"รฟท." ประกาศขยาย "รถไฟสายสีแดง" คาดใช้งานปี 68
"การรถไฟแห่งประเทศไทย" ประกาศก่อสร้างส่วนต่อขยาย "รถไฟสายสีแดง" ธรรมศาสตร์ รังสิต - ศาลายา - หัวลำโพง - หัวหมาก เปิดใช้ ปี 68
23 ก.ย.64 การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แจ้งว่า รฟท. อยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ(PPP)โครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง 4 โครงการ ระยะทางรวม 53.84 กิโลเมตร (กม.) วงเงินรวมประมาณ 6.75 หมื่นล้านบาท
ประกอบด้วย 4 เส้นทางดังนี้
1. โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง (ช่วงรังสิต - ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต) ระยะทาง 8.84 กม. วงเงิน 6.57 พันล้านบาท
2. ช่วงตลิ่งชัน - ศาลายาระยะทาง 14.8 กม. วงเงิน 1.02 หมื่นล้านบาท
3. ช่วงตลิ่งชัน – ศิริราช ระยะทาง 4.3 กม. วงเงิน 6.64 พันล้านบาท
4. ช่วงบางซื่อ - หัวลำโพง และช่วงบางซื่อ - หัวหมาก หรือที่เรียกว่า Missing Link ระยะทาง 25.9 กม. วงเงิน 4.41 หมื่นล้านบาท
โดยภายในเดือน ก.ย. 64 จะรายงานความคืบหน้าผลการศึกษารูปแบบของการ PPP ในเบื้องต้น อาทิ รฟท. ลงทุนงานโยธา เอกชนลงทุนงานเดินรถ และซ่อมบำรุง หรือจะให้เอกชนลงทุนทั้งหมด ทั้งงานโยธา เดินรถ และซ่อมบำรุง รวมถึงต้องนำเรื่องบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์เข้ามารวมด้วยหรือไม่ เรื่องนี้ต้องพิจารณาอย่างละเอียด รอบคอบ และรัดกุม เพื่อให้มีความเหมาะสมที่สุด คาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปไม่เกินเดือน พ.ย.นี้
ปัจจุบัน รฟท. เตรียมร่างรายละเอียดเงื่อนไขการประกวดราคา(ทีโออาร์) และราคากลางไว้แล้ว เมื่อได้ข้อสรุปรูปแบบ PPP จะต้องปรับปรุงทีโออาร์ และราคากลางใหม่อีกเล็กน้อย คงใช้เวลาไม่นาน คาดว่าจะเปิดประมูลได้ในเดือน ม.ค.-ก.พ.65
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม มีนโยบายให้ รฟท. เร่งการก่อสร้างส่วนต่อขยายรถไฟสายสีแดงทั้ง 4 เส้นทาง เพื่อให้สอดรับกับการเปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน อำนวยความสะดวกการเดินทางแก่ประชาชน เบื้องต้นคาดว่ารถไฟสายสีแดงส่วนต่อขยายจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี เปิดบริการได้ประมาณปี 68
โดยสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ในปีแรกของการเปิดบริการคาดการณ์ผู้โดยสารไว้ 28,150 คนต่อวัน สายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชันอยู่ที่ 47,570 คนต่อวัน สายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช 55,200 คนต่อวัน
ส่วนสายสีแดง ช่วงบางซื่อ - หัวลำโพง และช่วงบางซื่อ – หัวหมาก (Missing Link) ขณะนี้ได้ข้อสรุปเรื่องการลงทุนโครงสร้างทางร่วมกับเอกชนผู้รับสัมปทานรถไฟความเร็วสูง(ไฮสปีด) เชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) แล้ว โดยหากโครงการใดเริ่มลงมือก่อสร้างก่อน ก็ให้เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างเลย และมาหักค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างกันภายหลัง
อย่างไรก็ตามเราคงได้ใช้กันในปี 2568 ซึ่งก็ต้องรอกันต่อไปยาว ๆ เลย
ที่มา กรมประชาสัมพันธ์
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง