เปิดสูตรเด็ด 3 ป.กำจัด "โรคพิษสุนัขบ้า" ตั้งเป้าปลอดโรคในอีก 4 ปี
กรมควบคุมโรค กระตุ้นเตือนประชาชนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทั้งในคนและในสัตว์ จับมือกรมปศุสัตว์ วางแผนปีหน้าจะไม่มีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ แนะประชาชนใช้สูตร 3 ป. กำจัดโรค ตั้งเป้าไทยปลอดโรคในพ.ศ.2568
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าวันที่ 28 กันยายนทุกปี องค์กรรณรงค์ควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าโลก (Global Alliance for Rabies Control) กำหนดให้เป็นวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก (World Rabies Day) เพื่อกระตุ้นเตือนให้ประชาชนทั่วโลก รู้ถึงความรุนแรงของโรคนี้ เนื่องจากเป็นโรคที่ไม่มียารักษา หากป่วยแล้วจะเสียชีวิตทุกราย ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ปีละ 49,000 ราย 40 % เป็นเด็ก โดยในปีนี้ได้กำหนดประเด็นรณรงค์ว่า "กลัวโควิด อย่าลืมพิษสุนัขบ้า ไม่ตระหนก แต่ต้องตระหนัก" (Rabies: Facts Not Fear)
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวด้วยว่า โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน เป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่สำคัญ สถานการณ์ของไทยขณะนี้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้เสียชีวิตในรอบ 3 ปีที่ผ่านมาลดลงพบปีละ 3-4 ราย สาเหตุเกิดจากถูกสุนัขกัดและมากกว่าครึ่งเป็นสุนัขที่มีเจ้าของ ที่สำคัญผู้เสียชีวิตทุกรายไม่ได้ไปฉีดวัคซีนหลังจากถูกสัตว์กัดหรือข่วน ในการแก้ปัญหานี้ กรมควบคุมโรคได้ร่วมมือกับกรมปศุสัตว์และเครือข่าย ดำเนินงานภายใต้โครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานฯ เป้าหมายสำคัญคือป้องกันไม่ให้มีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าอย่างยั่งยืน
โดยในปีงบประมาณ 2565 นี้ ตั้งเป้าไม่มีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ พร้อมทั้งเตรียมประเมินอำเภอที่ไม่พบผู้เสียชีวิตและไม่พบสัตว์ป่วย ให้เป็นอำเภอปลอดโรคซึ่งขณะนี้มีประมาณ 600 อำเภอ ใน 59 จังหวัด โดยตั้งเป้าเป็นประเทศปลอดโรคให้สำเร็จภายในพ.ศ. 2568 เร็วกว่าข้อตกลงในระดับภูมิภาคเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งรวมไทยด้วยที่ตั้งเป้ากำจัดโรคนี้ให้หมดภายในพ.ศ. 2573 โดยหัวใจความสำเร็จการแก้ไขปัญหานี้คือความร่วมมือของประชาชนและภาคประชาสังคม
นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อว่า ประชาชนทุกคนสามารถร่วมมือร่วมใจกันกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากประเทศไทยได้ โดยใช้หลัก 3 ป. ดังนี้
- ป้องกันสัตว์เป็นโรค โดยการนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เริ่มฉีดครั้งแรกเมื่ออายุ 2-4 เดือน และฉีดซ้ำตามกำหนดทุกปี ทำหมันสุนัขถาวรเพื่อไม่ให้มีจำนวนมากเกินความต้องการ จะช่วยลดสุนัขจรจัด และหากพบสัตว์ตายผิดปกติ ขอให้ส่งซากสัตว์ไปตรวจหาเชื้อซึ่งปัจจุบันสามารถส่งได้ทั้งตัวไม่ต้องตัดหัว ผู้ที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ส่งตรวจได้ที่สถานเสาวภา สภากาชาดไทย ในต่างจังหวัดส่งที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดและอำเภอ
- ป้องกันการถูกกัด ไม่ปล่อยสุนัขหรือแมวออกนอกบ้านตามลำพัง หากต้องพาออกไปนอกบ้านให้ใส่สายจูง นอกจากนี้ประชาชนยังสามารถหลีกเลี่ยงการถูกกัดโดยยึดคาถา 5 ย. คือ 1.อย่าแหย่ให้สุนัขโมโห โกรธ 2.อย่าเหยียบหาง หัว ตัว ขา หรือ ทำให้สุนัขหรือสัตว์ต่างๆ ตกใจ 3.อย่าแยกสุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า 4.อย่าหยิบชามข้าวหรือเคลื่อนย้ายอาหารขณะที่สุนัขกำลังกินอาหาร และ 5.อย่ายุ่งหรือเข้าใกล้กับสุนัขที่ไม่มีเจ้าของหรือไม่ทราบประวัติ
- ป้องกันหลังถูกกัด โดยรีบล้างแผลด้วยน้ำและสบู่อย่างเบามือนานอย่างน้อย 10 นาที เพื่อกำจัดเชื้อออกไปให้มากที่สุด จากนั้นใส่ยาฆ่าเชื้อที่บาดแผล และกักสุนัขเพื่อดูอาการ 10 วัน หากสุนัขตายให้ส่งตรวจหาเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า และไปพบแพทย์ เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ควรฉีดให้ครบชุดและตรงตามแพทย์นัด อาจท่องจำง่ายๆ คือ "ล้างแผล ใส่ยา กักหมา หาหมอ และฉีดวัคซีนให้ครบ เพียงเท่านี้ก็สามารถป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้
สำหรับกิจกรรมวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลกในวันที่ 28 กันยายน 2564 จะมีการรณรงค์ออกหน่วยเคลื่อนที่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้สุนัข แมว และทำหมันสุนัขโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- คนไทยยอมรับ "ตายดีที่บ้าน" มากขึ้น ย้ำแพทย์ต้องเคารพการตัดสินใจของผู้ป่วย
- นำทัพผู้บริหารสธ. ขอบคุณปชช. "ฉีดวัคซีนโควิด" วันมหิดล ทะลุ 1.35 ล.โดส
- ใช้ได้แล้ว "ธนาคารกรุงเทพ" ประกาศใช้งานได้ตามปกติทุกช่องทาง
- ประชาชน เฝ้าฯ รับเสด็จ "ในหลวง และ พระราชินี" ทรงวางพวงมาลา เนื่องในวันมหิดล
- ผู้บริหาร สธ. วางพวงมาลาถวายราชสักการะพระบรมราชชนก เนื่องใน "วันมหิดล"