"สิทธิบัตรทอง" พื้นที่น้ำท่วม ให้รักษาต่อเนื่อง ส่งน้ำยาล้างไตถึงบ้าน
สปสช.ห่วงผู้ป่วยสิทธิบัตรทองในพื้นที่ประสบอุทกภัย จัดระบบให้รักษาต่อเนื่อง เข้ารักษานอก รพ.ตามสิทธิได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ส่วน รพ.เรียกเก็บค่าใช้จ่ายมาที่ สปสช. พร้อมจัดส่งน้ำยาล้างไตถึงบ้านผู้ป่วยได้ตามปกติ
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า จากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดในหลายจังหวัดขณะนี้ ทั้งการเกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากนั้น ได้มีการจัดระบบเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับบริการต่อเนื่อง ในส่วนผู้ป่วยที่ล้างไตทางช่องท้องนั้น สปสช.มีระบบส่งน้ำยาล้างไตถึงบ้านและมีจำนวนเก็บสำรองได้มากเพียงพอ
จากการติดตามสถานการณ์ร่วมกับองค์การเภสัชกรรม และบริษัท ไปรษณีย์ไทย ดิสทริบิวชั่น จำกัด ยังไม่พบปัญหาผู้ป่วยขาดน้ำยาล้างไตและยังไม่มีหน่วยบริการใดแจ้งปัญหาเข้ามา ซึ่งน้ำยาล้างไตที่บ้านผู้ป่วยยังมีเพียงพอ และผู้ป่วยที่ต้องฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียม ซึ่งต้องไปฟอกที่ รพ.นั้น ทาง รพ.และ สปสช.ได้จัดระบบเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด หากที่ไหนมีปัญหาก็สามารถหา รพ.สำรองให้ได้ทันที
เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวด้วยว่า สำหรับประชาชนทั่วไปนั้น ตามหลักเกณฑ์ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติผู้ป่วยจะต้องรับบริการยังหน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนไว้ แต่ในกรณีภาวะฉุกเฉิน บอร์ด สปสช.ได้เคยมีมติร่วมกันให้ผู้ป่วยที่อยู่ในพื้นที่สามารถรับบริการรักษายังหน่วยบริการสาธารณสุขโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และหน่วยบริการที่ให้บริการสามารถทำเรื่องเบิกค่าใช้จ่ายมาที่ สปสช.ได้ตามเกณฑ์ฉุกเฉิน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยที่อยู่ในพื้นที่ โดยเฉพาะผู้ป่วยเรื้อรังที่ต้องรักษาดูแลต่อเนื่องสามารถเข้าถึงบริการได้
ซึ่ง สปสช.ในแต่ละเขตพื้นที่ได้ประสานงานกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กปท.) แต่ละ อบต.และเทศบาล ประสานเรื่องการรับส่งผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาต่อเนื่องแล้ว
เลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า นอกจากนั้น สปสช.ได้ทำหนังสือแจ้งหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่องการขอรับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขกรณีเกิดอุทกภัยในพื้นที่ต่างๆ ที่ให้บริการผู้ป่วยในช่วงน้ำท่วม ให้บริการโดยไม่คิดมูลค่า และสามารถเบิกงบประมาณจาก สปสช.ได้
โดยผู้ป่วยสิทธิบัตรทองในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมสามารถใช้บริการที่หน่วยบริการหรือสถานพยาบาลที่ไม่ใช่หน่วยบริการตามสิทธิได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งทางหน่วยบริการจะเบิกค่าใช้จ่ายจาก สปสช.ตามขั้นตอนต่อไป โดยหน่วยบริการจะบันทึกรหัสโครงการพิเศษ X38000 อุทกภัยน้ำท่วม ทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก เพื่อเบิกจ่ายกับ สปสช.ต่อไป
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
"วัคซีนแอสตร้าฯ" 1.2 แสนโดส และ ATK 2 แสนชุด จากสิงคโปร์ ถึงไทยแล้ววันนี้
เช็กหลักเกณฑ์ ชดเชยอาการไม่พึงประสงค์ "ฉีดวัคซีนโควิด" จ่ายแล้ว กว่า 230 ล.
"ไฟเซอร์" ที่สหรัฐบริจาค 1 ล.โดส ไม่ล่าช้า กำลังเตรียมเอกสารจากต้นทาง
สพฉ. แนะปชช.เสี่ยง "น้ำท่วม" เตรียมกระเป๋ายังชีพฉุกเฉิน พร้อมเร่งช่วยเหลือ
พิษ "เตี้ยนหมู่" เกือบทั่วไทยฝนยังหนัก ร้อยละ 80 เตือนร่องมรสุมหนักอีกระลอก