ์ต่างๆ ได้โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยอำนาจของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้หน่วยงานต่างๆ มีการทำงานร่วมกันมากขึ้น

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง