ปิด "รพ.สนาม" บุษราคัม หลังเปิดรักษาผู้ป่วย "โควิด-19" 130 วัน 20,436 ราย
สธ. ประกาศปิด รพ.สนามบุษราคัม หลังจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ลดลง สรุปยอด 130 วันดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด 20,436 ราย พร้อมขอบคุณบุคลากรและทุกหน่วยงานที่ร่วมสนับสนุนภารกิจจนประสบความสำเร็จ สำหรับผู้ติดเชื้อในกทม.และปริมณฑลจากนี้มีโรงพยาบาลสนามทั้งของรัฐและเอกชนรองรับ
นายแพทย์กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้อำนวยการโรงพยาบาลบุษราคัม กล่าวในการแถลงข่าว 130 วันปฏิบัติงานโรงพยาบาลบุษราคัม ว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดโรงพยาบาลบุษราคัมที่อิมแพค เมืองทองธานี เป็นโรงพยาบาลสนามขนาดใหญ่ ขนาด 3,700 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 อาการปานกลางจนถึงอาการรุนแรงในกทม.และปริมณฑลที่เพิ่มขึ้น ให้เข้าถึงการดูแลรักษา
ในช่วงแรกมีผู้ป่วยวันละ 100 ราย โดยเฉพาะช่วงเดือนกรกฎาคมที่มีการระบาดของสายพันธุ์เดลตา มีผู้ติดเชื้อเข้ารับการรักษาเพิ่มขึ้นวันละ 300 – 400 ราย ส่งผลให้มีผู้ป่วยที่มีอาการหนักมากขึ้น ไม่สามารถส่งต่อไปรักษายังโรงพยาบาลหลักที่มีศักยภาพสูงได้ จึงได้เปิดหอผู้ป่วยวิกฤตโกเมน จำนวน 17 เตียง และหอผู้ป่วยกึ่งวิกฤตทับทิม 32 เตียง เพื่อดูแลผู้ป่วยที่ให้ออกซิเจนไฮโฟลว์ ลดการใส่ท่อช่วยหายใจ ลดการเสียชีวิต ตั้งแต่เปิดดำเนินการวันที่ 14 พฤษภาคม - 20 กันยายน 2564 ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด 19 สะสม 20,436 ราย โดยเป็นผู้ป่วยใน 3 ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ 20,289 ราย หอผู้ป่วยวิกฤตโกเมน 92 ราย และหอผู้ป่วยกึ่งวิกฤตทับทิม 55 ราย
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบุษราคัม กล่าวด้วยว่า จากมาตรการล็อกดาวน์ มาตรการทำงานที่บ้าน (Work From Home) และมาตรการองค์กร และมาตรการส่วนบุคคลในการป้องกันการติดเชื้ออย่างเข้มข้น ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเริ่มลดลง ทั้งใน กทม.และปริมณฑล รวมทั้งเกิดนวัตกรรมการดูแลรักษาผู้ป่วย โดยปรับระบบการดูแลรักษากลุ่มที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยให้เข้ารับการดูแลรักษาที่บ้านและชุมชน (Home Isolation/Community Isolation) ทำให้ตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นมา โรงพยาบาลบุษราคัมมีผู้ป่วยมาเข้ารับการรักษาประมาณ 5-6 รายต่อวัน ขณะที่จำนวนเตียงใน Hospitel, เตียงสีเหลืองและสีแดงในโรงพยาบาลต่าง ๆ มีเพียงพอ
ดังนั้น เมื่อโรงพยาบาลบุษราคัม ได้ส่งผู้ป่วยที่รักษาหายกลับบ้านหมดทุกรายในวันที่ 20 กันยายน 2564 กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ปิดให้บริการโรงพยาบาลบุษราคัม และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกทม.และปริมณฑล ซึ่งมีโรงพยาบาลสนามทั้งของภาครัฐและเอกชนในการดูแลผู้ป่วยหลังจากนี้
ขอบคุณบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขทุกกรมทุกสังกัด ทั้งจากส่วนกลางและภูมิภาคที่มาร่วมปฏิบัติงานในภาวะวิกฤต ด้วยความเต็มใจ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ศบค.ชุดเล็ก เตรียมชงต่อ "พ.ร.ก.ฉุกเฉิน" อีก 2 เดือน ขยายเวลาเคอร์ฟิวส์
- ไม่จริง อนุทิน ยันยังไม่ได้รับเอกสารแจ้งบริจาค "ไฟเซอร์" เพิ่มจากสหรัฐฯ
- เปิดใจ "หนุ่มโชว์หวิว" กับเส้นทางสู่วงการ "Onlyfans" วอนเปิดใจ อย่ารังเกียจ
- ไม่ตัดทิ้ง อย.แจง "วัคซีนซิโนฟาร์ม" ใช้ในเด็ก อยู่ระหว่างพิจารณา
- สธ. ย้ำ "ไฟเซอร์" ในเด็ก 12-17ปี ปลอดภัย ต่ำกว่า 12 ปีรอวัคซีนขึ้นทะเบียนเพิ่ม