สพฉ. แนะปชช.เสี่ยง "น้ำท่วม" เตรียมกระเป๋ายังชีพฉุกเฉิน พร้อมเร่งช่วยเหลือ
สพฉ. แนะประชาชนจัดเตรียมชุดยังชีพ ให้เพียงพอสำหรับสมาชิกในครอบครัว อย่างน้อย 3 วัน พร้อมเร่งติดตามให้ความช่วยเหลือ เตือนระวังไฟดูด รถตกน้ำ
ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ทางภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือว่า สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ได้จัดทีมเฝ้าระวังสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด โดยเตรียมพร้อมที่จะสนับสนุนทรัพยากรด้านการแพทย์ฉุกเฉินแก่หน่วยงานต่างๆที่กำลังเร่งช่วยเหลือประชาชนอยู่ในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข หรืออาสาสมัครมูลนิธิกู้ภัยต่างๆเป็นต้น
เลขาธิการ สพฉ. กล่าวด้วยว่า ในแง่ของการเตรียมการหากมีผู้ป่วยฉุกเฉินในพื้นที่อุทกภัย ขณะนี้ได้ตรวจสอบไปยังศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการการแพทย์ฉุกเฉินจังหวัดต่างๆ พบว่าในทุกพื้นที่ยังสามารถให้บริการได้ โดยประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถโทร.ขอความช่วยเหลือได้ที่หมายเลข 1669 หากพื้นที่ใดที่รถพยาบาลปกติ ไม่สามารถเข้าไปได้ ก็จะมีการประสานใช้ยานพาหนะอื่น เช่น เรือท้องแบนติดเครื่องยนต์ รถยกสูง รถหกล้อใหญ่ หรือแม้แต่เฮลิคอปเตอร์หากมีความจำเป็น ซึ่งในปัจจุบันได้มีการออกประกาศให้สามารถใช้เงินกองทุนการแพทย์ฉุกเฉินเพื่อจ่ายชดเชยให้กับหน่วยปฏิบัติการที่ใช้ยานพาหนะพิเศษเหล่านี้ได้
ในส่วนของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดอุทกภัย ควรมีการติดตามข่าวสารจากหน่วยงานราชการในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงแนะนำให้ประชาชนจัดเตรียมกระเป๋ายังชีพฉุกเฉิน ให้เพียงพอต่อจำนวนคนในบ้านอย่างน้อย 3 วัน โดยสิ่งของที่ควรมี เช่น อาหารสำเร็จรูปพร้อมทาน น้ำดื่ม น้ำสะอาด ยารักษาโรคประจำตัว ชุดปฐมพยาบาล กระดาษชำระ ถุงขยะ ไฟฉาย แบตเตอรี่สำรอง เสื้อผ้าสำรอง เสื้อกันฝน รวมถึงเอกสารสำคัญต่างๆ
เลขาธิการ สพฉ. ยังได้เตือนให้ระวังถึงอันตรายต่างๆที่เกิดขึ้นได้เมื่อเกิดน้ำท่วม เช่น เมื่อน้ำเริ่มเข้าบ้านชั้นล่าง ควรตัดสวิทช์เบรคเกอร์ไฟฟ้าของชั้นนั้นๆ ไม่ควรเดินลุยน้ำใกล้เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือจับวัตถุโลหะที่แช่น้ำ เพื่อป้องกันการถูกไฟดูด นอกจากนี้อุบัติเหตุที่มักเกิดได้จากเหตุน้ำท่วมในครั้งก่อน คือการที่รถตกลงไปในน้ำ ผู้ขับขี่ไม่ควรขับรถบนถนนที่มีน้ำไหลเชี่ยว เพราะแม้แต่รถบรรทุกขนาดใหญ่ก็ยังสามารถที่จะถูกน้ำพัดไปได้ รวมถึงการขับรถไปบนถนนที่มีน้ำท่วมขังหากไม่คุ้นเคยอาจมองไม่เห็นขอบทางและพลัดตกลงไปในแหล่งน้ำข้างทางได้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- พิษ "เตี้ยนหมู่" เกือบทั่วไทยฝนยังหนัก ร้อยละ 80 เตือนร่องมรสุมหนักอีกระลอก
- เตรียมความพร้อม "โบราณสถาน" รับมือ "พายุเตี้ยนหมู่"
- พลาดสิทธิ "ประกันสังคม" แนะวิธียื่น "ทบทวนสิทธิ" ผู้ประกันตน ม.33 , ม.39 , ม.40
- เปิดสูตรเด็ด 3 ป.กำจัด "โรคพิษสุนัขบ้า" ตั้งเป้าปลอดโรคในอีก 4 ปี
- ฉีด วัคซีนโควิด เกิน 50 ล้านโดสแล้ว คาดสิ้นปีฉีดเข็ม 2 ได้ครอบคลุม 74%